ถอดรหัสอีอีซี เชื่อมโลก ให้ไทยแล่น

อัปเดตล่าสุด 7 ก.พ. 2563
  • Share :

EEC : Eastern Economic Corridor โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นพระราชบัญญัติพัฒนาเชิงพื้นที่ฉบับแรกของประเทศไทย ที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือ Eastern Seaboard

โดยระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อรองรับการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพผ่านกลไกการบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ประตูบานสำคัญสู่เอเชีย (The Prime Gateway to Asia)

ภูมิภาคเอเชียถือเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนโลก ด้านการลงทุน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย รวมทั้งอาเซียน เป็นพลังหลักในการขับเคลื่อน ด้วยประชากรรวมของเอเชียกว่า 3.5 พันล้านคน และ GDP คิดเป็น 32% ของ GDP โลก ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับกลุ่มเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย เหนือจรดใต้ ตั้งแต่จีนถึงอินโดนีเซีย ตะวันออกจรดยังตะวันตก ตั้งแต่เวียดนามข้ามไปเมียนมา และเป็นจุดยุทธศาสตร์ของกลุ่มประชาคมอาเซียน (AEC) ในด้านการผลิต การค้า การส่งออก และการขนส่ง ทั้งยังอยู่กึ่งกลางของประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจึงเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดของการลงทุนในอาเซียนเพื่อเชื่อมเอเชีย และเชื่อมโลก

มหานครแห่งอนาคต (METROPOLIS OF THE FUTURE)

กว่า 30 ปีที่ผ่านมา พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard คือศูนย์กลางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับทั่วโลก เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย เป็นฐานการผลิตยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก พร้อมท่าเรือน้ำลึก และโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เป็นแหล่งพลังงาน และวัตถุดิบสำหรับการผลิต เป็นแหล่งจ้างงาน และแรงงานทักษะสูงที่สำคัญของเอเชีย พื้นที่นี้จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมและมีศักยภาพสูงที่สุดในการพัฒนาต่อยอด

รัฐบาลจึงมีความตั้งใจผลักดันพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยยกระดับขึ้นเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC บนพื้นที่ 13,285 ตารางกิโลเมตร ที่พร้อมจะเป็นเขตศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และเป็นที่ตั้งของสำนักงานระดับภูมิภาคของบริษัทชั้นนำระดับโลก เป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน การขนส่ง เพื่อยกระดับประเทศไทยศูนย์กลางเศรษฐกิจเอเชียในทศวรรษที่จะมาถึง

การเชื่อมต่อแบบบูรณาการ (The Integrated Connection)

การพัฒนาเพื่อขยายระบบการคมนาคม และโลจิสติกส์อย่างเต็มรูปแบบ และครบวงจร

การพัฒนาทางอากาศ สนามบินอู่ตะเภาได้รับการยกระดับให้เป็นสนามบินนานาชาติด้วยรันเวย์ขนาดมาตรฐาน อาคารผู้โดยสารที่ทันสมัยเพื่อรองรับนักธุรกิจ และผู้โดยสาร ในระยะ 5 ปีแรก จะเพิ่มขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคน เป็น 15 ล้านคน และจะพัฒนาให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั้งยังสามารถรองรับธุรกิจการขนส่งสินค้า และโลจิสติกส์อย่างครบวงจร นอกจากนี้ยังได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มกำลังให้เป็นศูนย์กลางสำหรับซ่อมอากาศยานที่ทันสมัยที่สุด รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบินต่าง ๆ เมื่อผสานกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิจะส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาคเอเชีย

การพัฒนาทางบก เริ่มจากโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และขยายมอเตอร์เวย์ 
การก่อสร้างทางหลวง ทั้งในส่วนของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ – ชลบุรี จะดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายจากพัทยา – มาบตาพุด และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 61 แหลมฉบัง – นครราชสีมา เป็นโครงการตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี ฉบับใหม่ (พ.ศ.2560 – 2579) เพื่อเชื่อมต่อภาคตะวันออกกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
การก่อสร้างรถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งระหว่างจังหวัดระยอง ท่าเรือแหลมฉบัง เข้ากับกรุงเทพฯ และภาคอื่น ๆ โดยก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย
การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน กรุงเทพฯ – ระยอง ให้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงพื้นที่อุตสาหกรรมหลักกับกรุงเทพฯ และเชื่อมท่าอากาศยานหลักทั้ง 3 แห่งเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ จะก่อสร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา รวมทั้งจะมีการศึกษาเพื่อก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงศรีราชา – มาบตาพุด – ระยอง – จันทบุรี – ตราด 

การพัฒนาทางน้ำ

ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือหลักในการขนส่งตู้สินค้า และรถยนต์จะได้รับการขยายให้มีศักยภาพพร้อมรับจำนวนตู้สินค้าได้มาถึง 18 ล้าน TEU/ปี และรถยนต์ 3 ล้านคัน/ปี ซึ่งจะส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังก้าวขึ้นเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าติดอันดับ 1 ใน 15 ของโลก เป็นประตูสู่อินโดจีนศูนย์กลางโลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญที่สุดของอาเซียน 
ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 สำหรับเรือสินค้าเหลว และก๊าซธรรมชาติ อันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตพลังงานและรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีชั้นสูงของประเทศ
ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ จะส่งให้เป็นท่าเรือสำหรับจอดเรือสำราญที่ทันสมัยได้มาตรฐานระดับโลก อีกทั้งรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเรือ และการประกอบแท่นขุดเจาะน้ำมัน พัฒนาท่าเรือเฟอรี่เพื่อเชื่อมต่อจุดท่องเที่ยวหลัก และเชื่อมการเดินทางระหว่าง 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทยเป็นครั้งแรก

ตั้งเป้าภายในปี 2020 นี้ ประเทศไทยจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมกับท่าเรือทั้ง 3 แห่ง และสนามบินนานาชาติทั้ง 3 แห่ง


เหล่านี้ จะทำให้ EEC กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคม และโลจิสติกส์ของภูมิภาคเอเชียอย่างครบวงจร จุดเปลี่ยนที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นไปสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่ทันสมัย และธุรกิจการค้าที่ครบวงจร โดยเน้นส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมหลักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม พร้อมเพิ่มอุตสาหกรรมใหม่ นอกจากนี้ ยังขยายเขตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มาบตะพุดให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า จัดตั้งเขตปลอดภาษีอากรบริเวณท่าเรือและสนามบิน ตลอดจนจัดตั้งเขตเสรีทางการค้าพิเศษที่จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดทางภาษี และทางการเงิน เพื่อให้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ บริษัทการค้าระหว่างประเทศ ศูนย์บริหารเงิน ศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับภูมิภาคของบริษัทชั้นนำต่าง ๆ รวมไปถึงการจัดตั้งเขตนวัตกรรม และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล นอกจากยกระดับอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ แล้ว ยังมุ่งส่งเสริมและสร้างความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค อีกทั้งยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการแพทย์แบบครบวงจร เพื่อความสมบูรณ์แบบของการใช้ชีวิตทุกคนในพื้นที่อีกด้วย

EEC จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการลงทุนเพื่ออนาคต มหานครเมืองใหม่ที่เปิดประตูเศรษฐกิจไทยสู่ความสำเร็จในอาเซียน ศูนย์กลางที่สำคัญของทวีปเอเชีย 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : https://www.eeco.or.th/