Complex Problem Solving ทักษะจำเป็นในอนาคต เพื่อสร้างคุณค่าทางธุรกิจที่ยั่งยืน
การพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงแนวคิด หลักการ กระบวนการจะช่วยให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่ไปกับสร้างสรรค์เทคโนโลยี ความคิด และนวัตกรรม ยิ่งถ้าเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในอนาคต (Future Skills Development) ผ่านการอบรมให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อเพิ่มทักษะที่จำเป็นในอนาคต จะส่งผลให้แรงงาน มีความพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างทันท่วงที
แล้วทักษะประเภทใด ที่จะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต?
WEF หรือ World Economic Forum ได้สำรวจทักษะอนาคต 10 อันดับแรกในปี 2020 ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเตรียมบุคลากรให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้แก่
- Complex Problem Solving การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
- Critical Thinking การคิดอย่างมีวิจารณญาณ
- Creativity ความคิดสร้างสรรค์
- People Management การบริหารคน
- Coordinating with Others การร่วมมือกับผู้อื่น
- Emotional Intelligence ความฉลาดทางอารมณ์
- Judgement and Decision Making การลงความเห็นและการตัดสินใจ
- Service Orientation การใส่ใจความต้องการของลูกค้า
- Negotiation การต่อรอง
- Cognitive Flexibility ความยืดหยุ่นทางปัญญา
ยิ่งไปกว่านั้น ผลสำรวจ Future of Jobs Survey ของ World Economic Forum ในประเด็นความต้องการของทักษะอนาคต ในปี 2020 พบว่ามากกว่า 1 ใน 3 หรือ 36% ของงานในทุกภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องใช้ทักษะการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน หรือ Complex Problem Solving เป็นทักษะหลักในการทำงาน
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จึงได้หยิบยกแนวคิดของหนึ่งทักษะสำคัญอย่าง Complex Problem Solving หรือการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน มาพัฒนาเป็นหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งอธิบายถึงแนวทางการวิเคราะห์ปัญหาซับซ้อนในการดำเนินงาน สามารถค้นหาจุดสร้างความซับซ้อนในกระบวนการ และระบบธุรกิจ นำไปสู่การออกแบบแนวทางจัดการปัญหาซับซ้อน ให้เกิดคุณค่ากับธุรกิจ
เมื่อโลกกำลังเข้าสู่ห้วงเวลาของการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ความซับซ้อน ตลอดจนความไม่ชัดเจน หรือแม้กระทั่งความไม่แน่นอน กลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ และการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของมนุษย์
ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงกลายเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาที่มีสาเหตุหรือปัจจัยเพียงหนึ่งเดียว
Complex Problem Solving จะค้นหาวิธีการจัดการผลกระทบ ที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบนั้นซ้ำ (Causal Loop) ผ่านการสังเคราะห์สาเหตุจากความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มปัจจัยต่างๆ และยังเป็นการมองหารูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดความผิดปกติ
คีย์เวิร์ดสำคัญของ Complex Problem Solving จึงหนีไม่พ้นเรื่อง “ความเชื่อมโยง” ซึ่งเราจำเป็นต้องพิจารณาความสัมพันธ์ของผลกระทบต่าง ๆ จะพิจารณาแค่เพียงตัวเดียวไม่ได้ ถือว่าเป็นการคิดเชิงระบบ หรือ System Thinking ซึ่งเป็นทักษะการมองภาพรวม หรือองค์รวม ในการวิเคราะห์องค์ประกอบของระบบที่มีความเกี่ยวข้องกัน หรือมีอิทธิพลต่อกัน
นอกจากนี้ เรายังควรสร้างระบบการคิดอย่างมีเหตุผล ดังเช่น หากเรามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นระบบหนึ่ง เราจะพบว่า มีหลายเรื่องซึ่งตัวเราเกิดความกังวล และจำเป็นต้องจัดการให้ดีที่สุด เพื่อให้ผ่านเหตุการณ์นั้นไปได้ โดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด การใช้เทคนิคการประเมินสถานการณ์ หรือ Situation Appraisal จึงเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่ง ที่จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวิธีการคือ
- ระบุสถานการณ์ ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการระบุเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกับเรา และต้องการการจัดการ เพื่อให้เห็นภาพของสถานการณ์เดียวกัน
- ระบุเรื่องที่เป็นกังวลในสถานการณ์นั้นๆ อย่างชัดเจน การระบุความกังวลทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ อย่างละเอียดและชัดเจน จะช่วยให้สามารถหาวิธีการจัดการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
- จัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่เป็นกังวล การระบุเรื่องที่เป็นกังวลตามระดับผลกระทบ และความเร่งด่วนที่ต้องจัดการ เพื่อให้สามารถจัดสรรทรัพยากรในการจัดการได้อย่างเหมาะสม
- วางแผนจัดการ การกำหนด ทรัพยากร และวิธีการจัดการ ข้อกังวล ตามลำดับความสำคัญ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
การพัฒนาบุคลากรด้วยทักษะการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ก่อให้เกิดคุณค่ากับการดำเนินธุรกิจในหลากหลายแง่มุม ทั้งช่วยให้มองเห็นภาพรวมและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์กรได้อย่างรอบด้าน สามารถวางแผนและตัดสินใจจัดการปัญหาทางธุรกิจได้อย่างชัดเจนและเกิดประโยชน์สูงสุด จึงถือเป็นปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถรับมือกับอนาคตได้อย่างมั่นคง
สนับสนุนบทความโดย: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ www.ftpi.or.th