ประธาน SUBARU กล่าว “เรายังดีไม่พอ”

อัปเดตล่าสุด 11 ก.ค. 2561
  • Share :

แผนธุรกิจระยะกลางของบริษัท SUBARU ซึ่งเปิดเผยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ระบุให้ความสำคัญในการยกระดับแบรนด์ของตน เพื่อให้ SUBARU ซึ่งมียอดขายยานยนต์ทั่วโลกอยู่ที่ 1 ล้านคัน มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นในด้านอื่นนอกจากสมรรถนะของตัวรถ อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะการชะลอตัวของตลาดในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นรายได้หลักของทางบริษัท ทำให้คาดการณ์ได้ว่าความยากลำบากในการแข่งขันจะสูงมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากการสูญเสียความน่าเชื่อถือในกรณีการตรวจสอบคุณภาพอีกด้วย จึงกล่าวได้ว่า แผนธุรกิจระยะกลางของ SUBARU นี้ คือการดำเนินการให้บริษัทยังคงเอาตัวรอดได้ต่อไปนั่นเอง

ประธาน Tomomi Nakamura ผู้รับไม้ต่อจากอดีตประธาน Yasuyuki Yoshinaga เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมากล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่ายอดขายของเรามีปัญหาอย่างชัดเจน ซึ่งแปลว่าเรายังไม่ดีพอ” ซึ่งแม้ว่าจะกล่าวแบบติดตลกด้วยรอยยิ้มเมื่อวันที่ 10 แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นคำพูดที่ทำให้เกิดความเป็นกังวลขึ้นมาได้


ที่ผ่านมา SUBARU มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยยอดขายในประเทศสหรัฐฯ และมียอดขายทั่วโลกแตะ 1 ล้านคันเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2017 อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก แต่จากรายงานแผนธุรกิจระยะกลางได้เผยปัญหาจากการตรวจสอบสภาพรถให้เห็นเป็นความผิดพลาดครั้งที่ 4 ซึ่งอดีตประธาน Yoshinaga ก็ไม่มีท่าทีที่ดีนักต่อสถานการณ์นี้

โดย SUBARU ได้ยกแบรนด์อย่าง BMW ไว้เป็น Benchmark ของตน อย่างไรก็ตาม อดีตประธาน Yoshinaka กล่าวว่า “ทางรอดเดียวของ SUBARU คือ การยกระดับแบรนด์ตัวเองขึ้นไปอีกครั้ง เพื่อลดภาระจากต้นทุนด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้าได้เห็น”

ซึ่งแนวทางในอนาคตของบริษัทที่ได้เปิดเผยในวันเดียวกันนั้น ระบุว่าทาง SUBARU ได้ยกแนวคิด “ตัวตนที่แตกต่าง” ขึ้นไว้เป็นหนึ่งในเสาหลัก โดยมุ่งพัฒนาบริษัทตนให้เป็นมากกว่าผู้ค้ายานยนต์ ไปเป็น “บริษัทที่มีคุณค่าแก่การร่วมงาน” ตามแนวคิดของประธาน Nakamura ซึ่งได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบัน แนวทางนี้ประสบความสำเร็จแล้วในสหรัฐฯ แต่เราต้องขยายส่วนนี้ออกไปอีก นอกจากนี้ เรายังมีนโยบายยกระดับการแข่งขันในตลาดด้วยการเปลี่ยนโฉมรถรุ่นหลักของเราแบบฟูลโมเดลทุกปีอีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของ SUBARU คือ “ภาพลักษณ์” ของแบรนด์ ซึ่งอดีตประธาน Yoshinaka กล่าวว่าทางออกก็คือการเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นบริษัทที่ถูกที่ควร หรือไม่ก็แสดงออกให้ลูกค้าเห็นด้วยแนวทางระยะกลางนี้

โดยการปฏิรูปองค์กรในครั้งนี้ ทางบริษัทจะส่งเสริมการ “ยกระดับแนวคิดพนักงานทั้งหมด” และจัดตั้งระบบองค์กรให้พร้อมสนับสนุนแนวความคิดนี้ โดยประธาน Nakamura ตั้งใจจะทุ่มเทให้กับ “ปัญหาสำคัญที่สุด” พร้อมเตรียมเงินลงทุนยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ไว้ที่ 1.5 แสนล้านเยนสำหรับช่วงเวลา 5 ปีนับจากนี้ โดยจะเน้นไปที่การพัฒนาโรงงาน, การตรวจสอบคุณภาพ, และบริการเป็นหลัก

นอกจากนี้แล้ว ทางบริษัทยังมีแนวทางการประสานความร่วมมือกับธุรกิจอื่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านอินเตอร์เน็ตอีกด้วย และเล็งพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติ มุ่งลดจำนวนอุบัติเหตุทางท้องถนนให้มีผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์ เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์เป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม SUBARU คาดการณ์ว่าสถานการณ์ในตลาดสหรัฐฯ ของตนตั้งแต่ปี 2017 จะเริ่มย่ำแย่ลง และมองไม่เห็นการเติบโตครั้งใหญ่ ทางบริษัทจึงได้เน้นไปที่การพัฒนาจุดแข็ง ซึ่งก็คือรถ SUV ให้ได้รับความนิยมในฐานะรถประหยัดน้ำมัน ซึ่งหากนโยบายด้านภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ผ่านการเห็นชอบ ทาง SUBARU ซึ่งมีการส่งออกจากญี่ปุ่นจำนวนมากนั้นก็จะได้อานิสงส์ไปด้วย

นอกจากนี้ SUBARU ต้องการผลักดันยอดขายในประเทศสหรัฐฯ ให้สูงขึ้น โดยตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดไว้ที่ 5% หรือเท่ากับ 850,000 คัน จึงตัดสินใจเสริมเครือข่ายการขายในเขต “Sun Belt” พื้นที่ตอนใต้ของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเขตที่บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดอยู่น้อยอีกด้วย