เจาะลึก Aerospace ประเทศไทย

อัปเดตล่าสุด 2 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 2,244 Reads   

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน (Aviation and Aerospace) เติบโตขึ้นอย่างมาก เพื่อเพิ่มความต้องการในการเดินทางทั่วโลก ในทุกๆ 15 ปีตัวเลขผู้โดยสารของสายการบินต่างๆจะเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า และคาดว่าอัตราเฉลี่ยรายปีจะเติบโตที่ 3.8% ส่งผลให้ในอีก20 ปีข้างหน้าจำนวนผู้โดยสารทางอากาศยานจะมีมากขึ้นถึง 7 พันล้านคน

ตัวเลขประเมินการเติบโตทางธุรกิจอากาศยานพบว่า ในปี 2034 กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5.8% โดยภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตเฉลี่ยมากถึง 4.9% ดังนั้น เราจึงเห็นความเคลื่อนไหวในการลงทุนจากสายการบินต่าง ๆ  รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มองหาโอกาสเพื่อที่จะขยายฐานที่ตั้งมายังภูมิภาคนี้

ส่วนในประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปราโมทย์ อนันต์วราพงษ์ ได้ให้ความเห็น  เรื่องของ aerospace ในประเทศไทย ว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวยังอยู่ในด้านอากาศยานในงานการบินเป็นหลัก ส่วนด้านอากาศยานในงานอวกาศยังอยู่ในระดับงานวิจัยที่ยังมีน้อยอยู่ จึงอยากจะแชร์ในมุมของด้านงานการบิน ดังนี้

มุมมองเรื่อง Aerospace ในประเทศไทย

ถ้าพูดถึงกิจการในด้านการบินการพลเรือนของประเทศไทยทุกวันนี้ พบว่ามีการเติบโตในแง่ของภาคเอกชนโดยเฉพาะเรื่องของการเติบโตเรื่องสายการบินสูงมากในประเทศไทยเรา

จุดอ่อนของธุรกิจ Aerospace ในเมืองไทย

จริง ๆ แล้วปัญหาต้องมองย้อนกลับไปในด้านของการเจริญเติบโต ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะเป็นด้านการเติบโตของภาครัฐบาลในเรื่องของกฎระเบียบต่างๆ เรียกได้ว่า เรายังรองรับบุคลากรได้ไม่ สังเกตได้จากเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่ประเทศไทยเราถูกปักธงแดง นั่นเป็นตัวที่ทำแสดงให้เห็นว่าภาครัฐตามประเทศอื่นได้ไม่ทันท่วงที ทำให้ไทยยังไม่สามารถรองรับมาตรฐานการบินของทั้งในประเทศและสากลได้

ภาครัฐจะสามารถช่วยและแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง

อยากให้รัฐบาลช่วยส่งเสริมในเรื่องของการออกกฎระเบียบให้กับผู้ประกอบการได้ทำงานง่ายขึ้น อีกส่วนหนึ่งที่ผมมองก็คือเรื่องของเศรษฐกิจ  ด้วยนานาชาติเขามองว่าประเทศไทยเป็นภูมิภาคที่มีความเหมาะสมที่สุด และเรามีพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นฮับ (HUB) ทางการบิน สิ่งที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งก็คือประเทศไทยเราสามารถเติบโตในด้านสายการบินเป็นหลัก

ส่วนเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คืออยากให้รัฐบาลส่งเสริมเรื่อง การเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ส่งเสริมให้เกิดศูนย์ซ่อมบำรุงหรือที่เรียกว่า MRO รวมไปถึงการส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศไทยให้มากขึ้น ถ้ารัฐบาลสามารถทำได้ ทั้งเรื่องส่งเสริมกฎระเบียบ ศูนย์ซ่อมที่เป็นมาตรฐานในประเทศไทยและในเรื่องของการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศไทยก็จะทำให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งก้าวเข้าสู่การที่เป็นฮับของการบินได้

จุดแข็งของ Aerospace ที่ควรเสริมให้แข็งแรง

ถ้าเราจะเป็นฮับของการบิน ตอนนี้เรามีความพร้อมเรื่องภูมิภาคและกายภาพ อุตสาหกรรมอากาศยานทั้งโลกจะโตขึ้นอีก 2 เท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ปรากฏการณ์ตรงนี้ทำให้เห็นว่า ธุรกิจ Aerospace ต้องการบุคลากรด้านการบินอีกกว่า 500,000 คน ไม่ว่าจะเป็นนักบินหรือแม้แต่ช่างซิ่มเครื่องบินก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจมากคือ อัตราการเจริญเติบโตนั้นเห็นชัดมากในเอเชียแปซิฟิก ฉะนั้นตอนนี้ถือว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในโอกาสที่ดีและมีโอกาสเติบโตสูงมาก แต่เราต้องเสริมในเรื่องของศูนย์ซ่อมฯ ศูนย์ซ่อมในเมืองไทยตอนนี้ก็มีแค่เพียง 3 ส่วนใหญ่ๆ แต่ก็ยังมีข่าวดีว่ารัฐบาลจะไปลงทุนเปิดศูนย์ซ่อมที่อู่ตะเภา ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี

