คุณชาติชาย คงลิ้ม จากบริษัท เชี่ยวชาญ อินดัสทรี่ เผย "ความร่วมมือ" คือคำตอบของอุตสาหกรรมยานยนต์
“ชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจที่ต้องแข่งขันระดับสากล ผมเชื่อมั่นการจับมือกันของผู้ประกอบการไทย จะช่วยเพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาอุตสาหกรรมไทยได้อย่างยั่งยืน”
อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน จนทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะที่สำคัญของโลก และส่งออกยานยนต์สูงเป็นอันดับที่ 12 รวมถึงการเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนยานยนต์คุณภาพที่สำคัญในตลาดโลกอีกด้วย ดังนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยจึงเป็นดาวจรัสแสงมาอย่างยาวนาน จึงเป็นที่แน่นอนว่า การแข่งขันย่อมมีความเข้มข้นไม่แพ้กัน
เชี่ยวชาญ อินดัสทรี่ (CCI Group) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยคุณเชี่ยวชาญ คงลิ้ม ก่อนจดทะเบียนใหม่ในปี พ.ศ. 2532 ด้วยชื่อ “บริษัท เชี่ยวชาญ อินดัสทรี่ (1989) จำกัด” ประกอบธุรกิจผลิตและประกอบชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานยนต์และจักรยานยนต์ รวมถึงชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องจักรกลการเกษตร โดยมีลูกค้าหลักเป็นผู้ผลิตยานยนต์หลายราย ทั้งในระดับเทียร์ 1 และเทียร์ 2 รวมไปถึงค่ายยานยนต์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในระดับสากลหลายค่าย ไม่ว่าจะเป็นฮอนด้า ฮีโน่ อีซูซุ คาวาซากิ ยามาฮ่า และอื่น ๆ จวบจนปัจจุบันนี้ บริษัทได้เติบโตจนเป็นกลุ่มบริษัท CCI หรือ CCI Group ซึ่งมีบริษัทในเครือ 6 บริษัท พนักงานรวมกว่า 3,000 คน และโรงงานผลิตหลัก 3 แห่งที่จังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และระยอง
สายการผลิตที่หลากหลาย ทั้งงานปั๊มโลหะ (Press), งานขึ้นรูปและดัดท่อ (Pipe & Bending), งานเชื่อม (Welding), งานกัดกลึง (Machining), งานชุบผิว (Surface Treatment) รวมถึงงานประกอบและตรวจวัดคุณภาพ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดนั้น ทำให้กระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่นำมาใช้มีความแตกต่างกัน รวมถึงรายละเอียดและข้อกำหนดที่มีความเฉพาะเจาะจงของแต่ละลูกค้า ท่ามกลางการแข่งขันภายในตลาดที่มีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับปัญหาด้านต้นทุนการผลิต ทั้งค่าแรงและราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้การผลิตในรูปแบบเดิมอย่างที่แล้วมา ไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า จึงเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับ คุณชาติชาย คงลิ้ม ผู้รับไม้ต่อ ในการผลักดันให้ธุรกิจรุกคืบต่อไปอย่างไร
ด้วยความเชื่อมั่นการจับมือกันของผู้ประกอบการไทย คุณชาติชายจึงได้เข้าร่วมในกลุ่มผู้ประกอบการด้านการผลิตชิ้นส่วน อาทิเช่น สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เป็นต้น ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสและต่อยอดธุรกิจหลายอย่างให้บริษัท รวมถึงแนวคิดในการลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยี ที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจ โดยแต่ละปีจะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเพิ่มศักยภาพในการทำงาน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น
ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ก่อนหน้านี้ระบบการผลิตของบริษัทฯ เป็นระบบการผลิตแบบผลัก และใช้เอกสารในการบันทึกข้อมูล ทำให้การผลิต การประสานงาน การสื่อสารมีโอกาสเกิดความผิดพลาดและความสูญเสียในด้านต่าง ๆ บริษัทฯ จึงได้พัฒนาระบบการผลิตแบบ CPS (CCI Production System) ที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเงื่อนไขการผลิตที่มีความผันผวน โดยระบบการผลิตนี้จะทำหน้าที่ควบคุมการผลิต การสต็อกชิ้นงาน และการส่งมอบ
ด้านเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง การลงทุนเครื่องจักรใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง เช่น เครื่อง Bending ระบบ Servo ที่สามารถสั่งงานโดยใช้โปรแกรม 3D และสามารถดัด Pipeได้ 2 Size 4 Step ในเครื่องเดียวกัน เครื่อง Rotary Swagoing Machine ที่สามารถตี Pipe ให้ได้ขนาดตามที่ต้องการอย่างแม่นยำ เครื่อง Welding Robot และ Welding Jig ที่สามารถเชื่อมชิ้นงานพร้อมโต๊ะหมุนได้รอบตัว เครื่องปั๊มขนาดใหญ่ที่สามารถปั๊มงานเหล็กแผ่น ขนาด 500 - 600 ตัน เพื่อรองรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีการเติบโตทุกปี รวมถึงการลงทุนด้านเครื่องมือวัดที่ทันสมัย นำมาใช้ตรวจสอบชิ้นงานให้มีความแม่นยำ เพื่อรับประกันคุณภาพชิ้นส่วนก่อนส่งมอบ
ด้านออโตเมชัน หรือ ระบบอัตโนมัติ เช่น การสร้างไลน์ชุบสีด้วยระบบไฟฟ้า (EDP) แบบอัตโนมัติ
“สำหรับจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ ก็ต้องบอกว่า เราได้รับความร่วมมือจากพนักงานของเราเองด้วย ที่ยอมรับเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่นำเข้ามาใช้ในบริษัท เช่น ระบบการันตีคุณภาพ ISO ระบบการผลิต CPS รูปแบบใหม่ของเราเอง โดยเน้นในเรื่องของคุณภาพเป็นหลัก”
นอกจากนี้ คุณชาติชาย ได้กล่าวย้ำว่า หากบุคลากรไม่มีความพร้อม การลงทุนทางเทคโนโลยีก็อาจทำให้การลงทุนนั้นได้ผลไม่เต็มที่ ด้วยเหตุนี้เอง การพัฒนาพื้นฐานให้พร้อมก่อน จึงจะทำให้การนำเทคโนโลยีเข้าใช้ประสบความสำเร็จ และให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า
ด้วยเหตุนี้เอง คุณชาติชาย จึงเล็งเห็นว่า เทคโนโลยีที่นำมาใช้ จะต้องเป็นสิ่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายจากพนักงานทุกระดับในองค์กร ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรไปในตัว และบุคลากรเหล่านี้เอง ที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีทิศทางเดียวกันมากยิ่งขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสายการผลิตอื่น ๆ ต่อไป
“อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่กล้า หรือยังลังเลในการรับไม้ต่อ ผมมีคำแนะนำว่า ต้องทราบว่าองค์กรเราเป็นอย่างไร มีจุดดีจุดด้อยตรงไหน มองภาพรวมให้ออก อย่ากลัวว่าส่วนไหนจำเป็นต้องพัฒนา ส่วนไหนต้องปรับลด และต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ และเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม”
จะเห็นได้ว่า ความรู้ความเข้าใจต่อองค์กร ทั้งภายใน และภายนอก รวมถึงความร่วมมือจากภายในเอง คือสิ่งสำคัญที่ผลักดันให้การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ของคุณชาติชาย คงลิ้ม ประสบความสำเร็จ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับความคิดแบบเดิมๆ และอาศัยความยืดหยุ่น รู้จักเลือก และปรับใช้สิ่งต่างๆ ให้เข้ากับองค์กรอย่างเหมาะสม