การทำงานทางไกลใน ‘อุตสาหกรรมการผลิต’

Remote working การทำงานทางไกลใน ‘อุตสาหกรรมการผลิต’

อัปเดตล่าสุด 4 ก.ค. 2565
  • Share :

การทำงานทางไกล (Remote Working) เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมการผลิตท่ามกลางมาตรการป้องกันโรคโควิดในช่วงที่ผ่านมา จวบจนวันนี้หลายบริษัทในญี่ปุ่นยอมรับการทำงานทางไกล ในขณะที่บางรายหันกลับมายึดการทำงานในแบบดั้งเดิม

Remote Work เพิ่มประสิทธิภาพ - สะดวกต่อการทำงาน

บริษัท Hitachi Metals เป็นหนึ่งในบริษัทที่ประกาศทำงานแบบ Remote Work ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉิน

Canon เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่เริ่มทำงานทางไกลตั้งแต่เดือนกันยายน 2020

Daiwa House มีแผนกออกแบบทำงานทางไกลอยู่แล้วแต่เดิม และประกาศแผนปรับเปลี่ยนเป็นทำงานทางไกลทั้งบริษัทในเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งทางบริษัทเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีพนักงานทำงานทางไกลอยู๋ที่ 40% ของพนักงานทั้งหมด

บริษัทส่วนหนึ่งเล็งเห็นว่า การทำงานทางไกลมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และให้การทำงานสะดวกยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นิสสัน (Nissan) ที่แผนกออกแบบได้เปลี่ยนมาทำงานทางไกล โดยใช้ CAD และระบบคลาวด์เสริมประสิทธิภาพการทำงาน และรักษาความปลอดภัยด้วย Virtual Private Networks (VPN) 

ทางด้าน Alps Electric ได้นำ Microsoft Excel เข้ามาช่วยในการกำหนดตารางเวลาให้การทำงานของพนักงานให้มองเห็นได้ และวางแผนการทำงานล่วงหน้าสองสัปดาห์ โดยแบ่งให้ผู้จัดการในแต่ละแผนกเป็นผู้รับผิดชอบการบริหาร

Teijin ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ ยา และอุปกรณ์ไอที แสดงความเห็นว่า กระบวนการเหล่านี้สามารถช่วยลดเวลาที่ต้องใช้ในการสื่อสารลง ทำให้พนักงานหนึ่งคนทำงานได้มากขึ้น ส่วน DMG MORI แสดงความเห็นว่าการทำงานทางไกลได้ทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่มีการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการสื่อสารมากขึ้น

Remote Work ในอีกด้าน ทำให้ความคิดสร้างสรรค์เกิดยาก

ใช่ว่าการทำงานทางไกลจะมีแต่ข้อดี โดย Nikon แสดงความเห็นว่า การทำงานทางไกลที่ไม่ได้พบหน้ากันทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ยาก ส่วน Teijin แสดงความเห็นว่า ทำให้การระดมความคิด และการอบรมพนักงานอายุน้อยมีประสิทธิภาพลดลง

หลายบริษัทได้หาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมแบบตัวต่อตัว หรือออกแบบสำนักงานใหม่ให้เกิดการสนทนากันง่ายขึ้น เช่น Mitsubishi Chemical ที่เปลี่ยนตำแหน่งการจัดวางโต๊ะ และการตกแต่งบริษัทใหม่ และ Nippon Shokubai ที่ให้พนักงานเลือกโต๊ะและที่นั่งทำงานได้ตามใจชอบโดยไม่จำเป็นต้องนั่งในห้องทำงาน

สำนักงานโตเกียวที่ Mitsubishi Chemical ทดลองปรับปรุงและตกแต่งใหม่ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยกันมากขึ้น

นอกจากปัญหาเหล่านี้แล้ว ยังมีปัญหาอื่น ๆ อีก เช่น ความสมดุลในการทำงาน โดย  Mitsubishi Chemical เปิดเผยว่าพนักงานในโรงงานแทบทุกตำแหน่งไม่สามารถทำงานทางไกลได้ จึงจำเป็นต้องให้เข้าโรงงานตามเดิม ในขณะที่ Hitachi เปิดเผยว่าจำเป็นต้องพิจารณาก่อนบังคับใช้ว่าเหมาะสมกับพนักงานที่ต้องการทำงานในออฟฟิศหรือไม่ ส่วนทางด้าน Yanmar แสดงความเห็นว่า บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มทางเลือกให้กับพนักงานที่ไม่สะดวกทำงานทางไกลหรือต้องการเข้าออฟฟิศอยู่

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่มองเห็นถึงข้อเสียของการทำงานทางไกลในช่วงการระบาดของโควิด และอยู่ระหว่างการประเมินการทำงานใหม่เช่นเดียวกัน
Honda หันกลับมาทำงานรูปแบบเดิมหลังเปลี่ยนมาทำงานทางไกลตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 แต่ยังอนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ เช่น พนักงานที่ต้องดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ เนื่องจากเล็งเห็นว่าสถานที่จริง เหตุการณ์จริง และสิ่งของที่มีอยู่จริงตรงหน้า เป็นสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นพนักงานให้เกิดพัฒนาการได้ดีกว่า

DMG MORI เป็นบริษัทหนึ่งที่อนุญาตให้ทำงานจากบ้านได้ตั้งแต่ปี 2015 และอนุญาตให้ทำงานทางไกลได้มากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพนังงานกลับมาทำงานออฟฟิศแทบทุกตำแหน่งแล้ว โดยนำการทำงานทางไกลและการทำงานจากบ้านมาปรับใช้ตามความเหมาะสมเพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

Teijin แสดงความเห็นว่า การทำงานทางไกลเป็นที่แพร่หลายในช่วงการระบาดของโควิด แต่ในยุค After Covid อาจจำเป็นต้องพิจารณากันใหม่ ในขณะที่ Mitsubishi Heavy Industries แสดงความเห็นว่าการทำงานในยุคหลังโควิดจะต้องคำนึงถึงลักษณะของบริษัทด้วย ส่วน Toyota อยู่ระหว่างการพิจารณาให้พนักงานมีตัวเลือกทั้งทำงานจากบ้านและเข้าออฟฟิศโดยที่ไม่ทำให้ขีดความสามารถในการผลิต และความสะดวกในการทำงานลดลง

ยุคหลังโควิด หลายบริษัทในญี่ปุ่นเร่งปรับแนวทางให้พนักงาน “ทำงานทางไกล” 

  • Toyota ผลักดันการทำงานทางไกล ซึ่งในข้อมูลล่าสุดในเดือนเมษายน 2022 พนักงานในตำแหน่งงานออฟฟิศและงานด้านเทคโนโลยีเข้ามาทำงานที่สำนักงานใหญ่เพียง 50-60% เท่านั้น
  • Nissan อาศัยช่วงเวลาการระบาดในการปรับเปลี่ยนชั่วโมงการทำงานทางไกลให้มากขึ้น โดยในปี 2021 มีพนักงานทำงานทางไกลมากถึง 40% 
  • Honda ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานครั้งใหญ่หลังช่วงวันหยุดยาวในเดือนพฤษภาคม 2022 โดยเน้นให้เข้าออฟฟิศเป็นหลัก แต่หากงานใดสามารถทำงานทางไกลให้ลุล่วงได้ก็อนุญาต
  • Hitachi อนุญาตให้ทำงานทางไกลได้โดยไม่กำหนดชั่วโมงและจำนวนครั้งการทำงาน แต่จำเป็นต้องยื่นเรื่องให้ผู้รับผิดชอบล่วงหน้า และซึงครอบคลุมกับพนักงาน 95% ในสำนักงานใหญ่ และพนักงาน 70% ของสาขาทั้งหมดในญี่ปุ่น
  • Canon อยู่ระหว่างเดินหน้าปรับโครงสร้างให้พนักงานทำงานทางไกลทุกแผนกยกเว้นพนักงานในสายการผลิต
  • Nikon อนุญาตให้ทำงานทางไกล 3 วันต่อสัปดาห์ (ก่อนโควิดอนุญาต 2 วัน) โดยมีพนักงานหันมาทำงานทางไกล 30-40%
  • Alps Electric อนุญาตให้ทำงานทางไกล ลดจำนวนพนักงานที่เข้าออฟฟิศให้เหลือต่ำกว่า 60% 
  • Mitsubishi Heavy Industries ตั้งแต่ปี 2019 ทางบริษัทให้พนักงานทำงานทางไกลได้หากได้รับอนุญาตล่วงหน้า และอยู่ระหว่างผลักดันให้ทำงานทางไกลทั้งบริษัท
  • Komatsu ลดอัตราการเข้าสำนักงานเหลือ 30%
  • Yanmar เพิ่มจำนวนวันที่ทำงานทางไกลได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 ลดการเข้างานของออฟฟิศโตเกียว และออฟฟิศโอซาก้าเหลือ 50%
  • DMG MORI ปัจจุบันกลับมาทำงานในสำนักงานแล้วแทบทุกตำแหน่ง แต่อนุญาตให้ทำงานทางไกลและทำงานจากบ้านได้ตามความเหมาะสม 
  • Sintokogio อนุญาตให้พนักงานที่ต้องเดินทางโดยขนส่งมวลชนเลือกทำงานจากบ้านหรือเข้าสำนักงานที่ใกล้ที่สุดแทนได้ ส่วนพนักงานฝ่ายบริหารที่ต้องทำงานในออฟฟิศ บริษัทได้มีการสนับสนุนค่าเดินทางให้
  • Sugino Machine ลดจำนวนพนักงานที่ต้องเข้าสำนักงานโตเกียวจาก 50 คน เหลือ 15 คน ที่เหลือให้ทำงานจากบ้าน อยู่ระหว่างพัฒนาระบบให้การทำงานทางไกลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • Mitsubishi Chemical ยกเลิกการบังคับเข้าออฟฟิศอาทิตย์ละครั้งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 ข้อมูลล่าสุดเดือนเมษายนพบว่ามีพนักงานเข้าทำงานที่สำนักงานใหญ่เฉลี่ยแล้วต่ำกว่า 30%
  • Hitachi Metals ปัจจุบันพนักงานที่เข้าออฟฟิศเหลือต่ำกว่า 40% ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบตรวจสอบเอกสารให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • Teijin  ช่วงการระบาดของโควิดได้ประกาศยกเลิกจำนวนชั่วโมงทำงานทางไกลที่แต่เดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 70 ชั่วโมงต่อเดือน และอนุญาตให้พนักงานแทบทุกแผนกยกเว้นพนักงานที่ต้องเข้ากะทำงานทางไกลได้
  • Nippon Shokubai เปลี่ยนมาทำงานทางไกลอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันการระบาด แต่เล็งเห็นว่าการทำงานทางไกลจะกลายเป็น New Normal จึงนำมาปรับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021 โดยอนุญาตให้ทำงานทางไกลสูงสุดเดือนละ 10 วัน ลดจำนวนพนักงานที่เข้าออฟฟิศลงเหลือ 30%
  • Daiwa House อยู่ระหว่างการผลักดันให้มีพนักงานทำงานทางไกลเป็นสัดส่วน 50% ของพนักงานทั้งหมด

บริษัทญี่ปุ่นมีการทำงานทางไกลมากแค่ไหน

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 กระทรวงการปกครองและการสื่อสารภายในประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยรายงานอ้างอิงผลสำรวจบริษัทที่มีพนักงานมากกว่าหนึ่งร้อยคนจำนวน 2,396 บริษัท เมื่อเดือนสิงหาคม 2021 พบว่า มีบริษัทญี่ปุ่นที่หันมาทำงานทางไกลรวม 51.9% ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเลือกทำงานทางไกลมากที่สุดถึง 97.7% ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตทำงานทางไกล 60.1% 

แต่ในอีกด้าน Teitoku Databank เปิดเผยข้อมูลที่รวบรวมจาก 1,837 บริษัทเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ระบุว่า มีบริษัทที่ทำงานทางไกลเพียง 31.5% และในจำนวนนี้มีมากถึง 52.1% ที่ระบุว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดี เนื่องจากการทำงานทางไกลยังคงเป็นอุปสรรคอยู่ แม้ว่า Remote Work จะแพร่หลายมากขึ้นก็ตาม

สถาบันวิจัย Persol สะท้อนมุมมองต่อการทำงานทางไกล

นาย Yuji Kobayashi นักวิจัยอาวุโส Persol Research Institute แสดงความเห็นว่า นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2022 หลายบริษัทในญี่ปุ่นก็กลับมาทำงานตามปกติแทนการทำงานทางไกล ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา แนวโน้มเช่นนี้ก็เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง จึงเป็นไปได้ว่าในอนาคต การทำงานทางไกลก็จะได้รับความนิยมน้อยลงจากกลุ่มผู้บริหาร

นาย Yuji Kobayashi นักวิจัยอาวุโส Persol Research Institute

แต่ในทางกลับกัน ในทุก ๆ ปี พนักงานมีความต้องการทำงานทางไกลมากขึ้น ทำให้การทำงานทางไกลเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาเพื่อรักษาและดึงดูดให้บุคลากรที่มีทักษะเข้ามาทำงาน ซึ่งสำหรับบริษัทแบบ Bottom Up แล้ว ฝ่ายบริหารย่อมไม่สามารถตัดสินใจได้ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิต และหากตัดสินใจนำการทำงานทางไกลมาใช้แล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ คิดหาวิธีทำงานที่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด


ดังนั้น ก้าวแรกของ Remote Working คือ การให้พนักงานเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนนั่งอยู่ในออฟฟิศ เช่น การแบ่งปันข้อมูล การสนทนา การใช้ Virtual Office และอื่น ๆ

 

 #บริษัทญี่ปุ่น #ทำงานทางไกล #remotework #remoteworking #WFH #Mreport #onlinecontent #ข่าวอุตสาหกรรม

ที่มา:  Nikkan Kogyo Shimbun

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH