บิ๊กดาต้า-ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ งานร้อนดีอี ปลัด "อัจฉรินทร์"

อัปเดตล่าสุด 29 ม.ค. 2561
  • Share :

ข้ามห้วยจากรองเลขาธิการ BOI มารับตำแหน่งปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) 4 เดือนแล้วสำหรับ "อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย" พร้อมโจทย์ใหญ่ในการขับเคลื่อนนโยบายสารพัดเรื่องให้เสร็จทันใจรัฐบาล หลังเปลี่ยนชื่อกระทรวงใหม่ได้ปีเดียวเปลี่ยนปลัดไปแล้ว 3 คน "ประชาชาติธุรกิจ" พาไปคุยด้วยดังนี้

Q : มารับตำแหน่งแล้วต่างจากที่คิด

ก็มีเซอร์ไพรส์แค่เรื่องว่า นี่อุปกรณ์เป็นไอทีโบราณมาก ลักษณะการทำงานมีเอกสารเยอะมาก ก็พยายามปรับรูปแบบให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ให้สมเป็นกระทรวงดิจิทัล แต่ที่พลิกล็อกอีกอย่างคือ คนกระทรวงนี้อยาก change มาก และแอ็กทีฟมาก ไม่เหมือนที่คิดไว้ ซึ่งความอยากเปลี่ยนคือสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

สิ่งแรก ๆ ที่ต้องปรับคือกระบวนการทำงานให้ใช้ดิจิทัล หรือ e-Government ถ้าไม่ปรับทั้งบิ๊ก ดาต้า การออกนโยบายอย่างรวดเร็วจะทำไม่ได้ ข้อมูลต้องจัดเก็บเป็นดิจิทัล มีดาต้าเบส นำออนไลน์มาใช้ ส่วนอุปกรณ์ก็ต้องรีบเปลี่ยนโดยด่วน

Q : อุปสรรคการทำงาน

ปัญหาเก่าไม่ใช่แค่ไทยคมยังมีไอซีทีชุมชน และอีกหลายเรื่อง การทำงานถ้ายังมีขยะกองไว้ขวางไว้ ก็เดินหน้าต่อไม่ได้จึงพยายามสะสางทำให้ทุกคนเป็นอิสระ กล้าทำงาน กล้าเดินไปข้างหน้าได้

Q : ขยะกองใหญ่สุด

คดีความต่าง ๆ ซึ่งก็ไม่เป็นไร รอ กระบวนการไป แต่อีกก้อนใหญ่ที่อยากสะสางคือในกระทรวงเอง อย่างการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ต้องแก้ไขให้ชัดเจน หลายอย่างไม่ใช่เรื่องคอร์รัปชั่น แต่คาราคาซัง

เพราะตรวจรับไม่ได้ ไม่ตรง TOR ด้วยสถานการณ์หน้างานที่เปลี่ยนไป อาทิ จุดติดตั้งต้องเปลี่ยน แต่ไม่กล้าตัดสินใจ

แก้ TOR ทั้งที่เป็นความจำเป็น

Q : งานเร่งด่วน

ก็ยังเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่สั่งมาและผลต้องออกให้เร็ว ก็ดีใจที่เน็ตประชารัฐติดตั้งเสร็จแล้ว แต่งานไม่จบแค่นั้น ต้องให้เกิดการใช้งานด้วย มีการสร้างการรับรู้ให้ลงไปถึงระดับหมู่บ้าน ฝึกเทรนเนอร์ให้ทุกหมู่บ้าน จาก 4 คนที่เป็นแกนนำก็ขยายเป็น 40 คนต่อหมู่บ้าน เชื่อว่าถ้ามีความรู้จะทำให้เกิดความอยากใช้และใช้อย่างปลอดภัย เพราะการที่เราลากสายอินเทอร์เน็ตไปให้ถึงบ้าน มันหมายถึงภัยต่าง ๆ บนโลกออนไลน์จะตามไปด้วย จึงต้องทำให้ชาวบ้านรู้เท่าทัน พวกนี้บรรจุไว้ในหลักสูตรที่ฝึกอบรม ไม่ให้ชาวบ้านตกเป็นเหยื่อ แล้วยังมีเรื่องความปลอดภัยอื่น ๆ

Q : ศูนย์ไอซีทีชุมชนจะยังมีอยู่

จะอัพเกรดให้เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน นี่ก็ค้างเติ่งมาเป็นปี เพิ่งไล่บี้เสร็จ ติดตั้งไปแล้วหมื่นจุด แต่มีปัญหาจริง ๆ ไม่ถึง 2 พันจุด มีบางส่วนที่กลายเป็นศูนย์ร้าง เนื่องจากพอโครงการเดิมสิ้นสุด

การสนับสนุนงบประมาณก็ไม่มีใครในชุมชนทำต่อ จึงต้องวิ่งไปติดต่อหาที่ตั้งศูนย์ใหม่ที่คงการติดตั้งตามเงื่อนไข TOR ไว้ได้  ก็ไปประสานกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้จำนวนจุดครบ ก็จะมีการเซ็นอนุมัติแก้จุดติดตั้งใน TOR เดิมให้เป็นตามพื้นที่ที่ประสานงานมาได้ และให้ขยายเวลาติดตั้ง คาดว่า มี.ค.นี้จะเสร็จสิ้นทั้งหมด และได้ใช้งานฟรีทั้งค่าเน็ตค่าไฟค่าดูแลรักษา 1 ปี นี่ก็ถือว่าปิดจ็อบ ส่วนในปีถัดไปทาง สดช. (สำนักงานคณะกรรมการดีอีแห่งชาติ) ก็จะไปหางบฯสนับสนุนต่อ

Q : งานหินที่รออยู่

บิ๊กดาต้าของ 20 หน่วยงาน นายกฯ เอาจริงมากว่าต้องทำให้เสร็จ ขั้นแรกต้องมีดาต้าเบสที่ดี ตอนนี้ สรอ. (สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์) กำลังไล่เช็กสถานะแต่ละหน่วยงาน คือดาต้าเบสที่ดีต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมต่อกันได้ ข้อมูลต้องมีคุณภาพและไม่ใช่แค่เป็นไฟล์ PDF ก็ถือเป็นอิเล็กทรอนิกส์

อีกงานคือ ดาต้า อนาไลติก ดึงทั้งมหาวิทยาลัยและเนคเทคมาทำ สร้างทีมทำงาน 5 ทีม หยิบข้อมูลสำคัญที่ภาครัฐต้องใช้นำร่องไปก่อน อย่างสาธารณสุข ท่องเที่ยว พลังงาน จะตั้งโจทย์ที่รัฐบาลอยากรู้ให้นักเรียนทุนของรัฐบาลของมหาวิทยาลัย มาทำ

โปรเจ็กต์นำร่อง แล้วก็ดึงเอกชนมาร่วมด้วย กวาดข้อมูลเก่ามาวิเคราะห์ เชื่อว่า 3 เดือนจะตอบโจทย์อะไรออกมาได้ ให้เป็นตัวอย่างว่าทำได้จริง ก่อนตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลบิ๊กดาต้า ทำดาต้าอนาไลติกของประเทศให้ทันรัฐบาลนี้

Q : ตั้งเนชั่นแนลไซเบอร์ซีเคียวริตี้

ใช่ แต่ยังต้องให้ที่ประชุมคณะกรรมการไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ตัดสินใจว่าจะอัพเกรด สพธอ. หรือไม่ ก็เตรียมเอกสารประชุมไว้ให้ว่าแต่ละประเทศมีรูปแบบไหน มีกรอบแค่ไหน ถ้า พ.ร.บ.ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ช้า ก็อาจออก ม.44 นายกฯอยากให้มีโครงการขับเคลื่อนนำร่องไปก่อน

Q : งานนี้เผือกร้อนมาก

ถูกต้อง แต่ขอยืนยันว่าไม่ใช่การทำซิงเกิลเกตเวย์ แต่หลักการคือถ้าเกิดวิกฤตถูกโจมตีทางไซเบอร์ขึ้นมา ใครจะรับมือ ขั้นตอนกระบวนการเป็นอย่างไร อย่างแรกคือต้องชี้ว่าโครงข่าย

ใดที่ถือว่า crisis service คือ โทรคมนาคม เฮลท์แคร์ โรงพยาบาล สถาบันการเงิน พลังงาน สาธารณูปโภค แต่ละแห่งต้องเข้าไปดูโครงข่ายตัวเอง ต้องมีเซิร์ต (CERT) มีทีมมอนิเตอร์ ถ้าไม่มีก็ต้องขึ้นกับเซิร์ตกลาง ไม่ใช่ซิงเกิลเกตเวย์ แต่ถ้าวิกฤตถึงระดับเนชั่นแนลไซเบอร์เอเยนซี่แล้วแสดงว่าอาจต้องชัตดาวน์ แต่ถ้าแต่ละระดับรับมือได้ก็ไม่เกิดสถานการณ์นี้

Q : เป็นรัฐบาลทหารคนกังวลเยอะ

ถ้าดูภารกิจแล้ว จะเห็นว่าแต่ละระดับจะมีการมอนิเตอร์ มีระบบแอ็กชั่น อย่างตอนนี้สถาบันการเงินก็ทำอยู่แล้ว มีแบงก์ชาติดูแล และย้ำว่า นี่ไม่ใช่การบล็อกเว็บ แต่เพื่อป้องกันการถูกโจมตี จากแฮกเกอร์จากไวรัส ไม่ให้ระบบล่ม นี่คือไซเบอร์ซีเคียวริตี้จริง ๆ

กฎหมายตระกูลนี้ยังมีทั้งการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ต้องให้ทันกฎ GDPR (คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ของ EU พ.ค.นี้ เราเพิ่งเริ่มก็จะพยายามให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ทำคู่กับไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ตอนเป็นไอซีทีเคยส่งไปในคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่พอเปลี่ยนชื่อกระทรวงก็ตีกลับมาใหม่ จะพยายามส่งกลับเข้ากฤษฎีกา และ ครม.ให้ทัน ม.ค.นี้

Q : งานใหม่ที่อยากทำ

ก็เป็นเซอร์วิสอะไรใหม่ ๆ สร้างองค์ความรู้ สร้างความตระหนักด้านดิจิทัล สร้างคนสร้างผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ ขึ้นมา

Q : การดูแล "ทีโอที-แคท"

 หนักใจกว่างานบิ๊กดาต้าด้วยซ้ำ แต่เป็นการทำตามหน้าที่ เป้าหมายคือ ทั้งคู่ต้องทำธุรกิจต่อไปอย่างแข่งขันได้ เม.ย.นี้ 2 บริษัทลูกทั้ง NBN NGDC ต้องเริ่มทำธุรกิจได้  

Q : นิยามกระทรวงยุคนี้

อยากเห็นกระทรวงเป็นผู้วางกำหนดนโยบายที่ให้ประเทศทันสมัยในการใช้งานดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัย มอนิเตอร์คอยอำนวยความสะดวกให้