WEF แนะ 5 ข้อ ฟื้น ‘อุตสาหกรรมการผลิต’ ให้เร็ว หลังโควิด

อัปเดตล่าสุด 15 พ.ค. 2563
  • Share :
  • 975 Reads   

World Economic Forum (WEF) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลก ร่วมกับ Kearney สถาบันที่ปรึกษาทางการเงิน และการบริหารจัดการสัญชาติอเมริกันที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง จัดทำสมุดปกขาวรวบรวมความเห็นจากผู้บริหารระดับ C-Level ในหลายเซกเตอร์อุตสาหกรรมรวมแล้วกว่า 400 ราย ได้สะท้อนความจำเป็นที่ภาคธุรกิจต้องรักษาโครงสร้างการผลิตไว้ เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าในตลาด รวมถึงสามารถซัพพลายสินค้าจำเป็นให้กับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ได้ ซึ่งจะทำให้วงจรเศรษฐกิจดำเนินต่อไปและเกื้อหนุนความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมได้ พร้อมคำแนะนำในการฟื้นฟูกิจการจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิต และซัพพลายเชน 

 

l เพราะอุตสาหกรรมการผลิต คือ หัวใจของเศรษฐกิจและสังคม

แน่นอนว่า ความต้องการจากผู้บริโภคในปัจจุบันลดลงเป็นอย่างมาก และมีความเป็นไปได้ที่กำลังซื้อจะลดลงในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจจำเป็นต้องรักษาโครงสร้างการผลิตของตนไว้ เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าในตลาด โดย WEF แสดงความเห็นว่า เป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรมการผลิตต้องซัพพลายสินค้าจำเป็นให้กับผู้ผลิตรายอื่น ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ ซึ่งแนวทางที่ง่ายที่สุด คือการคงกำลังผลิตของตนไว้ ด้วยการใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 ในสายการผลิต และซัพพลายเชน ประสานงานกับลูกค้าและบริษัทอื่นในการผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการ เพื่อให้การผลิตสามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัท รวมถึงการทำความเข้าใจกับลูกจ้างถึงความจำเป็นในกรณีที่ต้องเลื่อนการชำระ หรือลดค่าจ้างลง ซึ่งจากแบบสอบถามพบว่า 51% ของธุรกิจทั้งหมดให้ลูกจ้างทำงานต่อโดยมีมาตรการป้องกัน, 46% ให้ทำงานเป็นผลัด/กะ, ในขณะที่ 40% เปลี่ยนมาทำงานแบบ Work From Home 

คำแนะนำถัดมา คือ การปิดสายการผลิต หรือ สำนักงานที่ไม่จำเป็นต่อธุรกิจเป็นการชั่วคราว โดย 37% ของผู้ตอบแบบสอบถาม แสดงความเห็นว่า การปิดสายการผลิตที่ไม่จำเป็นนั้นเป็นการลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าไฟได้เป็นอย่างดี ในขณะที่พนักงานจากสายการผลิตที่ถูกปิดสามารถรับผิดชอบหน้าที่ในส่วนอื่นได้ ซึ่งแนวทางที่ได้รับความนิยมที่สุด คือการให้พนักงานทำหน้าที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย โดยมีสัดส่วนถึง 38% ของอุตสาหกรรมการผลิตที่เลือกแนวทางนี้ 

 

l ทำอย่างไรจึงจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

ในท้ายสุด สถานการณ์โควิด-19 จะต้องจบลง ซึ่งจากผู้บริหารระดับ C-Level กว่า 400 ราย ได้ร่วมแสดงความเห็นในการปรับตัวหลังวิกฤตเป็นแนวทาง 5 ข้อเพื่อให้สามารถฟื้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ดังนี้

1. การวางโครงสร้างซัพพลายเชนที่ยืดหยุ่น

สิ่งที่ธุรกิจรายใหญ่เห็นตรงกันว่าสำคัญที่สุด คือ การมีซัพพลายเชนที่ยืดหยุ่น เพื่อให้การผลิตสามารถดำเนินต่อได้ โดยไม่ขัดข้องในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคต แตกต่างจากซัพพลายเชนที่ผ่านมา ซึ่งให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนเป็นหลัก การบริหารความเสี่ยงจะเป็นแนวทางที่จำเป็นกว่าการแข่งขันด้านราคา ด้วยการลดจำนวนออเดอร์จากซัพพลายเออร์เดิม และกระจายออเดอร์ไปยังซัพพลายเออร์รายใหม่ เพิ่มแหล่งจัดหาให้มากขึ้น และให้ความสำคัญกับการจัดซื้อภายในท้องถิ่นมากกว่าเดิม ซึ่ง Mr. Mourad Tamoud รองประธานบริษัท Schneider Electric แสดงความเห็นไว้ดังนี้

“หนึ่งบทเรียนที่เราได้จากวิกฤตนี้ คือความสำคัญของการพัฒนาการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ Business Continuity Planning (BCP) และซัพพลายเชนในภูมิภาคที่ตอบสนองได้รวดเร็ว ตรงตามความต้องการ ”

2. ลงทุนเทคโนโลยีการผลิต

คาดการณ์ว่างบประมาณในการลงทุนเทคโนโลยีการผลิตหลังจากนี้จะเพิ่มขึ้นมากถึง 2 เท่า โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่อย่างบล็อกเชน (Blockchain), IoT, Additive Manufacturing (AM), และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ซึ่งจากแบบสอบถามพบว่า บริษัทส่วนใหญ่เห็นว่า เทคโนโลยีเหล่านี้มีประโยชน์ในช่วงวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตาม (Tracking) ซัพพลายเชน และฐานข้อมูลของบริษัท ที่ช่วยให้การตัดสินใจเป็นไปได้ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้น ในขณะที่ AI ช่วยให้กระบวนการผลิตรวดเร็วกว่าเดิม ส่วน Additive Manufacturing ถูกใช้ในการผลิตชิ้นงานที่ซัพพลายเออร์ไม่สามารถจัดส่งได้ รวมถึงชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ ซึ่งผู้บริหารบริษัท 3D Printer รายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ได้รับออเดอร์ชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาถึงวันละ 100,000 ชิ้นต่อเนื่องกันเป็นเวลา 10 วัน อย่างไรก็ตาม Mr. Christoph Schell CCO บริษัท HP แสดงความเห็นต่อเทคโนโลยี Additive Manufacturing ไว้ดังนี้

“ในช่วงเวลานี้ 3D Printer ได้พิสูจน์ถึงศักยภาพในการลดช่องว่างของซัพพลายเชน และความยืดหยุ่นในการผลิตเป็นอย่างมาก ด้วยการลดกระบวนการพัฒนาชิ้นงานให้น้อยลง ซึ่งเมื่อนำมารวมกับการทำงานบนระบบดิจิทัลแล้ว ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตมีบทบาทในการรับมือโควิด-19 เป็นอย่างมาก”

สำหรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัตินั้น เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การผลิตสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด โดย Mr. Gunter Beitinger รองประธานบริษัท Siemens แสดงความเห็นว่า การนำหุ่นยนต์มาทำงานแทนมนุษย์ช่วยเพิ่มกำลังผลิต ลดข้อผิดพลาด และสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

“หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติคือความได้เปรียบ ซึ่งกว่า 80%ในโรงงานของเราล้วนเป็นระบบอัตโนมัติ เมื่อเจอวิกฤตโควิด-19 ทำให้กำลังผลิตของเราลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

Photo: Siemens

3. ปรับตัวให้ทัน

นอกจากการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชน และการลงทุนแล้ว การเปลี่ยนแปลงโมเดลการทำงานที่มีอยู่แต่เดิม ก็เป็นสิ่งสำคัญที่มีส่วนช่วยให้หลายบริษัทสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ได้ โดยการปรับตัวนี้ แบ่งเป็น 4 ส่วนใหญ่ คือ พนักงาน, กระบวนการ, องค์กร, และเทคโนโลยี กล่าวคือ

  • ฝึกฝนพนักงาน ให้มีความพร้อมในการปรับตัว ด้วยการอบรมทักษะให้รอบด้านขึ้น
  • ปรับกระบวนการทำงาน โดยแนวทางที่ได้รับความนิยม คือ การฝึกฝนให้พนักงานทำงานแบบ Agile เน้นทำงานเป็นรอบสั้น ๆ สลับกับการประเมินผล แทนการกำหนดเป้าหมายแล้วทำในครั้งเดียว
  • องค์กรที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง มีแนวโน้มว่า หลังจากพ้นโควิด-19 ไปแล้ว การปรับเปลี่ยนองค์กรให้รองรับต่อการบริหารจัดการความเสี่ยง และการ Work From Home จะเป็นสองแนวทางที่จำเป็นเพื่อให้องค์กรมีความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง
  • ใช้เทคโนโลยี เป็นสิ่งที่จะเข้ามาช่วยรองรับความเปลี่ยนแปลงใน 3 ข้อข้างต้น การฝึกฝนพนักงานให้ทำงานผ่านระบบดิจิทัล หรือฝึกใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ จะช่วยให้องค์กรมีความพร้อมมากชึ้น

4. โอกาสจากความร่วมมือ

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั่วโลกในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน การร่วมมือระหว่างธุรกิจ หรือกระทั่งความร่วมมือข้ามชาติจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคตหลังจากนี้ โดยปัจจุบัน มีกรณีที่เห็นชัดคือ ความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนมาตรการควบคุมโรคและการรักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือเหล่านี้ไม่ใช่เพียงเรื่องระยะสั้นเท่านั้น แต่เป็นโอกาสทางธุรกิจอันดีในอนาคต การสนับสนุนซัพพลายเออร์จะนำมาซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กร ความร่วมมือข้ามภาคอุตสาหกรรมจะช่วยเปิดโอกาสการเรียนรู้ และสร้างคอนเนคชั่นให้กว้างขวางขึ้น และท้ายสุดคือ การซื้อ หรือ ควบรวมกิจการ ยกตัวอย่างเช่น การควบรวมกิจการของธุรกิจการท่องเที่ยว และโลจิสติกส์เข้าด้วยกัน 

5. ประเมินสินค้า และบริการที่มีอยู่เดิม

ปัจจุบัน ความต้องการของผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง และสินค้าแต่ละชนิด ก็มีข้อกำหนดเพิ่มมากขึ้นไปตามแต่แนวโน้มทางเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับตลาด เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและงบประมาณมหาศาล หนึ่งในแนวทางที่มีความเป็นไปได้ คือการพัฒนาสินค้าหนึ่งชนิด ให้สามารถนำไปขายได้มากกว่าหนึ่ง เช่น ยาสระผมสูตรเดียวกัน แต่ผลิตออกขายหลายกลิ่น หรือสินค้าชนิดเดียวกันในหลายขนาด ซึ่งนอกจากจะเพิ่มโอกาสแล้ว ยังทำให้การควบคุมซัพพลายเชนทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

 

อ่านเพิ่มเติม: