Nachi ฝัน ตั้งฐานการผลิตหุ่นยนต์ในไทยป้อนอาเซียน

อัปเดตล่าสุด 28 ก.พ. 2562
  • Share :

Nachi Technology ผู้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และโซลูชันระบบอัตโนมัติเพื่ออุตสาหกรรมการผลิต โดยมีกลุ่มลูกค้าคือธุกิจรายใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร โดย Mr. Akira Takarajima รองประธาน บริษัท นาชิ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด  เปิดเผยกับข่าวออนไลน์ เอ็ม รีพอร์ต (M Report) ว่า ปัจจุบัน ธุรกิจรายใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมั่นคง ซึ่งเป็นผลดีต่อธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจขนาดเล็ก โดยการกระตุ้นให้เกิดความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น และธุรกิจเหล่านี้เอง ที่ได้กลายเป็นเป้าหมายถัดไปของ Nachi Technology โดยติดตามรายละเอียดในบทสัมภาษณ์นี้

 

มุมมองต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย

“ผมคิดว่าเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมไทยกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี สืบเนื่องจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะการสนับสนุนจากศคณะกรรมกำรส่งเสริมการลงทุน (ฺBOI) ที่ให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิตและการบริการ  ส่งผลให้มีความต้องการระบบอัตโนมัติเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า สถานการณ์เช่นนี้ เป็นผลดีต่อธุรกิจหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากระบบอัตโนมัตินั้นมีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเป็นส่วนประกอบสำคัญ 


สำหรับสิ่งที่ผมเป็นกังวล คือเรื่องของการเลือกตั้ง โดยผมมีความเห็นว่า บริษัทค่ายญี่ปุ่นหลายรายมีความคิดเห็นตรงกันในเรื่องนี้ เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลยุคปัจจุบันนั้นเอื้อประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และการก่อตั้งบริษัทใหม่ รวมถึงอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งแล้ว เราไม่แน่ใจนัก ว่านโยบายหลังการเลือกตั้ง จะดำเนินไปในทิศทางใด และจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่าง ๆ เช่นไร


ในอีกประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความกังวล นั่นคือสงครามการค้าจีน - สหรัฐฯ นั้น ผมมองว่ากลับเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากหลายบริษัทในจีน ได้ย้ายฐานการผลิตจากจีนมาสู่ประเทศไทย นำมาซึ่งความต้องการเครื่องจักรภายในประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับหลายบริษัท ซึ่งมีธุรกิจส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนแล้ว ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสงครามการค้าทำให้ยอดการส่งออกในส่วนนี้ลดลง” 

โอกาสและความท้าทายที่ต้องเผชิญ

“ปัจจุบันผู้ใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมส่วนมากคือธุรกิจรายใหญ่ เช่น ผู้ผลิตยานยนต์ ซึ่งหลายรายอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอัตโนมัติ ผมจึงมองว่าเป้าหมายถัดไปของเราคือ SME โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร


โดยทั่วไปแล้ว ในแต่ละอุตสาหกรรมมีพีระมิดของอุตสาหกรรมนั้น ๆ อยู่ ยกตัวอย่างเช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะมีผู้ผลิตยานยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และผู้รับจ้างช่วง (Subcontractor) ซึ่งมีขนาดธุรกิจไล่ลงมาจากยอดสู่ฐานตามลำดับ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเช่นเดียวกัน โดยผมมีความเห็นว่าในประเทศไทย พีระมิดนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน เมื่อผู้ผลิตยานยนต์มีการเติบโต สิ่งที่จะตามมาคือความต้องการชิ้นส่วนคุณภาพสูงยิ่งมีมากขึ้น ส่งผลให้ส่วนฐานของพีระมิดจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบอัตโนมัติเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจ SME สามารถพัฒนากระบวนการผลิตได้ และสิ่งนี้เองที่เป็นโอกาสของเรา ซึ่งหากผู้ผลิตชิ้นส่วน หรือธุรกิจขนาดกลางหันมาใช้ระบบอัตโนมัติแล้ว ความต้องการของธุรกิจขนาดกลาง ก็จะไปกระตุ้นให้ธุรกิจขนาดเล็กใช้ระบบอัตโนมัติต่อไปในอนาคต


ส่วนในแง่ของความท้าทายนั้น ผมมองว่าสิ่ที่ท้าทายที่สุดสำหรับเรา คือการสอนให้ผู้คนเข้าใจหุ่นยนต์อุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด ผ่านการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และอื่น ๆ เพื่อให้คนเข้าใจหุ่นยนต์ได้เสียก่อน เราจึงจะสามารถกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมขึ้นมาได้


ซึ่งในจุดนี้ เราได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดรับนักศึกษาปี 3 เข้ามาฝึกงาน เพื่อให้สามารถเข้ามาทำงานกับบริษัทเราได้ในช่วงปีที่ 4 โดยมีการเปิดรับนักศึกษาจำนวนปีละ 2 คน เพื่อทำการฝึกฝน และทำงานต่อในบริษัทของเราได้หลังจบการศึกษา”


เป้าหมายและยุทธศาสตร์ขององค์กร


“ในปี 2562 นี้ Nachi Thailand ได้ตั้งเป้าการเติบโตเอาไว้ที่ประมาณ 20% โดยเราจะมองแนวโน้มของตลาด พิจารณาแนวโน้มความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าจะเป็นเช่นไรในอนาคต ซึ่งหากความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้มีมากเพียงพอ เราอาจพิจารณาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เราต้องทำให้ความต้องการหุ่นยนต์ และส่วนแบ่งของเราในตลาด ซึ่งปัจจุบันยังไปไม่ถึงในจุดนั้นให้ได้เสียก่อน ซึ่งแน่นอนว่า เราจำเป็นต้องพึ่งพาการผลักดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติอีกด้วย


ปัจจุบัน บริษัทเรามี Cooperating Robot ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหุ่นยนต์อุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ  เทคโนโลยี IoT และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเติบโตของบริษัทเรา อย่างไรก็ตาม ความต้องการ IoT ในประเทศไทย ยังมีไม่มากนักในปัจจุบัน และมักอยู่ในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่เท่านั้น”