คาดบาทแข็งผันผวนต่อ แนะธุรกิจตั้งรับก่อนกำไรหด

อัปเดตล่าสุด 30 ก.ค. 2562
  • Share :
  • 646 Reads   

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดกำไรของธุรกิจส่งออกหดหายถึง 6.6 หมื่นล้านบาท ผลจากทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทจนถึงสิ้นปี 5% ซ้ำเติมจากแนวโน้มส่งออกที่ชะลอตัวลง แนะผู้ส่งออกใช้เครื่องมือจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

ภาพรวมมูลค่าส่งออกไทยยังคงอ่อนแออยู่ จากตัวเลขการส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปีลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง -4% (ไม่รวมทองคำและอาวุธ) นอกจากนี้ธุรกิจส่งออกไทยยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงกับความผันผวนสูงขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของทิศทางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้าสำคัญต่างๆ อาทิ จีน ยุโรป ฯลฯ และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่การเปลี่ยนท่าทีของธนาคารกลางหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรโซน และญี่ปุ่น มีแนวโน้มไปในทางผ่อนคลายมากขึ้น กอรปกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเข้ามาในไทยต่อเนื่อง ประเมินว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้ค่าบาทแข็งค่า ส่งผลให้สิ้นปี 2562 คาดการณ์ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ 31.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่า 5% จากปลายปี 2561

จากปัจจัยกดดันดังกล่าว นอกจากจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว ในระดับธุรกิจเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งผลกระทบจะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ ทำการประเมินผลกระทบของค่าเงินบาทต่อรายได้ของธุรกิจไทย โดยสรุปแล้วทั้งปี 2562 ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น 5% จะทำให้อัตรากำไรขั้นต้น (Gross profit margin) ของผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ -3.2% ไปถึง +4.9% หรือคิดเป็นกำไรที่หายไปประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท (ตามรูป) ซึ่งแยกผลกระทบค่าเงินต่อธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

1. ธุรกิจที่เสียประโยชน์ พบว่าธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก จะได้ผลกระทบมากที่สุดจาก ทำให้รายได้ผู้ประกอบการหายไปกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้น ลดลงจากระดับปกติ 0.3 - 3.2% กลุ่มธุรกิจที่ถูกกระทบมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และเครื่องประดับ

2. กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ คือ ธุรกิจขายในประเทศและนำเข้าวัตถุดิบเป็นหลัก ค่าเงินบาทแข็งค่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบที่เป็นเงินต่างประเทศน้อยลง 6.2 หมื่นล้านบาท และส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น เพิ่มขึ้นจากระดับปกติกว่า 0.3-4.9% ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ เครื่องจักร/ชิ้นส่วน เหล็ก/โลหะ เวชภัณฑ์/เครื่องมือการแพทย์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งทอต่าง ๆ

3. กลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ คือ ธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออก แต่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิต ซึ่งทำให้ธุรกิจสามารถป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วยลักษณะของตัวธุรกิจเอง (Natural Hedging) กลุ่มธุรกิจดังกล่าว ได้แก่ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องดื่ม และเคมีภัณฑ์

กล่าวโดยสรุป ทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปีนี้ จะสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจที่ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกที่ต้องใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาอื่นๆที่รุมเร้าอยู่แล้ว เช่น ระดับราคาสินค้าที่อยู่ในระดับต่ำ ตลาดโลกชบเซา การแข่งขันจากประเทศอื่น มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มทางเลือกในการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่เรื่องเปิดตลาดใหม่ ๆ ทำผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม จนไปถึงการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถรักษาศักยภาพการทำกำไร และยังคงมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศต่อไป

สนับสนุนบทความโดย : ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี