งานวิจัยใครว่าขึ้นหิ้ง คุณศิโรจน์ หัสดินไพศาล United Copper Co., Ltd. พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า งานวิจัย และ เทคโนโลยี คือ Solution แห่งความสำเร็จ
“เชื่อมั่นในการเป็นผู้บุกเบิก ให้ความสำคัญกับการวิจัยผลิตภัณฑ์ และต้องนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทัดเทียมกับต่างประเทศมาใช้ พร้อมกับการสร้างทีมงานเพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด”
ท่ามกลางการขยายการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่กำลังเฟื่องฟูอย่างมาก บริษัท ยูไนเต็ดคอปเปอร์ จำกัด ซึ่งขยายมาจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด บางกอกคอปเปอร์ ผู้ผลิตลวดทองแดงในงานหม้อแปลงไฟฟ้า ได้ถูกจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในปี 2539 เพื่อทำการผลิตชิ้นงานทองแดงแผ่นขนาดใหญ่ ก็ต้องสะดุดลงด้วยการลอยตัวของค่าเงินบาทเมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540
ยูไนเต็ดคอปเปอร์ในวันนี้ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทองแดงชั้นนำที่ได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างมาก ด้วยการเป็นผู้บุกเบิกซัพพลายในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้ายุคต้น ๆ ของประเทศไทย จึงทำให้มีความเชี่ยวชาญพิเศษในผลิตภัณฑ์ทองแดงสำหรับงานไฟฟ้าคุณภาพสูง รวมถึงงานสั่งทำพิเศษ โดยผลิตภัณฑ์หลักนั้นเป็นลวดทองแดงประเภทแบน ( Rectangular Wire) ภายใต้แบรนด์ “Yamakawa” มีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 3,000 ตันต่อปี โดยไลน์การผลิตหลักประกอบด้วย สายการผลิตแบบดึงผ่านได ( Drawing ) 1 ไลน์, ไลน์อัดรีดแบบต่อเนื่อง (Continuous Extrusion) 5 ไลน์, และชุดเตาอบความร้อนไฟฟ้า ( Annealing ) 2 เตา ลูกค้าหลักจึงเป็นองค์กรที่ผลิตไฟฟ้าและบริษัทผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ารายใหญ่ ๆ ของประเทศไทย
คุณศิโรจน์ หัสดินไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ดคอปเปอร์ จำกัด ผู้รับไม้ต่อจากรุ่นก่อตั้ง คุณกวี หัสดินไพศาล เมื่อครั้งวิกฤติค่าเงินบาทที่เป็นสาเหตุหลักทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักลง จึงมีความคิดว่า เริ่มใหม่กันทั้งหมดดีกว่า จึงตัดสินใจนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และเครื่องจักรที่ไม่เคยมีในประเทศไทยเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต จนทำให้วันนี้ ยูไนเต็ดคอปเปอร์ เป็นผู้นำในการผลิตผลิตภัณฑ์จากทองแดง ที่มีแผนกวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพทั้งตัวผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต รวมถึงองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของพนักงานในองค์กร
ก่อนที่สายการผลิตหลักกว่า 20 ปีของบริษัทจะถูกเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ด้วยเทคโนโลยี อัดรีดแบบต่อเนื่อง (Continuous Extrusion) จากทางทวีปยุโรปและจีนนั้น จากเดิมจะเป็นกระบวนการแบบคลาสสิค การรีดลวดทองแดงจะต้องทำทีละแบทช์ (Batch) โดยเริ่มจากการรีดแบน (Rolling), การรีดผ่านได (Drawing), และการอบแอนนีลลิ่ง (Annealing) ซึ่งวิธีแบบดั้งเดิมนี้จะมีข้อจำกัดทั้งทางด้านต้นทุน และ เวลาการผลิตซึ่งในอนาคตน่าจะเป็นอุปสรรคในการแข่งขันได้ ทางเรามีไอเดียว่าน่าจะมีเทคโนโลยีที่ทำได้ดีกว่านี้จึงเริ่มทำการค้นคว้า หาข้อมูล เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตของบริษัท
“แต่กระบวนการเหล่านี้ เป็นกระบวนการที่ทุกคนใช้กัน แต่เราต้องการเทคโนโลยีใหม่ที่นำหน้าอุตสาหกรรม เพื่อปรับปรุงคุณภาพของสินค้าให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ ด้าน”
