Micro Precision เผยเคล็ดลับสู้วิกฤต เลือกรับงาน ลงทุน R&D มุ่งเครื่องมือแพทย์

Micro Precision เผยเคล็ดลับสู้วิกฤต เลือกรับงาน ลงทุน R&D มุ่งเครื่องมือแพทย์

อัปเดตล่าสุด 23 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 1,106 Reads   

บริษัท ไมโคร ปรีซิชั่น จำกัด (Micro Precision Co., Ltd.) หนึ่งในผู้ผลิตแม่พิมพ์และชิ้นงานอะลูมิเนียมแถวหน้าของไทย บ่มเพาะประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง สำหรับชิ้นงานที่ต้องการความเที่ยงตรงสูงมายาวนาน โดยทายาทรุ่นที่สอง คุณวรุตม์ รวยสว่างบุญ ได้เผยถึง ความท้าทายในการทำธุรกิจท่ามกลางวิกฤตการค้า และเคล็ดลับในการต่อสู้กับวิกฤต

ภายในงาน M Talk “The next Money Machine-ฟัง G2 คุยธุรกิจใหม่” ซึ่งจัดโดย "ข่าวออนไลน์ M Report เพื่ออุตสาหกรรมการผลิต" เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ  หนึ่งในวิทยากร "คุณวรุตม์ รวยสว่างบุญ" ได้เปิดเผยถึง วิกฤตการค้าที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทั่วโลกร่วมเผชิญ แต่สิ่งจำเป็นคือการลดต้นทุนเดิม ลงทุนเพิ่ม และมองหาโอกาสใหม่ ซึ่ง ไมโคร ปรีซิชั่น มุ่งโฟกัส "เครื่องมือแพทย์"

เลือกงานที่มีแต่เราเท่านั้นที่ทำได้

ไมโคร ปรีซิชั่น เองก็ไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ หลายรายที่มีการแบ่งส่วนธุรกิจ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน และประสบปัญหาในช่วงขาลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเกิดจากการย้ายฐานผลิต ยอดขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป การเข้ามา Disrupt ตลาดโดยรถยนต์ไฟฟ้า และแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเองก็มีการเปลี่ยนแปลงจนในไทยเข้าสู่ขาลงเช่นกัน ทำให้เกิดการสูญเสียลูกค้า และจำเป็นต้องหาลูกค้ารายใหม่ทดแทน ซึ่งบริษัท ตัดสินใจหาลูกค้ารายใหม่ด้วยการออกบูธตามสถานที่ต่าง ๆ ไปร่วมอีเวนท์ในภาคธุรกิจใหม่ ๆ จนในท้ายสุด ก็มาลงตัวที่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

“ผมมองว่า เริ่มต้นเราต้องรู้ว่า บริษัทเรา มีต้นทุนเดิมอย่างไรบ้าง มีเครื่องจักรใดในโรงงาน และการลงทุนใหม่นั้น ควรให้ความสำคัญกับระบบอัตโนมัติ และซอฟต์แวร์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ไม่อาจละเลยการลงทุนเครื่องจักรเพิ่มควบคู่ไปด้วย เนื่องในใจปัจจุบัน งานง่าย ๆ ไม่เหลืออยู่ในเมืองไทยแล้ว เหลือแต่งานที่ยากขึ้น เช่น งาน High Precision หรืองานที่ต้องมีการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างต่อเนื่อง ทำให้เราจำเป็นต้องเลือกงานที่มีแต่เราที่ทำได้ เนื่องจากงานอื่น ๆ นั้น ล้วนไหลออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านเราหมดแล้ว”

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ความท้าทายที่ควรลงแข่ง

ไมโคร ปรีซิชั่น ได้รับงานด้านเครื่องมือแพทย์มาจากบริษัทญี่ปุ่นรายหนึ่ง ซึ่งคุณวรุตม์แสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่อยากให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยลองพิจารณา เนื่องจากเป็นการทำสัญญาระยะยาว 10 ปี ซึ่งมีระยะเวลานานกว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่โดยทั่วไปมีระยะประมาณ 5 ปี 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ทางบริษัทกำลังรอดำเนินการผลิต สงครามการค้าจีน - สหรัฐ ก็เริ่มขึ้น รวมไปถึงการแบนนานาชาติจากการส่งออกสินค้าไปขายในอิหร่าน ซึ่งในกรณีของไมโคร ปรีซิชั่น​ ที่มี Panasonic เป็นลูกค้า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงรุนแรงมาก พนักงานที่มีงานรองรับกลายเป็นว่างงาน ทำให้ทางบริษัทต้องเร่งหางานใหม่ เนื่องจากไม่อาจรอออเดอร์เป็นเวลาหลายเดือนได้ การปรับตัวอย่างรวดเร็วจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งคุณวรุต ได้เลือกนำแผนการลงทุนในอนาคตมาลงทุนเลย ด้วยการลงทุนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพิ่ม แทนที่พนักงานด้วยระบบอัตโนมัติ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายต่อเดือน ซึ่งในช่วงนั้น เป็นช่วงที่ยังไม่มีข่าวการปิดโรงงานนักอย่างทุกวันนี้ พนักงานจึงไม่กังวลกับการหางานใหม่ ทำให้เมื่อออเดอร์ลดลง งานล่วงเวลาจึงลดลงตาม และมีพนักงานที่ตัดสินใจออกจากบริษัทด้วยตนเองด้วย

ลงทุน R&D คิดเผื่อลูกค้า นำมาซึ่งรายได้ที่มั่นคง

อีกสิ่งที่ ไมโคร ปรีซิชั่น ให้ความสำคัญ คือ การทำ R&D ภายในบริษัท โดยตัดสินใจนำออเดอร์ทั้งหมดที่ได้รับกลับขึ้นมาตรวจสอบ ลงทุนทำ R&D ใหม่ พัฒนาแม่พิมพ์ให้ลูกค้าฟรี รวมไปถึงลูกค้าที่ไม่ได้ซื้อต่อ แต่แม่พิมพ์กำลังจะหมดอายุ เพื่อแลกกับคำมั่นสัญญาในการให้ออเดอร์เพิ่มเติมในระยะยาว เพื่อทดแทนออเดอร์รายเดือนในส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งส่วนมากลูกค้าก็พึงพอใจ เนื่องจากการทำ R&D ของแม่พิมพ์มีความสำคัญต่อการผลิตชิ้นงานโดยตรง งานจะดีหรือไม่ ราคาสูงหรือต่ำ ก็ขึ้นอยู่กับแม่พิมพ์ทั้งสิ้น ทางบริษัทฯ จึงลงทุนซื้อซอฟต์แวร์จำลอง (Simulate) แม่พิมพ์เพิ่ม เพื่อจัดเป็นแพคเกจให้กับลูกค้า ลดจำนวนครั้งการทดลองแม่พิมพ์จาก 5 - 6 ครั้ง ที่ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เหลือเพียง 2 สัปดาห์ ลดขั้นตอนการทำงานภายในให้สั้นลง ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าแล้ว ยังเปรียบได้กับการซื้อใจลูกค้าอีกด้วย

“สิ่งที่ผมอยากเน้นยำจริง ๆ ในวันนี้ คือ ปัจจุบันการออกไปหาออเดอร์งานใหม่จากข้างนอกเป็นเรื่องยากมาก คู่แข่งทั้งในไทยเอง และต่างชาติ ล้วนแข่งขันรุนแรงกว่าแต่ก่อน สิ่งที่เราทำได้จึงเป็นการตรวจสอบทุกอย่างที่มี เน้นลด Fixed Cost และต้นทุนในระยะยาว โดยคำนึงถึง Effiency ที่ได้เป็นหลัก ซึ่งในเวลาที่ยอดขายหายไปเช่นนี้ หากโรงงานมี Effiency ก็ย่อมสามารถทำกำไรได้อย่างแน่นอน”

รักษามันสมอง

แม้จะมีการนำหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยลดแรงงานก็จริง แต่ก็จำเป็นต้องรักษามันสมองขององค์กรเอาไว้ จนเมื่อวิกฤตผ่านไปแล้ว บุคลากรเหล่านี้เอง ที่จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้บริษัทสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ต่อไป

จะเห็นได้ว่า ไมโคร ปรีซิชั่น ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีการบริหารความเสี่ยงด้วยการแบ่งภาคธุรกิจ พร้อมลงมือปรับตัวอย่างรวดเร็วในทันทีที่เกิดวิกฤตขึ้น ส่งผลให้แม้จะประสบปัญหาเช่นเดียวกับที่ผู้ประกอบการไทย หรือทั่วผู้ประกอบการทั่วโลกหลายรายต้องเผชิญ ก็สามารถฟื้นตัว และอยู่รอดได้ด้วยการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่ตนมีความพร้อม รวมถึงการชนะใจลูกค้า เพื่อให้บริษัทมีความมั่นคงได้ในที่สุด

 

บรรยากาศภายในงาน M Talk เสวนา 90 นาที “The next Money Machine - ฟัง G2 คุยธุรกิจใหม่”