ผู้สร้างโรบอทในไทย Robots Maker in Thailand

ถอดบทเรียนโรบอท “จากผู้ประกอบการหุ่นยนต์สัญชาติไทย” ฝันให้ไกลต้องไปให้ถึง

อัปเดตล่าสุด 1 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 1,488 Reads   

จากทั้งปัญหาในการใช้โรบอท หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติในการผลิต รวมไปถึงการมองเห็นปัญหาในมุมของกลุ่มผู้พัฒนา หรือผลิตหุ่นยนต์ ทำให้เกิดการรวมตัวของวิศวกรที่รักการทำหุ่นยนต์ สู่ผู้ผลิตหุ่นยนต์สัญชาติไทย ในนามบริษัทเจ็นเซิฟ (GEN SURV) ที่วันนี้ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ MOI Robotics & Automation Innovator Awards 2019 


เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา มีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “MOI Robotics & Automation Innovator Awards 2019" ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน Thailand Industry Expo 2019 ภายใต้แผนพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติขึ้น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Center of Robotic Excellence : CoRE) ซึ่งมีหลายหน่วยงานและสถานประกอบการ ที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ยืนยันความสำเร็จ 

 

กว่าผู้ประกอบการเหล่านี้ จะประสบความสำเร็จ แน่นอนย่อมผ่านอะไรมากมาย
   ถ้าทางเดียวที่เราจะชนะได้ คือการเรียนรู้ให้ได้เร็วกว่าคนอื่น และจะดีแค่ไหน ? ถ้าเป็นการ  
  เรียนรู้จากปัญหาและอุปสรรคของผู้ที่ทำสำเร็จแล้ว ”

 

ประสบการณ์ตรงจากผู้ผลิตหุ่นยนต์สัญชาติไทย GEN SURV

เจ็นเซิฟ บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทย ที่เป็นการรวมตัวของวิศวกรที่รักการทำหุ่นยนต์ เน้นการใช้เทคโนโลยี state of the art ทางด้านหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ (Mobile robotics) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและเพิ่มคุณค่าให้กับงานของลูกค้า ทั้งงานเคลื่อนย้ายสินค้า (material handling), งานสำรวจ (survey) งานเฝ้าระวัง (monitoring) ทำแผนที่ (mapping) ค้นหา (searching) และเราคิดค้นและพัฒนาระบบนำทางอัตโนมัติ (autonomous navigation) localization, mapping, remote diagnostic, และ control algorithms 



คุณวรีมน ปุรผาติ  กรรมการผู้จัดการ Gen Surv กล่าวถึง การเข้าสู่ธุรกิจการพัฒนาโรบอท และหุ่นยนต์ว่า นวัตกรรมแรกที่เกิดจากการพัฒนาของวิศวกรหุ่นยนต์ไทยคือ เรือสำรวจไร้คนขับ (USV: Unmanned Surface Vehicle) เมื่อปี 2012 ใช้ในการบริการสำรวจทางน้ำตามแหล่งน้ำต่าง ๆ  การสำรวจชายฝั่ง เพื่อตรวจการกัดเซาะชายฝั่ง และโครงสร้างใต้น้ำ การสำรวจอ่างเก็บน้ำและเขื่อน เพื่อหาความสามารถในการเก็บปริมาตรน้ำในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป การทำแผนที่แม่น้ำ 

ก่อนที่จะเริ่มพัฒนาเรือไร้คนขับ ได้มีโอกาสทำงานสำรวจแหล่งน้ำของไทยในช่วงมหาอุทกภัย ที่ในช่วงนั้นต้องการข้อมูลทางน้ำที่เร่งด่วน ซึ่งเรือที่ใช้คนขับปกติทำได้ไม่ทันท่วงที จึงเห็นประโยชน์และความต้องการในการสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลมาทำการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเรือไร้คนขับตอบโจทย์เป็นอย่างยิ่ง และได้มีโอกาสร่วมทำงานวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบ เช่น เรือสำรวจใต้น้ำ (ROV-Remotely operated vehicle) และรถไร้คนขับ (AGV: Automated guided Vehicle) 


l  จุดเริ่มต้นของความสนใจในตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

ในปี 2017 เริ่มเห็นโอกาสของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม จึงได้ร่วมลงทุนวิจัยกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. เพื่อพัฒนารถฟอร์คลิฟท์ขนส่งไร้คนขับ สำหรับคลังสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรม (AGV-Laser Guided) ที่เริ่มเป็นกระแสความต้องการของอุตสาหกรรม 4.0 ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิในกระบวนการจัดการโลจิสติกส์ แต่รถฟอร์คลิฟท์ AGV ที่นำทางด้วยเลเซอร์ ยังไม่มีการผลิตในประเทศไทย และราคานำเข้าค่อนข้างแพง จึงไม่คุ้มทุนที่จะนำเข้ามาใช้งาน แต่ปัจจุบันเจ็นเซิฟทำการวิจัยจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว


l  ถามถึงความสำเร็จในเทคโนโลยีหุ่นยนต์

คุณวรีมน ปุรผาติ กล่าวว่า วันนี้นับว่ายังอยู่ในจุดเริ่มต้นของธุรกิจหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ยังใหม่มาก คือรถฟอร์คลิฟท์ไร้คนขับที่นำทางด้วยเลเซอร์ (AGV Forklift หรือ LGV) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ที่วิจัยและพัฒนาโดยคนไทย โดยมีเป้าหมายคือต้องการผลิตรถฟอร์คลิฟท์ไร้คนขับให้มีราคาที่จับต้องได้สำหรับอุตสาหกรรมไทย ให้ผู้ประกอบการสามารถใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการจัดการโลจิสติกส์ 

 

“สิ่งที่ทำให้เรามุ่งมั่นในธุรกิจนี้คือ โอกาสในการสร้างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างมากของไทย เพราะเราเล็งเห็นแล้วซึ่งความต้องการของตลาด จึงเร่งพัฒนาต่อเนื่อง แม้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่มีความภาคภูมิใจที่เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้ตามหลังต่างชาติ และมีโอกาสทางการตลาดทั้งในไทยและทั่วโลก”

 

l  อุปสรรคที่พบเจอในฐานะผู้ผลิต และจำหน่ายหุ่นยนต์ 

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย เป็นอุตสาหกรรมใหม่ ใช้เทคโนโลยีใหม่ และยังอยู่ในช่วงการสร้างการใช้งานใหม่ ๆ ดังนั้นตัวอย่างจากผู้ใช้งานจริงจึงมีไม่มากนัก ทำให้การตัดสินใจที่จะใช้เทคโนโลยีจำเป็นต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างมาก เพื่อสร้างความเข้าใจ จนกลายเป็นความมั่นใจ อีกทั้งการที่จะเริ่มใช้หุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรม ก็ต้องมีกระบวนการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกันไป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องใหม่ ที่ต้องลงทุนลงแรง ที่สำคัญต้องเปิดใจ และเชื่อมั่นที่จะพัฒนาร่วมกันอย่างจริงจัง


l  คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่สนใจขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย

#ไปด้วยกัน ไปได้ไกล
การสร้างพันธมิตรเป็นสิ่่งจำเป็น เพราะอุตสาหกรรมผู้ผลิตหุ่นยนต์ในไทย ผู้เล่นยังน้อยมาก และแต่ละบริษัทเองก็ยังต้องการองค์ความรู้การผลิตต่าง ๆ จากหลาย ๆ บริษัท เพื่อต่อยอดและพัฒนาไปร่วมกัน ต้องมีการร่วมมือกันสร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้ประกอบการหุ่นยนต์สัญชาติไทยได้ร่วมกันตั้งสมาคมผู้ประกอบการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไทย หรือ TARA ซึ่งอยากชวนให้มาร่วมกัน ต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันผลักดันให้ได้รับการสนับสนุน แก้ไขปัญหาที่ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญ 

#ปั้นจุดแข็งให้เป็นจุดเด่น
สำหรับผู้ประกอบการหุ่นยนต์รายใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้จุดอ่อน จุดแข็งของตัวเอง และพยายามเน้นในจุดเด่นนั้น เพราะธุรกิจนี้ยังเติบโตได้อีกในทุกมิติ แน่นอนว่าสามารถที่จะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ได้เสมอ และด้วยที่เป็นสินค้า niche market ขอให้เน้นคุณภาพ จริยธรรมการค้า การบริหารการเงินที่ดี การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

#จริยธรรมต้องนำปัญญา
ร่วมกันสร้างจริยธรรมและวัฒนธรรมการค้าที่ดี ในกลุ่มผู้ประกอบการหุ่นยนต์ที่เป็น System Integrator (SI) ซึ่งในเมืองไทยมักพบปัญหาการค้าที่ไม่เป็นธรรม ควรที่จะร่วมกันสร้างมาตรฐานการทำธุรกิจที่ดี ร่วมสร้างมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างที่ยุติธรรม เพราะบ่อยครั้ง งานด้าน SI ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญถูกมองข้าม หรือแม้แต่กระทั่งถูกขโมยไอเดีย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ล้วนบั่นทอนผู้เชี่ยวชาญด้าน SI อย่างมาก ซึ่งก็มีจำนวนที่น้อยอยู่แล้วในประเทศไทยเรา เหล่า SI จึงควรต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างวัฒนธรรมทางการค้าที่เข้มแข็ง


“ขอย้ำว่าวงการนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญไม่มาก ไม่มีความจำเป็นต้องตัดราคากัน แย่งงานกัน ควรเน้นการสร้างความเชื่อมั่น สร้างงานที่มีคุณภาพ แล้วอุตสาหกรรมนี้ก็จะอยู่รอดได้”

 

l  สำหรับอุตสาหกรรมที่กำลังมองหาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง

การเริ่มใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมนั้น ควรเริ่มต้นจากการทบทวนวิธีการทำงาน เส้นทางการทำงานเดิมว่ามีอะไรที่แก้ไขปรับปรุงได้บ้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพก่อน (lean management) แล้วจึงเลือกใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่เหมาะสมตอบสนองการใช้งาน ซึ่งอาจต้องผสมผสานกันหลายเทคโนโลยี ตั้งเป้าหมายความต้องการให้แน่ชัด โดยต้องมีเป้าหมายหลักคือการนำมาใช้เพื่อตอบโจทย์ ในการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลกำไร อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบ การทำงานอื่น ๆ ให้สอดคล้องกันไปด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลกำไรและประโยชน์อย่างสูงสุด การคำนวณความคุ้มทุนอาจมองให้กว้างกว่าแค่ค่าแรงงาน เพราะประโยชน์คือการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมของธุรกิจ แน่นอนผลระยะยาวคือคำตอบ

ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ยังมีข้อจำกัดอยู่อีกหลายอย่าง เพื่อให้ได้ระบบที่มีคุณภาพสอดคล้องกับราคา ควรที่จะเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว เพื่อปรับเข้ากับระบบการทำงาน จึงจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีนั้น ๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานจากเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ อย่าคาดหวังว่า หุ่นยนต์จะเข้ามาแก้ปัญหาได้ทุกอย่างด้วยการทำงานระบบเดิม ๆ