คุณเกรียงไกร มโนบูรชัยเลิศ ผู้ขับเคลื่อน C.C.S. Engineering สู่ความเป็นศูนย์กลางธุรกิจอากาศยานมาตรฐานสากล

อัปเดตล่าสุด 14 ก.พ. 2562
  • Share :
  • 1,630 Reads   

“บริษัทของคนไทยรายแรกที่ก้าวสู่ผู้นำในการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเพื่อการส่งออก โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ยุคอุตสาหกรรม 4.0”
 
ด้วยอุตสาหกรรมอากาศยานที่มีการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารทั่วโลก ซึ่งคาดการณ์ว่า ตัวเลขผู้โดยสารของสายการบินต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าทุก 15 ปี และจะเติบโตร้อยละ 3.8 ต่อปี ส่งผลให้ในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้โดยสารจะมีจำนวนมากถึง 7 พันล้านคนต่อปี ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนความต้องการอากาศยาน และนำมาซึ่งการผลิตชิ้นส่วน รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความสนใจในการเข้าสู่การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปสำหรับ ซี.ซี.เอส. บริษัทคนไทยรายแรกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน AS9100 และ NADCAP ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน
 

โดยบริษัท ซี.ซี.เอส.เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ก่อตั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2532 โดยคุณบุญเจริญ มโนบูรชัยเลิศ ได้มองเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ จึงขยายธุรกิจจากการผลิตชิ้นส่วนในหลายอุตสาหกรรม ทั้งยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, และบรรจุภัณฑ์ สู่ ‘อากาศยาน’ โดยเป็นบริษัทคนไทยรายแรกที่เข้าสู่วงการ การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน และได้รับการรับรองมาตรฐาน AS9100 และ NADCAP เพื่อผลิตและส่งออกให้กับผู้ผลิตอากาศยานทั้งในระดับเทียร์ 1 และ เทียร์ 2 โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่มีความเที่ยงตรงสูง หรือ Precision parts ที่ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป นอกจากนี้ ยังได้นำระบบ SAP ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยจัดการระบบงานในทุกสายงานของธุรกิจให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำมาใช้ควบคุมการดำเนินงานอีกด้วย
 
ปัจจุบัน ซี.ซี.เอส เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่สามารถให้บริการด้านงานผลิตแบบครบวงจร (One Stop Manufacturing Company) ด้วยเครื่องจักร CNC มากกว่า 300 เครื่อง และพนักงานมากกว่า 1,000 คน ทั้งในกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่อากาศยาน (Non-Aerospace) และกลุ่มธุรกิจอากาศยาน (Aerospace) ได้ส่งไม้ต่อให้ทายาทรุ่นที่ 2 “คุณเกรียงไกร  มโนบูรชัยเลิศ” นับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการสานต่อธุรกิจที่มีทั้งความกว้างในกลุ่มธุรกิจ และความยาก-ซับซ้อน-เข้มงวด ในสายธุรกิจอากาศยาน ดังนั้น ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงอย่างคุณเกรียงไกร จึงต้องมีความรอบรู้และประยุกต์ศาสตร์หลายๆ แขนงเข้าด้วยกัน กล่าวคือ เปิดกว้างในการนำเทคโนโลยีมาใช้, จำเป็นต้องติดตามข่าวสารอยู่เสมอ, และต้องสังเกตุกลไกของตลาดตลอดเวลา
 
“ทุก 4-5 ปี  เทคโนโลยีของเครื่องจักรจะมีการเปลี่ยนและพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ อยู่เสมอ ผู้ประกอบการต้องรู้จักลงทุนเพื่อยกระดับการผลิตของตนเองตลอดเวลา เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ให้ลูกค้าพึงพอใจ”
 
การใช้เทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เช่น การติดตั้งกระบวนการชุบผิวอะลูมิเนียม (Anodizing) ใหม่เพื่อทดแทนของเก่าทั้งระบบ ซึ่งกระบวนการชุบใหม่นี้มีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพดีกว่าของเดิม, การสั่งซื้อเครื่องจักร CNC Machining Center เข้ามาเพิ่มเติม และบางส่วนนำมาเปลี่ยนแทนเครื่องจักรเก่าเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยคำนึงถึงเทคโนโลยีที่จะได้ใช้ประโยชน์จากการลงทุนในเครื่องจักรรุ่นใหม่ๆ นั้น จะให้ความคุ้มค่าต่อการลงทุนทั้งในด้านเม็ดเงินที่ใช้จ่ายออกไป และด้านธุรกิจที่จะได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าเก่า สร้างความมั่นใจให้ลูกค้าใหม่ได้


 
“ในกระบวนการผลิตหลาย ๆ อย่าง เราไม่สามารถนำคนมาทำหน้าที่เหล่านั้นได้ การลงทุนในเทคโนโลยีและเลือกซื้อเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูง จะทำให้เราได้ชิ้นงานที่มีความแม่นยำสูง และรักษาความสม่ำเสมอของคุณภาพชิ้นงานได้”
 

ผลลัพธ์จากการลงทุนเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปีนั้น สนับสนุนให้สายธุรกิจอากาศยานที่มีความยาก-ซับซ้อน-เข้มงวดนั้น ได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตอากาศยานทั้งระดับ Tier 1 และ Tier 2 ทำให้ได้รับสัญญาการสั่งซื้อระยะยาว (Long-term Contract)  โดยอยู่ในโปรแกรมซัพพลายชิ้นส่วนให้อากาศยานรุ่นใหม่ๆ ทั้งจากค่าย Airbus, Boeing, MRJ, และอื่น ๆ ทำให้คาดการณ์ว่า ภาพรวมของ ซี.ซี.เอส. ภายใต้การบริหารงานของ ‘คุณเกรียงไกร มโนบูรชัยเลิศ’ จะเติบโตอย่างน้อย 20% ต่อปี