ทิศทางการเติบโตของธุรกิจ Aerospace ในประเทศไทย

 “การเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต 20 ปีข้างหน้ามีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับในปัจจุบัน โดยแนวโน้มการเจริญเติบโตมากที่สุดจะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยเป็น พื้นที่ที่มีการเติบโตด้านเศรษฐกิจที่สูง โดยในกลุ่มประเทศอาเซียนประเทศไทยนับว่ามีความได้เปรียบเชิง ภูมิศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ดังนั้นอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยจะยังมีโอกาส เติบโตในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านธุรกิจการบิน ด้านการซ่อมบำรุง ตลอดจนด้านการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้กำหนดอุตสาหกรรมการบินเป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศมุ่งเป้าในการ เพิ่มขีดความสามารถในการเจริญเติบโตในอนาคต”

ด้านคุณบัญญัติ หรรษกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมสายการบิน Thai Air Asia ได้พูดถึงแนวโน้มธุรกิจของสายการบินในประเทศ “โดยภาพรวมนะครับ ทุก ๆ ปีธุรกิจของสายการบินจะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในส่วนของ Air Asia เอง ปีนี้ก็มีเครื่องเพิ่มขึ้นอีก 6 ลำ แน่นอนว่าอุตสาหกรรมนี้ เราเองก็ต้องการบุคลากรเฉพาะครับ จริง ๆ แล้วระหว่างสายการบินเราก็มีการดึงพนักงานกันไปกันมาเพราะบุคลากรไม่เพียงพอ แต่เมื่อเรามีหลักสูตรของ UTK เข้ามา ก็ถือว่าจะเป็นโอกาสอันดีครับที่เราจะได้มีบุคลากรเพิ่มขึ้นเป็นของใครของมัน ไม่ต้องดึงพนักงานกันไปกันมาอีก”

ส่วนบุคลากรที่กำลังเป็นที่ต้องการนั้น คุณบัญญัติได้เน้นย้ำถึงความรอบคอบและการคำนึงถึงความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก ดังที่ “สำหรับน้อง ๆ ที่จะมาทำงานร่วมกันนะครับ สิ่งที่ต้องมีก็คือ คุณต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและซื่อสัตย์กับวิชาชีพ คุณมาทำงานตรงนี้กับเครื่องบินที่มีมูลค่าสูงมากและยังมีชีวิตของผู้โดยสารที่ประเมินค่าไม่ได้อีก คุณทำงานเบื้องหลัง คนข้างนอกเขาไม่รู้หรอกว่าคุณทำอะไรบ้าง แต่มันคือหน้าที่คุณควรรู้ว่าคุณต้องทำงานอย่างมืออาชีพ”

 “หากคุณเรียนจบมาจากสาขาที่ถูกรับรองโดย CAAT (สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย) ภายใน 2 ปี คุณสามารถมาสอบ Basic Licence Thai ได้ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้จบสาขาโดยตรงแต่ทำงานอยู่กับ Air Line หรือ สาขาที่เกี่ยวข้องก็ต้องใช้เวลา 4 ปีจึงมาสอบได้ครับ จาก Basic แล้วก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของสายการบินว่าต้องการจะเอานักเรียนมาเรียนเพื่อให้ได้ Type อากาศยานหรือเปล่า”

ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สมบูรณ์แบบในสายตาของนักลงทุนชาวประเทศ ด้วยอัตราค่าจ้างที่ต่ำ ระบบโลจิสติกที่แข็งแกร่ง และการได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง การเติบโตทางอากาศยานของไทยก็เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัดเป็นที่น่าจับตามองว่าอนาคตอุตสาหกรรมการบินของไทยจะเป็นอย่างไร ไทยเองจะสามารถต่อยอดสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ได้อย่างเต็มความสามารถหรือไม่ คำตอบรอเราอยู่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ด้าน Mr. Ketan Pole CEO จาก C.C.S. Group ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน สัญชาติไทย โดยอยู่ในโปรแกรมซัพพลายชิ้นส่วนสำหรับรุ่น 777, 787, A320, A350, A380, C Series, MRJ, AW139 และอื่น ๆ   ได้พูดถึงแนวโน้มธุรกิจของชิ้นส่วนอากาศยาน “ตัวเลขจาก Airbus ที่ประเมินความต้องการเครื่องบินทั่วโลกอยู่ที่ 32,600 ลำในอีก 20 ปีข้างหน้า ได้สะท้อนถึงโอกาสการเติบโตของผู้ผลิตชิ้นส่วน”

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีข้อเสียเปรียบในเรื่องของ Aerospace เพราะว่าเราไม่ได้เป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน แต่ประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางด้านยานยนต์ เรามี Toyota Honda และแบรนด์รถยนต์อีกมากมาย ดังนั้น หากเราต้องการร่วมในโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมอากาศยานนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างคลัสเตอร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนโดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยอย่างจริงจัง เพราะเป็นการลงสนามแข่งขันกับคู่แข่งหลักอย่าง มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลี อินเดียและจีน

มองว่าความท้าทายสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วน OEM สัญชาติไทย:

  • การสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐ ด้วยอุตสาหกรรมอากาศยานต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในครั้งแรกเริ่ม และมีระยะเวลานานกว่าที่โปรเจคต์จะอนุม้ติ รวมถึงงวดการชำระเงินด้วย

  • ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะช่างเทคนิคที่จะควบคุมเครื่องจักรให้ทำงาน ซึ่งไม่ใช่วิศวกรที่หาได้ง่ายในตลาดแรงงาน