คุณศิโรจน์ ได้ศึกษาพิจารณาแล้วเล็งเห็นว่า การผลิตในระบบอัดรีดแบบต่อเนื่อง (Continuous Extrusion) มีข้อดีหลายอย่าง และหากนำมาแทนที่การผลิตแบบดั้งเดิม ก็จะสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลต่อวงการอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศด้วย เพราะนอกจากจะทำให้ลดต้นทุนการผลิต แล้ว ยังสร้างกิจกรรมการผลิตอื่นที่น่าจะต่อยอดงานของบริษัทได้ จึงได้นำระบบดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอด จนสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงได้ ลดเวลาในการผลิตให้น้อยลง และส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนระบบการผลิตในครั้งนี้ส่งผลดีต่อธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างมาก ทำให้ยูไนเต็ดคอปเปอร์ยังรักษาการลงทุนเทคโนโลยีและเครื่องจักรอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
“เราต้องพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กันไป ไม่ใช่เพียงเทคโนโลยีการผลิตเท่านั้น แต่รวมถึงเทคโนโลยีที่สนับสนุนการผลิตของเราด้วย”
ด้วยวิธีคิดเช่นนี้เอง จึงทำให้ยูไนเต็ดคอปเปอร์ไม่หยุดยั้งในการพัฒนาและวิจัยด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไป อาทิ การริเริ่มกระบวนการผลิตแม่พิมพ์ด้วยตัวเองภายในบริษัท ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานของแผนกวิจัยและพัฒนา โดยลงทุนเครื่องไวร์คัทประสิทธิภาพสูงมาผลิตแม่พิมพ์ ทดแทนการสั่งจากภายนอก จนได้มาซึ่งการผลิตแม่พิมพ์คุณภาพสูงใช้เอง ทำให้ลดต้นทุนและเวลาให้น้อยลงอย่างมาก, การวิจัยและพัฒนาเพื่อออกแบบเครื่องหุ้มฉนวนให้มีการใช้พื้นที่อย่างประหยัด, การทดลองใช้ซอฟต์แวร์จำลองการออกแบบ เพื่อดูว่าชิ้นงานที่ผลิตจะออกมาเป็นเช่นไร จึงจะช่วยลดเวลาในขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ลงได้, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีสเกลใหญ่ขึ้น เช่น บัสบาร์ทองแดง ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ยืดหยุ่นและประหยัดต้นทุนมากกว่าในการผลิตแบบจำนวนน้อย, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ “ระบบรางไฟฟ้า WAKAI” ที่มีคุณสมบัติเด่นในการลดความสูญเสียทางไฟฟ้า ปลอดภัย และง่ายต่อการซ่อมบำรุง ที่สำคัญลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้มากเนื่องจากราคาโดยรวมถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลิตภัณฑ์นี้ได้รับสิทธบัตรการออกแบบจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย
“แต่พึ่งเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวก็อาจไม่เพียงพอต่อการแข่งขัน เราจึงสร้างทีมของเราขึ้นมา เพื่อสนับสนุนให้มีการวิจัยของเราเอง เรียนรู้กันใหม่ทั้งหมดจากเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องแล้ว เราก็ต้องใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง”
ทั้งหมดนี้เอง เมื่อรวมกับความร่วมมือและความมุ่งมั่นตั้งใจทั้งจากผู้บริหารและพนักงาน จึงกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ บริษัท ยูไนเต็ดคอปเปอร์ จำกัด ได้รับการรับรองคุณภาพอย่างต่อเนื่องจากหลายสถาบัน และยังคงมุ่งมั่นจะพัฒนาต่อไปในอนาคตอีกด้วย
“ อยากจะฝากถึงผู้รับช่วงต่อธุรกิจใดๆ ก็ตามว่า ธรรมชาติแล้วทุกคนต่างมีความชอบส่วนตัว แต่ความชอบก็คือความชอบ ธุรกิจก็คือธุรกิจ ในเมื่อเป็นหน้าที่ที่ต้องรับช่วงต่อ เราน่าจะหาทางนำความชอบหรือความถนัดนั้นมาประยุกต์ใช้ร่วมกับพื้นฐานธุรกิจที่เรามี ซึ่งเป็นเรื่องต้องค้นหา เรียนรู้ ทำความเข้าใจ ซึ่งต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของความเป็นจริง ทำงานอย่างเข้มแข็งอดทน จึงจะมีช่องทางประสบความสำเร็จได้ ซึ่งผลที่ได้ อาจจะพาเราไปสู่ บุคคลใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ๆ มากกว่าที่เราคาดคิดได้ สำหรับเพื่อนร่วมธุรกิจในประเทศไทย ผมก็อยากให้มีความช่วยเหลือกัน มีความยืดหยุ่นต่อกันมากขึ้น ดูเราให้เป็นคลัสเตอร์ ช่วยเหลือกันจนได้สินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรมีครับ ”