7 แนวทางลดความเสี่ยงของซัพพลายเชน

7 แนวทางลดความเสี่ยงของ Supply Chain

อัปเดตล่าสุด 30 ธ.ค. 2566
  • Share :
  • 10,785 Reads   

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ปัจจัยต่าง ๆ ทั่วโลกทำให้ความเปราะบางของซัพพลายเชนในสายการผลิตถูกสังเกตุเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ที่เลวร้ายอาจนำไปสู่การขาดแคลนสินค้าต่าง ๆ ที่จำเป็นได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตเองก็สามารถบริหารจัดการซัพพลายเชนเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้เช่นกัน

Better MRO เครือข่ายความร่วมมือด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมจากสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำบทความ 7 แนวทางแก้ปัญหาความยุ่งยากของซัพพลายเชนเพื่อให้ไม่สินค้าหมดสต๊อก โดยมีรายละเอียดดังนี้

Advertisement

1. เริ่มจากการพิจารณาตัวเอง

การวิเคราะห์ปัญหาซัพพลายเชนต้องเริ่มที่ตัวเองว่าบริษัทมีการคาดการณ์แม่นยำมากน้อยเพียงใด การบริหารจัดการซัพพลายเออร์ทำได้ดีพอหรือไม่ มีข้อผิดพลาดในการนับสต๊อกสินค้าหรือไม่ และอื่น ๆ ซึ่งข้อผิดพลาดเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และสามารถแก้ไขได้ด้วยการนำระบบ ERP หรือระบบบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กรมาใช้งาน ซึ่งระบบ ERP ช่วยให้การบริหารจัดการคลังสินค้าและการคาดการณ์มีความแม่นยำ ช่วยให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการตัดสินใจอย่างทันท่วงที

2. เลือกระบบ MRP ที่มีประสิทธิภาพ

ถัดจากระบบ ERP คือการวางแผนความต้องการวัสดุ หรือระบบ MRP ซึ่งต้องมีความทันสมัย อัพเดตให้รองรับกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้งานในปัจจุบัน เพื่อให้ข้อมูลที่ได้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

จากนั้นตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ เช่น Bill of Materials (BOM) เวลาในการผลิตถูกต้องหรือไม่ และพนักงานเข้าและออกจากงานอย่างเคร่งครัดหรือไม่ เนื่องจากหากข้อมูลที่นำเข้าสู่ระบบไม่ถูกต้อง แม้จะเลือกใช้ซอฟต์แวร์ทีดีก็จะนำไปสู่ความผิดพลาดได้ และต้องมีการดูแลอย่างสม่ำเสมอหากต้องการแก้ปัญหาด้านซัพพลายเชนให้ได้ผลและคุ้มค่า

3. ให้ผู้จัดจำหน่ายเป็นผู้บริหารสินค้าคงคลังแทนตามแนวคิด VMI

หากการนับสต๊อกสินค้าตามรอบยุ่งยากเกินไป การเปลี่ยนมาใช้แนวคิด Vendor Managed Inventory (VMI) ให้ผู้จัดจำหน่ายเป็นผู้บริหารสินค้าคงคลังแทนก็เป็นอีกทางเลือกที่สามารถช่วยลดความยุ่งยากได้ 

แนวคิด VMI ซึ่งผู้จัดจำหน่ายทำหน้าที่บริหารสินค้าคงคลังผ่านโซลูชันต่าง ๆ สามารถช่วยลดภาระในการบริหารจัดการคลังสินค้า ช่วยลดต้นทุนการจัดซื้อ และทำให้พนักงานมีเวลาในการทำงานอื่น ๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้จะสำเร็จได้นั้นย่อมต้องการความร่วมมือระหว่างผู้จัดจำหน่ายสินค้าและซัพพลายเออร์ ต้องการรายงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งอาจรวมไปถึงการอบรม และแอปพลิเคชันมือถือเพื่อให้การทำงานร่วมกันสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ขายควรเปิดรับข้อตกลงระยะยาว (LTA) ที่ช่วยแก้ปัญหาสินค้าหมดสต๊อกและลดต้นทุนด้วย

4. ใช้ตู้เครื่องมือ 

การให้ผู้จัดจำหน่ายเป็นผู้บริหารสินค้าคงคลังแทนตามแนวคิด VMI ครอบคลุมสินค้าได้อย่างหลากหลาย แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตก็สามารถเลือกใช้ตู้เบิกจ่ายเครื่องมือ (Tools Vending Machine) เพื่อควบคุมการเข้าถึงทูลส์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถตรวจสอบการใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ช่วยให้พนักงานสามารถเบิกเครื่องมือที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้มีเวลาในการทำงานมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดการกักตุนหรือการนำเครื่องมือไปใช้โดยไม่แจ้งให้ทราบอีกด้วย

นอกจากนี้ ตู้เครื่องมือยังมีฟังก์ชันเพิ่มผลผลิตอื่น ๆ เช่น การตั้งค่าเครื่องมือล่วงหน้า, การบาลานซ์ทูลส์, การติดแท็ก RFID ให้กับทูลส์, และอื่น ๆ ไปจนถึงการเชื่อมต่อเข้ากับระบบ ERP อีกด้วย

5. ปฏิเสธให้เป็น

แน่นอนว่าไม่มีใครอยากปฏิเสธลูกค้า อย่างไรก็ตาม หากลูกค้าออร์เดอร์งานล็อตใหญ่เขิามา แต่สุดท้ายต้องเสียออร์เดอร์เพียงเพราะวัตถุดิบ เครื่องมือ และวัสดุสิ้นเปลืองที่จำเป็นในสต๊อกกลับถูกเตรียมไว้สำหรับงานอื่นแล้ว 

ซึ่งจุดนี้เอง ที่ MRP สามารถเข้ามามีส่วนช่วยได้ เพื่อให้ตัวแทนฝ่ายขายหรือฝ่ายบริการลูกค้าสามารถมองเห็นและประเมินสต๊อกสินค้าได้ก่อนตกลงรับออเดอร์ เพื่อให้สามารถตัดสินใจปฏิเสธ เลื่อนออเดอร์ หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มได้ตามความจำเป็น  

6. ระบบการผลิตแบบลีน

ระบบการผลิตแบบลีน (Lean manufacturing) หรือการผลิตที่เน้นไปที่การกำจัดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิตนั้น แม้ไม่สามารถป้องกันสินค้าหมดสต๊อกได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม การผลิตแบบลีนสามารถลดของเสีย และช่วยให้โรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น การนำหลักการ 5S (sort, straighten, shine, standardize and sustain) หรือ 5ส มาใช้งาน ซึ่งช่วยในการจัดระเบียบ ส่งเสริมมาตรการเลี่ยงสต๊อกสินค้าอื่น ๆ ไม่ผลิตสินค้ามากเกินไป ช่วยให้กำจัดสินค้าบกพร่อง เพื่อให้การผลิตเป็นไปตามกำหนดการ

7. ร่วมมือกับทีมงาน

ทุกข้อที่ผ่านมานี้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสำหรับหลายคนแล้ว การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก ความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลง อธิบายให้พนักงานทราบว่าทำไมการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงจำเป็นเพื่อลดความกังวล ไปจนถึงการรับฟังคำแนะนำ และให้ทีมงานมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งแนวคิดนี้ไม่จำกัดแค่การแก้ปัญหาซัพพลายเชนเท่านั้น แต่ยังนำไปใช้กับการแก้ปัญหาอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ซัพพลายเออร์เองก็เช่นกัน การพัฒนาความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับซัพพลายเออร์เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องมั่นใจได้ว่าซัพพลายเออร์ที่เลือกใช้มีประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการเหมาะสม และมีมาตรการรองรับสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ชัดเจน เช่น การรับมือเมื่ออุปกรณ์เสียหาย พนักงานมีปัญหา การขนส่งล่าช้า และอื่น ๆ

 

สรุปบทความ

การบริหารจัดการซัพพลายเชนที่ดีจะลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้ โดยอาศัยแนวคิดและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นตัวช่วย ไม่ว่าจะเป็นระบบ ERP และ MRP ที่มาช่วยบริหารจัดการคลังสินค้า ทำให้ตัดสินใจได้แม่นยำ, แนวคิด VMI ที่โอนภาระการบริหารสต๊อกไปให้ซัพพลายเออร์, การใช้ Tools Vending Machine, ระบบการผลิต Lean Manufacuring ที่ยกระดับประสิทธิภาพของโรงงาน รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของพนักงานและซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้อง

 

#ซัพพลายเชน #supplychain #manufacturing #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH