ปี 62 คาดราคายางพาราจะ “ทรงตัว” ชี้มีความเสี่ยงกดดันราคาให้ลดลงได้อีก
ยางพารานับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยในปัจจุบัน ในปี 2561 สร้างรายได้จากการส่งออกให้แก่ประเทศราว 5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นส่งออกยางพาราขั้นต้น (ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น) 1.47 แสนล้านบาท และส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง 3.53 แสนล้านบาท และสามารถสร้างรายได้ให้ชาวสวนยางถึง 2.02 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลราคาและผลผลิตยางที่ผ่านมา พบว่ารายได้ชาวสวนยางและผู้ส่งออกยางค่อนข้างจะผันผวนไปตามทิศทางราคามากกว่าผลผลิต กล่าวคือ ในปีที่ราคายางพาราตกต่ำ รายได้ชาวสวนยางและผู้ส่งออกยางก็จะตกลงไปด้วย โดยจะเห็นได้จากปี 2561 ที่ผ่านมา ราคายางพาราแผ่นดิบรมควัน ชั้น 3 เฉลี่ยอยู่ที่ 41.5 บาท/ก.ก. (ลดลง -27.9%yoy) ผลคือ รายได้ชาวสวนยางและผู้ส่งออกยางขั้นต้นลดลงจากปีก่อนหน้า 1.22 แสนล้านบาท (รายได้ชาวสวนยางพาราและการส่งออกยางพาราขั้นต้นลดลง 6.5 หมื่นล้านบาท (-28.0%yoy) และ 5.7 หมื่นล้านบาท (-24.4%yoy) ตามลำดับ) สวนทางกับรายได้ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางที่แปรรูปเป็นสินค้าขั้นปลาย (เช่น ยางล้อพาหนะ และถุงมือยาง หลอดและท่อยาง และผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ทางเภสัชกรรม) กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.6 พันล้านบาท (+1.9%yoy) เนื่องจากราคาขายสินค้าขั้นปลายไม่ได้ปรับตามต้นทุนราคายางพารา
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินว่าในปี 2562 ราคายางพาราดิบรมควัน ชั้น 3 มีทิศทาง “ทรงตัว” โดยระดับราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 40 บาท/ก.ก. โดยให้น้ำหนักปัจจัยที่ช่วยพยุงในปีนี้ คือ หนึ่ง...ปริมาณสต็อกยางพาราชิงเต่าของจีนลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1.1 แสนตันในเดือนธันวาคม 2561 (ลดลง -52.5%yoy) ซึ่งเกิดจากภาวะดีมานด์ผลิตยางล้อที่ลดลงของจีน ตามเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวและข้อกังวลสงครามการค้าที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการจีนนำเข้ายางไปเก็บเป็นสต็อกลดลง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในอดีตหากระดับสต็อกยางชิงเต่าที่ลดต่ำกว่า 1 แสนตัน ผู้นำเข้าจีนจะเริ่มสะสมสต็อกเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาปรับตัวดีขึ้น สอง...ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ เฉลี่ยคาดมีทิศทางทรงตัวอยู่ในกรอบ 65-70 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ยางสังเคราะห์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากกระบวนการกลั่นน้ำมัน และเป็นสินค้าทดแทนยางพารา การที่ราคายางสังเคราะห์มีทิศทางทรงตัวตามราคาน้ำมัน จะทำให้ราคายางพาราทรงตัวด้วยเช่นกัน เรามองว่าทั้งสองปัจจัยนี้ จะช่วยพยุงราคายางพาราให้ “ทรงตัว” ได้ในปีนี้
แม้ว่าทิศทางยางพาราในปี 2562 จะทรงตัว แต่ก็มีปัจจัยกดดันราคาให้ผันผวนและอาจลดลงได้อีก จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ดีมานด์ยางล้อจีนอาจจะชะลอตัวลงจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลง แม้ว่าสมาคมผู้ผลิตรถยนต์จีน (China Association of Automobile Manufacturers (CAAM)) จะประมาณการณ์ว่ายอดขายในปี 2562 จะเท่ากับปีที่แล้วที่ 28.0 ล้านคัน จากปีก่อนหน้าที่หดตัว -3.1%yoy แต่ภาพรวมเศรษฐกิจจีนที่ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงทั้งการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวและสงครามการค้า อาจทำให้ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศลดลงได้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยผลผลิตยางพาราส่วนเกินของโลก โดยสถาบันวิจัยยางระหว่างประเทศ (International Rubber Study Group (IRSG)) คาดว่าในปี 2562 การบริโภคยางพาราจะเพิ่มขึ้น 2.5% ไปอยู่ที่ 14.2 ล้านตัน ในขณะที่สมาคมประเทศผู้ผลิตยางพารา (The Association of Natural Rubber Producing Countries (ANRPC)) คาดว่าผลผลิตยางพาราจะขยายตัว 5.8% ไปอยู่ที่ 14.7 ล้านตัน ดังนั้นหากการบริโภคของโลกเพิ่มขึ้นต่ำกว่าผลผลิต จึงเป็นตัวชี้สำคัญที่ทำให้ราคายางพาราลดลงได้
ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าแม้น้ำหนักทิศทางราคายางพาราจะ “ทรงตัว” ในปีนี้ แต่ยังมีความเสี่ยงกดดันราคาให้ผันผวนและลดลงได้อีก จึงแนะผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับผลิตภัณฑ์ยางให้เป็นสินค้าขั้นปลายมากขึ้น เนื่องจากราคาขายไม่ผันผวนตามราคาวัตถุดิบยางพารา เห็นได้จากยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ยางในปีที่แล้วที่แม้ราคาวัถุดิบยางพาราจะตกลงค่อนข้างมาก แต่ยอดส่งออกกลับไม่ลดลง ในขณะที่ภาครัฐต้องเร่งสนับสนุนให้เกิดการใช้ยางพาราภายในประเทศมากขึ้น (ปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศมีสัดส่วนเพียง 12% ของผลผลิต) ได้แก่ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดผู้ผลิตขั้นปลายมากขึ้น เช่น ผู้ผลิตที่นอนและหมอนยางพารา ผู้ผลิตถุงมือยาง ผู้ผลิตแผ่นยางปูพื้น ฯลฯ ให้หน่วยงานภาครัฐที่ได้รับจัดสรรงบก่อสร้างทำถนน และ/หรือ สนามกีฬา กำหนดให้ต้องมีส่วนผสมของยางพาราเพื่อให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศ และเพื่อควบคุมปริมาณยางพาราล้นตลาดอย่างยั่งยืน ในด้านอุปทาน ภาครัฐต้องมีการดูแลติดตาม ตั้งแต่การจูงใจให้ชาวสวนลดพื้นที่เพาะปลูกยางพาราลงโดยเฉพาะพื้นที่ต้นยางที่ให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ และสนับสนุนให้ชาวสวนยางไปปลูกพืชเศรษฐกิจแซมต้นยางมากขึ้นเพื่อเป็นแหล่งรายได้เสริม เช่น โกโก้ กาแฟ ฯลฯ ยกระดับการจัดการด้านผลผลิตที่ช่วยวางแผนด้านอุปทานของประเทศ เช่น การนำเทคโนโลยีดาวเทียมประเมินเนื้อที่และผลผลิตของไทย และประเทศอื่น ๆ เหล่านี้เพื่อช่วยให้บริหารจัดการในระยะยาวเพื่อดูแล “ราคายาง” ให้ดีขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้น
สนับสนุนบทความโดย : ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี