แอฟริกา ตลาดใหญ่แห่งสุดท้ายของอุตสาหกรรม

อัปเดตล่าสุด 4 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 7,952 Reads   

กล่าวกันว่า แอฟริกา คือตลาดใหญ่แห่งสุดท้ายของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนประชากรที่ยากจนกว่า 1.3 พันล้านคน ทำให้การเข้าทำกำไรจากภูมิภาคนี้เป็นไปได้ยาก อีกทั้งปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาหาร และการแพทย์ ยังทำให้หลายบริษัทไม่กล้าเข้าลงทุนในทวีปนี้ ในทางกลับกัน สิ่งที่แอฟริกาขาดไปนี้เอง ที่อาจกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจได้ในอนาคต

เป้าหมายคือการเติบโตร่วมกัน

ในทวีปแอฟริกา ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเกษตร คือผู้ประกอบการรายเล็ก การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศจึงไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก แม้จะมีตัวกลางอย่างบริษัทการค้าก็ตาม ซึ่ง Mitsui & Co. ได้ทดลองเข้าหาผู้ประกอบการด้วยวิธีอื่น ผ่านการเข้าร่วมลงทุนใน ETC Group ซึ่งมีสมาชิกในอุตสาหกรรมเกษตรกว่า 2 ล้านราย แทนการเข้าหาธุรกิจต่าง ๆ โดยตรง

จากนั้น ทางบริษัทจึงทำการเสนอพืชที่สามารถส่งออกได้ เพื่อให้เป็นรายได้ของเกษตรกร ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในแอฟริกาที่ร่วมทำการค้าด้วยมีรายได้ที่มั่นคงจากการส่งออก มากกว่าการขายในประเทศ และได้ราคาที่สูงกว่าอีกด้วย

เมื่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว กำลังซื้อก็จะสูงขึ้นตามมา นำมาซึ่งความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น อาหาร ยา และเครื่องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งนี้เอง ที่เป็นการกระตุ้นให้เกิดการค้าขาย และนำมาซึ่งผลกำไรที่เพิ่มขึ้นไปอีก

นอกจากกำไรแล้ว ยังนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ความต้องการเครื่องจักรทางการเกษตร ซึ่งกระตุ้นให้เกิดบริการเช่ารถแทรกเตอร์ในโมเดลที่ใกล้เคียงกับ Uber ซึ่งสามารถตอบโจทย์ของผู้มีรายได้ต่ำได้อย่างดีเยี่ยม 

ผู้จัดการโครงการของ Mitsui & Co. กล่าวชี้แจงว่า “การเข้าไปช่วยให้สังคมมีความมั่นคงมากขึ้น เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อธุรกิจ” ซึ่งในอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกจากการเกษตรเองก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากความมั่นคง จะนำมาซึ่งความต้องการ และนำไปสู่ผลกำไรในระยะยาวได้ อย่างไรก็ตาม ได้กล่าวเสริมว่า “แต่จะให้เราทำกำไรเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องคิดว่าผู้ที่ร่วมธุรกิจกับเราก็จะได้กำไรด้วยเช่นกัน” โดยคาดการณ์ว่า การลงทุนในรูปแบบเช่นนี้ จะเริ่มทำกำไรได้จริงหลังจากผ่านไป 10 ปี แต่หากไม่ลงทุนตั้งแต่ตอนนี้ ก็จะไม่มีที่ว่างให้เข้าลงทุนในอนาคต

ธุรกิจรายเล็ก

นอกจากธุรกิจรายใหญ่แล้ว ธุรกิจรายเล็กหลายราย ก็เล็งเห็นศักยภาพของตลาดแอฟริกาเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น Nippon Biodiesel Fuel ซึ่งเข้าไปทำตลาดเงินอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยี IT ในประเทศโมซัมบิก บริหารจัดการระบบเงินให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากในแอฟริกามีเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความปลอดภัยสูง และน่าเชื่อถือกว่าเงินสดมาก และยังสามารถขยายไปสู่การขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย

อีกตัวอย่างคือ Hiroki ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายเครื่องหนัง ได้เข้าไปก่อตั้งโรงงานในประเทศเอธิโอเปีย เมื่อปี 2013 เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตเครื่องหนังแกะคุณภาพสูง โดยกว่า 90% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทถูกผลิตขึ้นจากวัสดุที่ได้จากโรงงานแห่งนี้ โดยทางบริษัท ชี้แจงว่าในโรงงานมีทั้งคนญี่ปุ่น และคนท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม พบว่าพนักงานบางคนไม่รู้กระทั่งวิธีใช้ไม้บรรทัด จึงมีความคิดที่จะก่อตั้งโรงเรียนในพื้นที่โรงงานต่อไปในอนาคต

รายถัดมาคือ AfriMedico ซึ่งตั้งเป้าเข้าทำตลาดยาสามัญประจำบ้านในประเทศแทนซาเนีย โดยเน้นไปที่กลุ่มสินค้าประเภทยาแก้หวัด ผ้าพันแผล และถุงยางอนามัย ซึ่งมีความต้องการสูง