Kawasaki ฮึด! ปรับแผนธุรกิจใหม่หลังเผชิญสถานการณ์ไม่สู้ดี

อัปเดตล่าสุด 11 ม.ค. 2561
  • Share :
  • 672 Reads   

คุณโยชิโนริ คาเนะฮานะ ประธานบริษัท Kawasaki Heavy Industries เผยการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจใหม่หลังธุรกิจบางประเภทเผชิญสถานการณ์ไม่สู้ดี

Q: ทั้งที่ธุรกิจกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี ทำไมถึงมีการปรับแก้แผนธุรกิจระยะกลาง และตัดสินใจให้ปีงบประมาณ 2018 เป็นปีสุดท้ายในแผนธุรกิจนี้ครับ 

A: “เราพบว่าธุรกิจรถไฟและอากาศยานนั้นกำลังอยู่ในช่วงขาลง จึงจำเป็นต้องปรับลดเป้าให้ต่ำลง อย่างไรก็ตามธุรกิจด้านไฮดรอลิคสำหรับหุ่นยนต์และอุปกรณ์ก่อสร้างนั้นดำเนินไปได้ดีกว่าที่คาด และการปรับแก้โครงสร้างธุรกิจด้านพลังงาน เช่น กังหันก๊าซ (Gas Turbine) ก็เริ่มจะส่งผลดีขึ้น ทำให้เรามั่นใจว่าแผนที่เราปรับแก้ใหม่นี้จะประสบความสำเร็จแน่นอนครับ”

 

Q: ทางบริษัทตั้งเป้าอัตราผลตอบแทนของกิจการ (Return on Invested Capital: ROIC) ไว้ที่ 8% แล้วสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ

A: “ตอนนี้ธุรกิจของเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก เราจึงอยู่ระหว่างการติดตามธุรกิจต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะผลักดันให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้ “แผนสอง” ซึ่งก็คือการอัดฉีดทรัพยากรให้กับธุรกิจที่เติบโตอยู่แล้ว และคำนึงถึงการปฏิรูปองค์กร หรือแม้กระทั่งถอนตัวจากธุรกิจนั้น ๆ”

 

Q: แล้วสถานการณ์ของธุรกิจอากาศยานเป็นอย่างไรครับ

A: “ตอนนี้เรามีแผนเริ่มดำเนินงานผลิตชิ้นส่วน “777X” (อากาศยานรุ่นใหม่ของ Boeing) ที่ Nagoya Works 1 ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานใหม่เพื่อเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2020 และติดตั้งระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่ทางเราพัฒนาขึ้นเอง โดยจัดตั้งสายการผลิตที่ไม่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้อง และหลังจากนี้เราก็จะร่วมมือกับ Boeing ในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพและความเร็วในการผลิตต่อไป”

 

Q: ดูเหมือนว่าจะมีความคืบหน้าในการพัฒนา “Successor” ระบบหุ่นยนต์ที่มีคุณสมบัติในการเลียนแบบทักษะของช่างได้สินะครับ

A: “เนื่องจาก Successor เป็นแนวคิดที่ไม่เคยมีมาก่อน เราจึงมองว่าจะสามารถนำระบบนี้มาใช้ได้หลายส่วน ซึ่งปัจจุบันก็เป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ และเราเองก็อยู่ระหว่างพิจารณาการนำแนวคิดที่ว่านี้ไปใช้กับธุรกิจรถไฟ อากาศยาน และโรงไฟฟ้าอยู่ นอกจากนี้ยังเป็นแนวคิดที่ถูกคาดหวังมากจากวงการแพทย์ในฐานะหุ่นยนต์ผู้ช่วยในการผ่าตัด เราจึงตั้งเป้าขอใบรับรองทางการแพทย์จากทั้งญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรปในปี 2018 นี้ และเริ่มนำเข้าสู่ตลาดในปีงบประมาณถัดไป ซึ่งในวงการแพทย์นั้น ก็มี Da Vinci Surgical System เป็นผู้ครองตลาดอยู่ รวมถึงผู้ผลิตรายอื่นที่เล็งเข้าสู่ตลาดนี้เหมือนกัน แต่เนื่องจากบริษัทเราสามารถผลิตหุ่นยนต์ได้เอง เราจึงค่อนข้างมีความได้เปรียบอยู่”

 

Q: กลยุทธ์ในส่วนธุรกิจรถไฟเป็นอย่างไรบ้างครับ

A: “เราจะสามารถทำให้บริการหลังการขายเติบโตได้หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถขยายธุรกิจนี้ได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันนั้น ความต้องการทางด้านบริการหลังการขายนี้มีมากขึ้นควบคู่ไปกับความต้องการบำรุงรักษาขบวนรถ ซึ่งหากเราสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่นระบบเซ็นเซอร์เข้ามาใช้ ก็จะทำให้ผลกำไรที่ได้จากธุรกิจนี้มีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ระหว่างการมองหา Maintenance agencies ในสหรัฐฯ เพื่อควบรวมและซื้อกิจการ (Merger & Acquisition, M&A) และพิจารณาเปิดศูนย์ซ่อมบำรุงของเราเองในเอเชีย”