ระเบียบและข้อกฎหมายการจ้างงานชาวต่างชาติในจีนที่ผู้ประกอบการและแรงงานไทยควรรู้

ระเบียบและข้อกฎหมายการจ้างงานชาวต่างชาติในจีนที่ผู้ประกอบการและแรงงานไทยควรรู้

อัปเดตล่าสุด 7 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 2,770 Reads   

ปัจจุบัน แม้ว่าเศรษฐกิจของจีนจะได้รับผลกระทบจากสภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน จนทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับร้อยละ 6 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 27 ปี แต่มิได้หมายความว่าจีนจะลดบทบาทในฐานะประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกลงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามจีนยังคงเป็นตลาดการค้าและเป็นฐานการลงทุนที่ภาคธุรกิจให้ความสนใจเข้าไปดำเนินธุรกิจ รวมถึงชาวต่างชาติที่ยังคงหลั่งไหลเข้าไปทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าจำนวนไม่น้อยเป็นชาวไทย

ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในจีน ซึ่งมีการจ้างแรงงานต่างชาติ รวมถึงพี่น้องชาวไทยที่เข้าไปทำงานในจีน โดยเฉพาะในมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นมณฑลสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจีน ที่ชาวไทยนิยมไปทำธุรกิจ 

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง จึงได้จัดบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานด้านการจ้างงานชาวต่างชาติในจีน เพื่อให้นายจ้างชาวไทยที่จดทะเบียนบริษัทดำเนินธุรกิจในจีนและแรงงานไทยได้รับทราบถึงสิทธิประโยชน์ ความรับผิดชอบ รวมถึงขั้นตอนการยื่นเอกสารต่าง ๆ ของมณฑลยูนนาน ตามระเบียบเฉพาะสําหรับการจ้างงานชาวต่างชาติ ว่าด้วยเรื่องของการบริหารจัดการแรงงานต่างชาติ และระบบประกันสังคม ดังนี้

1. ด้านการบริหารจัดการแรงงานต่างชาติ นายจ้างและลูกจ้างจะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตสําหรับการจ้างงาน โดย (1) นายจ้างต้องยื่นขอใบอนุญาตจ้างลูกจ้างชาวต่างชาติจากกรมทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคม (2) ลูกจ้างชาวต่างชาตินำใบอนุญาตจ้างแรงงานต่างชาติไปประกอบการขอวีซ่าทํางาน (Z) เพื่อเดินทางเข้าประเทศจีน (3) นายจ้างและลูกจ้างชาวต่างชาติยื่นขอใบอนุญาตทํางาน (Work Permit) ต่อกรมทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคมภายใน 15 วันนับจากวันที่เดินทางเข้าประเทศจีน และ(4) นายจ้างและลูกจ้างชาวต่างชาติยื่นขอใบอนุญาตพํานัก (Residence Permit) ต่อ Public Security Bureau Exit and Entry Administration Office ภายใน 30 วันนับจากวันที่เดินทางเข้าประเทศจีน

อย่างไรก็ดี ชาวต่างชาติสามารถทํางานในประเทศจีนได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทํางาน หากมีคุณสมบัติ ดังนี้ (1) ชาวต่างชาติที่ได้รับ “ใบรับรองผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ” ที่ออกโดยสํานักงานผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ (Foreign Experts Affairs) ของจีน โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติด้านเทคโนโลยีหรือด้านบริหารซึ่งรัฐบาลจีนว่าจ้างโดยตรง หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติด้านเทคโนโลยีหรือด้านบริหารที่มีตําแหน่งด้านเทคโนโลยีระดับสูงหรือมีหนังสือรับรองคุณสมบัติทักษะพิเศษที่รับรองโดยหน่วยงานกํากับเทคโนโลยีหรือสมาคมวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติของผู้เชี่ยวชาญหรือระดับนานาชาติซึ่งหน่วยงานภาครัฐของจีนหรือหน่วยงานกิจการเฉพาะของจีนว่าจ้าง (2) ชาวต่างชาติที่ได้รับ “ใบอนุญาตชาวต่างชาติทํางานด้านปิโตรเลียมในทะเลจีน” ซึ่งไม่ต้องขึ้นมาบนพื้นแผ่นดินของประเทศจีน และ (3) ชาวต่างชาติที่ได้รับ การอนุมัติจากกระทรวงวัฒนธรรมจีนในการแสดงศิลปะและวัฒนธรรม

2. ด้านการจ้างงาน นายจ้างและลูกจ้างต้องดำเนินการ (1) ทําสัญญาจ้างงานตามกฎหมายจีน โดยสัญญาจ้างงาน มีอายุสูงสุดไม่เกิน 5 ปี โดยอ้างอิงกฎระเบียบเกี่ยวกับสิทธิแรงงานและสภาพแวดล้อม ในการทํางานสําหรับลูกจ้างชาวต่างชาติใช้กฎระเบียบเดียวกับลูกจ้างจีน และ (2) ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตทํางาน (Work Permit) 30 วันก่อนใบอนุญาตทํางานหมดอายุ หากไม่ต่ออายุ ถือว่าใบอนุญาตทํางานถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ

หากลูกจ้างชาวต่างชาติเปลี่ยนนายจ้างหรือพื้นที่ทํางาน จะต้องดําเนินการขอเปลี่ยนใบอนุญาตทํางานใหม่ หากลูกจ้างชาวต่างชาติทําผิดกฎหมายจีนหรือถูกเลิกจ้าง นายจ้างต้องแจ้งกรมทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคม และ Public Security Bureau Exit and Entry Administration Office ทันที     เพื่อยกเลิกสัญญาจ้างงาน ใบอนุญาตทํางาน และใบอนุญาตพํานัก ทั้งนี้ หากลูกจ้างชาวต่างชาติทํางานโดยไม่มีใบอนุญาตทํางาน จะถูกลงโทษตามกฎหมายจีน ตั้งแต่การปรับจนถึงการให้ออกนอกประเทศ

3. ด้านประกันสังคม กฎหมายประกันสังคมของจีนกำหนดให้ลูกจ้างชาวต่างชาติต้องเข้าระบบประกันสังคม เพื่อรับประโยชน์จากสถานะ 5 กรณี ได้แก่ (1) ชราภาพ (2) เจ็บป่วย (3) ว่างงาน (4) บาดเจ็บจากการทํางาน และ (5) คลอดบุตร ซึ่ง 3 กรณีแรก กฎหมายกำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างชาวต่างชาติจ่ายเงินร่วมกัน และ 2 กรณีหลัง กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินฝ่ายเดียว

นอกจากนี้ นายจ้างและลูกจ้างยังควรทราบเกี่ยวกับระเบียบทั่วไปสําหรับการจ้างงานชาวต่างชาติ ว่าด้วยระเบียบของสัญญาจ้างงาน ระยะเวลาการทดลองงาน การยกเลิกสัญญาจ้างงาน และค่าตอบแทน ดังนี้

1. สัญญาจ้างงาน นายจ้างและลูกจ้างต้องทําสัญญาจ้างงานเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน นับจากวันแรกที่ทํางาน หากไม่มีการทําสัญญาจ้างงานภายใน 30 วันตามกฎหมายกําหนด ลูกจ้างสามารถฟ้องให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างของเดือนที่ 2-12 ในอัตรา 2 เท่าของค่าจ้างเดือนแรก (หรือค่าจ้างที่ได้ตกลงกันไว้) และตั้งแต่เดือนที่ 13 เป็นต้นไป ให้ถือว่าการจ้างงานดังกล่าวเป็นการว่าจ้างแบบไม่มีกําหนดระยะเวลา (No Fix Term Contract) โดยอัตโนมัติ

2. ช่วงทดลองงาน กรณีสัญญาจ้างงานมีอายุไม่ถึง 1 ปี กําหนดให้มีช่วงทดลองงานได้ไม่เกิน 1 เดือน กรณีสัญญาจ้างงานมีอายุระหว่าง 1-3 ปี กําหนดให้มีช่วงทดลองงานได้ไม่เกิน 2 เดือน และกรณีสัญญาจ้างงานมี อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป กําหนดให้มีช่วงทดลองงานได้ไม่เกิน 6 เดือน

3. การยกเลิกสัญญาจ้างงาน แบ่งเป็น 4 กรณี ได้แก่ (1) กรณีนายจ้างและลูกจ้างตกลงร่วมกัน ก็สามารถยุติสัญญาจ้างงาน (2) กรณีลูกจ้างขอลาออก ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน หากอยู่ในช่วงทดลองงานต้องแจ้งล่วงหน้า 3 วัน (3) กรณีนายจ้างทําผิดสัญญาจ้างหรือผิดกฎหมาย ลูกจ้างสามารถยกเลิกสัญญาได้ โดยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยแก่ลูกจ้าง (รวมทั้งกรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด) โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้าง 1 เดือนต่ออายุงาน 1 ปี และ (4) กรณีลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน หรือลูกจ้างกระทําผิดจนสร้างความเสียหายแก่นายจ้าง โดยนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง เวลาทํางานไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน ไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ และมีวันหยุดอย่างน้อย 1 วัน 1 สัปดาห์

4. ค่าตอบแทน ได้แก่ (1) ค่าจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างตรงตามเวลาและครบตามจํานวน โดยไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกําหนด (ปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในนครคุนหมิง 1,670 หยวน/เดือน) และ (2) ค่าล่วงเวลา ซึ่งหากเป็นการทํางานล่วงเวลาในวันทํางานปกติ ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลา 1.5 เท่าของค่าจ้าง หากเป็นการทํางานล่วงเวลาในวันหยุดประจําสัปดาห์ ให้นายจ้างจัดสรรวันหยุดชดเชยให้แก่ลูกจ้างหรือจ่ายค่าล่วงเวลา 2 เท่าของค่าจ้าง และหากเป็นการทํางานล่วงเวลาในวันหยุดตามที่กฎหมายจีนกําหนด (11 วัน ได้แก่ วันตรุษจีน 3 วันวันชาติจีน 3 วัน และวันหยุตอื่นอีก 5 เทศกาล เทศกาลละ 1 วัน) ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลา 3 เท่าของค่าจ้าง

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิประโยชน์ด้านแรงงาน ลูกจ้างสามารถร้องเรียนต่อสํานักงานตรวจสอบสิทธิแรงงานภายใต้กรมทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคม ผ่านช่องทาง (1) สายด่วนหมายเลข 12333 (2) แอปพลิเคชัน “云南人社” ของกรมทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคม มณฑลยูนนาน และ (3) ที่ทําการสํานักงานตรวจสอบสิทธิแรงงานในพื้นที่ตั้งแต่ระดับอําเภอขึ้นไป

ระเบียบและข้อกฎหมายการจ้างงานชาวต่างชาติในต่างประเทศถือเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการและแรงงานไทยควรรู้ เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานและดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง ลดการเกิดปัญหาต่าง ๆ รวมถึงป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากท้องถิ่นนั้น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ www.globthailand.com