เชื่อมโยงและคงสิทธิประกันสังคม เพื่อคุ้มครองแรงงานทั้งอาเซียน

อัปเดตล่าสุด 13 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 815 Reads   

ในอนาคต การเคลื่อนย้ายแรงงานภายในอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การเดินทางและการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับตำแหน่งงานในต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายถูกลง และสะดวกมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาทั้งในเชิงเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศอาเซียนที่ดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและนอกภูมิภาค ซึ่งจะตามมาด้วยแรงงานที่เข้าไปมีส่วนในการพัฒนาประเทศดังกล่าว

ความสำคัญของแรงงานข้ามชาติต่อการพัฒนาประเทศแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการให้ความคุ้มครองทางสังคมแก่กลุ่มคนเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิประกันสังคมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับช่วงวัยทำงาน ซึ่งมาตรฐานขั้นต่ำของระบบประกันสังคมตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 102 (Social Security (Minimum Standards) Convention) ประกอบด้วยสิทธิประโยชน์ 9 ด้าน ได้แก่ กรณีชราภาพ, กรณีทุพพลภาพ, สิทธิประโยชน์ที่ให้แก่ทายาทกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต, การรักษาพยาบาล, สิทธิประโยชน์เมื่อเจ็บป่วย, กรณีคลอดบุตร, กรณีว่างงาน, กรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน และสิทธิประโยชน์สำหรับครอบครัว

ซึ่งการได้รับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่ครบถ้วนรอบด้านย่อมทำให้แรงงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ มีความช่วยเหลือรองรับ เมื่อเกิดกรณีต่างๆ และมีหลักประกันทางสังคมที่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตเมื่อถึงวัยเกษียณอายุ

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียนอาจยังไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมเพียงพอ อันเนื่องมาจากอุปสรรค 3 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทางสังคมในหลายประเทศอาเซียน ยังไม่ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติ เช่น มาเลเซียไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์กรณีทุพพลภาพและบำนาญแก่ทายาทในกรณีผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตด้วยเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน ดังนั้น ประเทศอาเซียนจึงควรมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิประกันสังคมในประเทศปลายทางได้

ประการที่สองคือ แม้แรงงานข้ามชาติจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกระบบประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบไปแล้ว แต่อาจเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ประกันสังคม เนื่องจากการขอรับสิทธิประโยชน์ในบางประเทศยังมีช่องทางจำกัด ในหลายประเทศยังกำหนดให้ผู้ประกันตนต้องไปแสดงตนพร้อมเอกสารประกอบฉบับจริง ซึ่งจะก่อให้เกิดต้นทุนในการเดินทางและขาดงานเนื่องจากต้องไปทำเรื่องภายในเวลาทำการ โดยในปัจจุบันมีเพียงมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์เท่านั้นที่มีช่องทางการขอรับสิทธิประโยชน์ online นอกจากนี้ช่องทางการจ่ายสิทธิประโยชน์เองก็จำกัด

แม้ในปัจจุบัน ประเทศอาเซียนส่วนมากมีการจ่ายสิทธิประโยชน์เข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งสะดวกและปลอดภัยกว่าการให้เข้าไปรับเงินสดหรือเช็คที่สำนักงาน แต่ในหลายประเทศ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ยังไม่มีการจ่ายสิทธิประโยชน์ออกนอกประเทศ (Exportability) หากแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการจ่ายเงินก่อนที่จะถึงกำหนดกลับประเทศก็จำเป็นต้องเดินทางเข้ามารับสิทธิประโยชน์ในประเทศด้วยตนเอง ซึ่งทางแก้อุปสรรคนี้คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทั้งช่องทางการรับเรื่องแบบ online และการใช้เทคโนโลยีการเงินรูปแบบใหม่ เช่น QR Code รับจ่ายเงินสิทธิประโยชน์

ประการสุดท้ายคือ สิทธิประโยชน์ประกันสังคมบางประการเป็นสิทธิประโยชน์ระยะยาวที่ต้องอาศัยการสะสมเงินสมทบหลายปี กว่าจะเกิดสิทธิ เช่น สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพในเวียดนามต้องมีการสะสมนานถึง 20 ปีถึงจะมีสิทธิ สำหรับแรงงานข้ามชาติที่มี การเคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศอื่นทำให้ไม่สามารถสะสมเงินสมทบได้ตามเงื่อนไข แนวทางการแก้ไขอุปสรรคนี้คือการเคลื่อนย้ายและคงสิทธิ (Portability) ประกันสังคม หมายถึง ความสามารถที่จะคงไว้ รักษา และเคลื่อนย้ายถ่ายโอนสิทธิประกันสังคมที่ต้องได้รับ หรือสิทธิที่อยู่ในกระบวนการที่จะต้องได้รับ โดยไม่ขึ้นอยู่กับสัญชาติและประเทศที่มีถิ่นพำนัก ซึ่งจะช่วยให้ แรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ระยะยาว ที่มีเงื่อนไขการสะสมเงินสมทบเป็นระยะเวลา นานหลายปี ผ่านการนับรวมระยะเวลาส่งเงิน สมทบในประเทศต่างๆ โดยมีเครื่องมือ คือการทำความตกลงประกันสังคม (Social Security Agreement-SSA)

ในปัจจุบันหลายประเทศได้มีการทำความตกลง SSA ทั้งในแบบพหุภาคีในระดับภูมิภาค เช่น กลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR) และระดับทวิภาคี เช่นฟิลิปปินส์ ที่มีความตกลงประกันสังคมกับอีก 13 ประเทศ  แต่ไม่มีกับประเทศอาเซียนด้วยกัน

หากพิจารณาถึงแนวโน้มการเคลื่อนย้ายแรงงานที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และการเป็นสังคมสูงวัยและสังคมอายุยืนที่จะทำให้ หลักประกันทางสังคมมีความจำเป็นมากขึ้นแล้ว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะหันมาสนใจให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และเพื่อให้แรงงานสัญชาติตนที่ไปทำงานในประเทศอื่นได้รับความคุ้มครองแบบเดียวกัน

สนับสนุนบทความโดย :  TDRI สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) www.tdri.or.th