Lifelong Learning ใช้ต่อกรกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุค Disruption

อัปเดตล่าสุด 19 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 1,094 Reads   

สถานการณ์แรงงานโลกกำลังปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แรงงานซึ่งเป็นที่ต้องการในโลกอนาคตจำเป็นต้องเป็น “แรงงานทักษะสูง” รองรับการทำงานที่ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีได้ ส่งผลให้ภาวะการจ้างงานนั้นเปลี่ยนแปลงไป หลายภาคธุรกิจต้องการบุคลากรที่มีความรู้มีทักษะแบบใหม่เข้าทำงาน แต่ก็ประสบปัญหาในการหาแรงงานที่มีทักษะที่ตรงกับความต้องการ ซึ่งปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากแรงงานไม่สามารถจะใช้โอกาสที่เกิดขึ้นจาก technological disruption ได้อย่างเต็มที่ เพราะขาดการเรียนรู้ ขาดทักษะใหม่ แต่ทว่า ทักษะที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานนั้นก็อาจจะเปลี่ยนไปตาม demand ของธุรกิจ หรือปัจจัยความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังนั้น ทักษะ ที่เราพัฒนาในวันนี้ก็อาจจะไม่เป็นที่ต้องการในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่แรงงานจะต้องพัฒนาตัวเองต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง การส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือ Lifelong Learning อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้การพัฒนาและยกระดับทักษะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำธุรกิจให้อยู่รอดได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
 
จากรายงาน Talent Trends 2019 : Upskilling for a Digital World ของ PwC พบว่า 79% ของซีอีโอทั่วโลกที่ถูกสำรวจในปีนี้ แสดงความกังวลถึงการขาดแคลนทักษะแรงงานที่จำเป็นของพนักงานภายในองค์กรกำลังเป็นภัยคุกคาม ที่มีผลต่อการเติบโตขององค์กรในอนาคต เปรียบเทียบกับ 63% ในปี 2557 นับเป็นข้อยืนยันว่าความกังวลเกี่ยวกับทักษะได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ถือเป็นประเด็นความกังวลของผู้บริหารในทุกภูมิภาคทั่วโลก ยกตัวอย่าง เช่น ซีอีโอจากญี่ปุ่น 95% และยุโรปกลางและตะวันออก 89% แสดงความกังวลในประเด็นนี้มากที่สุด ในขณะที่ซีอีโอจากอิตาลี 55% และตุรกี 45% มีความกังวลเรื่องทักษะแรงงานน้อยที่สุด โดย 55% ของบรรดาซีอีโอที่มีความกังวลมากที่สุด กล่าวว่า ธุรกิจของพวกเขาไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอีก 52% บอกว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานสูงขึ้นรวดเร็วกว่าที่คาดไว้

จากปัจจัยดังกล่าวทำให้การเพิ่มพูนทักษะใหม่ (Upskilling) และเสริมสร้างทักษะเดิมที่มีอยู่ (Reskilling) กลายเป็นวาระสำคัญของซีอีโอทั่วโลก ผลสำรวจยังพบอีกว่าซีอีโอกำลังปรับเปลี่ยนวิธีปิดช่องว่างทางทักษะความสามารถให้กับแรงงานของตน โดยเกือบครึ่งหรือประมาณ 46% ของซีอีโอทั่วโลกกล่าวว่า การฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่ และการเพิ่มพูนทักษะใหม่ กลายเป็นโครงการความคิดริเริ่มที่มีความสำคัญที่สุดต่อการปิดช่องว่างทางทักษะ ตรงข้ามกันกับผู้บริหารเพียง 18% ที่กล่าวว่า จะว่าจ้างแรงงานที่มีทักษะจากภายนอกอุตสาหกรรมของตน ซึ่งผลสำรวจในปีนี้ยังตรงข้ามกับผลจากการสำรวจในปีที่ผ่าน ๆ มา ที่ระบุว่าซีอีโอกำลังมองหาแรงงานที่มีทักษะจากกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม และมีการจ้างแรงงานชั่วคราวจากภายนอก

ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับการปรับปรุงทักษะเดิมที่มีอยู่ของพนักงาน ยังเป็นที่ต้องการของพนักงานด้วย โดยผลจากการสำรวจพนักงานทั่วโลกจำนวนกว่า 12,000 ราย พบว่า พนักงานยินดีที่จะใช้เวลา 2 วันต่อเดือนในการเข้าฝึกอบรมเพื่อยกระดับทักษะทางด้านดิจิทัลของตนจากนายจ้าง

และจากผลสำรวจยังพบประเด็นน่าสนใจที่ว่า การลงทุนในการเพิ่มพูนทักษะทางด้านดิจิทัลนั้น เป็นแค่ส่วนหนึ่งของสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างแรงงานในอนาคต เพราะการจะทำให้พนักงานมีส่วนร่วมในการมีทักษะใหม่ ๆ ต้องอาศัยการมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ขององค์กรที่แข็งแกร่งที่ถูกผนวกเข้าไปกับสถานที่ทำงานที่มีคุณภาพสูงอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ รูปแบบของสถานที่ทำงานกำลังถูกปรับเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมๆ ที่มีอยู่มานานหลายสิบปี

ดังนั้น การเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong Learning อาจเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้การพัฒนาและยกระดับทักษะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้ทั้งแรงงานและธุรกิจสามารถรักษาขีดความสามารถไว้ได้ ซึ่งแนวคิดนี้เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายประเทศ
 
ตัวอย่างรัฐบาลที่ขับเคลื่อน Lifelong Learning มากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย คือ สิงคโปร์ ที่ได้กำหนดเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมประชาชนให้สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก dynamic future ด้วยการเสริมทักษะดิจิทัลให้กับประชาชนผ่านโครงการ SkillsFuture โดยมีเป้าหมายหลักคือ การพัฒนายกระดับความรู้และเสริมทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัลให้กับชาวสิงคโปร์มากกว่า 100,000 คน ในระยะเวลา 3 ปี

SkillsFuture Singapore (SSG) คือคณะกรรมการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่วางนโยบายและจัดงบประมาณพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้กับแรงงานและประชาชนทุกคนในทุกวัย รวมทั้งเด็กนักเรียน ผู้ที่ทำงานในระดับเริ่มต้นถึงระดับกลาง และคนทำงานในระดับสูง โดยโปรแกรมพัฒนาที่รู้จักกันดีคือ SkillsFuture Credit ที่ให้เงินงบประมาณอุดหนุนค่าเล่าเรียนจำนวน 500 เหรียญสิงคโปร์ให้กับพลเมืองทุกคนที่มีวัย 25 ปีขึ้นไป ที่ผ่านการอนุมัติให้เข้าคอร์ส และยังอุดหนุนการเรียนของคนทำงานในระดับกลางของอาชีพด้วย ในปี 2016 ได้จัดให้มีการเรียนถึง 18,000 คอร์ส มีผู้เข้าเรียนกว่า 126,000 คน โดย SkillsFuture มีการอบรม 8 ด้าน ประกอบด้วย Data Analytics, Finance, Tech-enabled Services, Digital Media, Cyber Security, Entrepreneurship, Urban Solutions และ Advanced Manufacturing โดยมี Institutes of Higher Learning (IHL) เป็นองค์กรที่รับผิดชอบพัฒนาหลักสูตรได้ถึง 800 หลักสูตร

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ยังได้ขยายโอกาสด้าน reskill และยกระดับทักษะ upskill ไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดหลักสูตรย่อยมากขึ้น หลักสูตรเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินล่วงหน้าแล้ว 70% และมีหลายหลักสูตรที่ได้ปรับให้เป็น Professional Conversion Programmes (PCPs) ซึ่งมีเป้าหมายผู้ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพในช่วงกลางของอาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะด้านการสนทนา และขยับขึ้นไปสู่อาชีพใหม่หรือไปอยู่ในภาคธุรกิจใหม่ ที่มีโอกาสมีแนวโน้มที่จะก้าวหน้า

Ong Ye Kung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (การศึกษาระดับสูงขึ้นและทักษะ) เปิดเผยว่า การสำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยด้วยเวลา 3-4 ปี ไม่ใช่เป็นจุดสิ้นสุดของการเรียนการศึกษา เพราะการเทรนนิ่งการเพิ่มทักษะมีความสำคัญมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในอนาคต มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอื่น จะมีบทบาทมากขึ้นในการศึกษาผู้ใหญ่ เพื่อส่งเสริมศิษย์เก่า SkillsFuture ไม่ใช่เรื่องของการเก็บหน่วยกิต และไม่ใช่เพียงการจัดหลักสูตรของ IHL ให้กับประชากรวัยผู้ใหญ่ แต่เป็นการปฏิรูประบบการศึกษา ที่เปิดให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ค้นหาความสนใจและความชื่นชอบของตัวเขาเองและมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นระบบที่ให้นายจ้างเอกชนที่ให้การเทรน และ IHL ต่างทำหน้าที่ของของตัวเองในการส่งเสริมการเรียนรู้ รวมไปถึงสังคมที่จะตอบรับและตระหนักถึงผลสำเร็จ

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยที่เป็นอิสระก็ได้ขยายขอบเขตของการมอบประกาศนียบัตรเพื่อแสดงถึงการให้ยอมรับตระหนักถึงความสำเร็จในการเรียนรู้ของบุคคล โดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่านการเรียนแบบทางการเต็มรูปแบบ อีกทั้ง องค์กรจากภาครัฐและเอกชนก็ได้ส่งเสริม Lifelong Learning โดยมีสถาบันการศึกษา 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (Nanyang Technological University: NTU) ได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ศิษย์เก่าและประชาชนทั่วไป โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ พัฒนาหลักสูตร NUS Lifelong Learners NUS L3 ให้กับศิษย์เก่าทุกคนไม่ว่าจะเรียนจบไปกี่ปีแล้วก็ตาม ได้มีโอกาสกลับมารื้อฟื้นความรู้ รวมทั้ง upskill และ reskill เพื่อให้มีความสามารถแข่งขันในตลาดแรงงานอยู่ตลอด

ทางด้านมหาวิทยาลัยหนานหยางประกาศอุดหนุนค่าเล่าเรียน 1,600 เหรียญสิงคโปร์ต่อหัวให้กับศิษย์เก่า ผู้ที่กลับเข้ามาเรียนคอร์สเสริมทักษะ ที่มีให้เลือกมากถึง 120 คอร์ส ตั้งแต่การเงินธุรกิจไปจนถึงการกราฟิกดีไซน์, data analytics, cloud computing, nanomaterials และ immunology ในแต่ละปีคอร์สเสริมทักษะจะเปิดรับผู้เรียนราว 5,000 คน ซึ่งศิษย์เก่าสามารเข้ามาเรียนได้ 2 คอร์สต่อปี เลือกจากคอร์สระยะสั้นที่มี 63 คอร์ส ใช้เวลาเรียน 1 วันไปจนถึง 1 สัปดาห์ หรือคอร์สที่ใช้เวลาเรียนกันเป็นเทอม มีตั้งแต่ 13-15 สัปดาห์ต่อเทอมและให้เลือก 55 คอร์ส และยังมี 8 คอร์สระดับปริญญาโทสำหรับผู้ที่สนใจในหัวข้อระดับสูงขึ้นไป บางคอร์สเป็นการสอนแบบออนไลน์

หันกลับมามองประเทศไทย การจะทำให้แรงงานไทยมีทักษะและความรู้ที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานตลอดเวลา จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องหมั่นเรียนรู้ พัฒนา ทักษะใหม่ ๆ ต่อเนื่องตลอดชีวิต แต่โจทย์สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้แรงงานได้พัฒนาทักษะ ใหม่ (reskill) ให้ทันต่อความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น อีกทั้งยังมีความแตกต่างระหว่าง แรงงาน 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่มีทักษะสูง-รายได้สูง และกลุ่มที่มีทักษะต่ำ-รายได้ต่ำ ปัจจัย ด้านการเงินและพื้นฐานการศึกษาที่แตกต่างกัน จะทำให้แรงงานทั้ง 2 กลุ่ม มีความต้องการและ ความพร้อมในการเรียนรู้ต่อเนื่องแตกต่างกัน ดังนั้นรัฐจึงควรมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน ให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้ต่อเนื่องที่ยืดหยุ่น เหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตแต่ละบุคคลและตรงกับ ความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงาน เพราะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม และปรับตัวเองได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุค Disruption
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิงเนื้อหาจาก: 
https://www.thaipost.net/main/detail/41332
https://www.skillsfuture.sg/
https://tdri.or.th/2019/05/live-long-learning-policy/

 

อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ :  www.ftpi.or.th