ทาคาฮิโระ ฮาจิโกะ “อนาคตฮอนด้าจะใช้มอเตอร์ขับเคลื่อน”

อัปเดตล่าสุด 2 พ.ย. 2560
  • Share :
  • 558 Reads   

ท่ามกลางแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของโลกยานยนต์ในปัจจุบัน ทำให้ค่ายรถยนต์ต่างต้องเร่งพัฒนาและปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์แห่งอนาคต “ฮอนด้า” จัดเป็นค่ายรถยนต์ที่ปรับตัวเร็ว โดยเฉพาะการมุ่งมั่นเรื่องความปลอดภัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ตามพันธกิจที่ “ทาคาฮิโระ ฮาจิโกะ” ประธานกรรมการบริหาร และผู้แทนกรรมการบริหาร ซีอีโอ บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ได้ประกาศวิสัยทัศน์ว่า ปี 2030 ฮอนด้ามุ่งมั่นที่จะส่งมอบความสุขจากการเดินทางให้กับคนทั้งโลก

ล่าสุดเบอร์หนึ่งค่ายฮอนด้าเปิดโอกาสให้สัมภาษณ์กับสื่อไทย พร้อมตอบคำถามนักข่าวถึงแนวคิดขับเคลื่อนธุรกิจที่กำหนดเป็นทิศทางดำเนินการทั่วโลก

Q: ประเทศไทย-เอเชีย โอเชียเนียพร้อมแค่ไหน กับวิสัยทัศน์ 2030

เราได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี 2030 ยอดขายรถยนต์ฮอนด้า 2 ใน 3 ทั่วโลกจะมาจากกลุ่มที่ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนตัวรถ ซึ่งแหล่งพลังงานจะมาจากการเป็นรถยนต์ไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หรือฟิวเซลล์ (ไฮโดรเจน) นั่นขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าจะให้การยอมรับแบบไหน และความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และสถานีบริการของแต่ละตลาด แต่ถ้าให้มองปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ รถยนต์ไฮบริดและปลั๊ก-อินไฮบริด ถือได้ว่ามีโอกาสมากที่สุด เพราะสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ได้เลย ขณะที่รถอีวีและฟิวเซลล์ต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลในแต่ละประเทศ ที่จะมาช่วยสนับสนุน ซึ่งเป็นประเด็นที่ฮอนด้าต้องเร่งสร้างความเข้าใจและประสานงานใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

Q: ประเทศไทยจะมีศักยภาพไปถึงรถอีวีหรือไม่

สำหรับประเทศไทย รถอีวีอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะ แต่สิ่งที่เป็นไปได้คือรถยนต์ไฮบริด อย่างที่เราทราบ ตลาดเอเชียอยู่ระหว่างการพัฒนาและทำตลาด ดังนั้นฮอนด้าเห็นว่าจะทำอะไร จะนำเสนออะไรให้เหมาะสมกับภูมิภาคนั้น ๆ มากกว่า ส่วนในระดับโลกนั้นรถยนต์อีวีและรถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริดจะค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วน เราต้องเริ่มนำเสนอในสิ่งที่ลูกค้าเข้าถึงได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากนั้นจึงค่อย ๆ ขยายไปในเทคโนโลยีอื่น ในลักษณะสเต็ปบายสเต็ป

Q: ฮอนด้ามองพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง

การผลิตรถยนต์และจักรยานยนต์ของฮอนด้า เราจำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ถึง 80% ในการประกอบ ที่ผ่านมามีการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ร่วมกับซัพพลายเออร์ โดยหารือและวางแผนการทำงานร่วมกัน และในกรณีที่โลกอุตสาหกรรมยานยนต์มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งจำเป็นอย่างมากในการเปิดให้ซัพพลายเออร์และพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามาร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์แต่ละรุ่น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปในรูปแบบวิน วิน คือประสบความสำเร็จด้วยกันทุกฝ่าย

Q: มั่นใจแค่ไหนสำหรับเป้าหมายปี 2030

ตรงนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ฮอนด้าต้องเข้าไปและสร้างความเข้าใจให้กับรัฐบาลเพื่ออธิบายรายละเอียดและแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงหลักการดำเนินธุรกิจ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในแต่ละประเทศ เราในฐานะผู้ผลิตควรเตรียมตัวให้รับกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมในต้นทุนที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ ประกอบกับผลตอบแทนที่จะได้ควรจะเตรียมให้มากพอ เป็นสิ่งจำเป็นให้รถยนต์ไฮบริดปลั๊ก-อิน ไฮบริด ฟิวเซลล์และรถยนต์ไฟฟ้าสามารถเกิดได้

Q: ความน่าเชื่อถือที่ลดลงของบริษัทญี่ปุ่นส่งผลกระทบหรือไม่

บริษัทของเราเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย เพื่อส่งต่อไปยังผู้บริโภค ที่ตัดสินใจเลือกเป็นเจ้าของ โดยยึดหลัก 3 ขา คือ Gemba คือสถานที่จริง หรือหน้างานจริง Genbutsu คือชิ้นงานของจริง และ Genjitsu คือสถานการณ์จริง พร้อมทั้งให้อำนาจการตัดสินใจแก้ปัญหาให้กับฮอนด้าในแต่ละประเทศที่เข้าไปลงทุนเพื่อความรวดเร็ว แม้ในช่วง 2-3 ปีนี้อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการผลิตของบริษัทญี่ปุ่น เราในฐานะบริษัทผู้ผลิตต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น