System Integrator จิ๊กซอว์สำคัญของ “อุตสาหกรรมหุ่นยนต์”
สำนักข่าว M Report ได้มีโอกาสพูดคุยกับหนึ่งบุคลากรสำคัญในแวดวงหุ่นยนต์ของประเทศไทยอย่าง ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) และผู้เชี่ยวชาญพิเศษสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถึงสถานการณ์ System Integrator ของประเทศไทย ที่เป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์
ผลการศึกษาโครงการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยด้วยระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ ปี 2558 พบว่า “85% ของผู้ประกอบการจำนวน 513 บริษัท จำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยครึ่งหนึ่งของ 85% นี้มีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติภายใน 1-3 ปี” สิ่งนี้จึงเป็นภาพสะท้อนความต้องการ System Integrator ผู้ซึ่งทำหน้าที่ในการศึกษาขั้นตอนการใช้งาน เลือกอุปกรณ์หลัก ออกแบบและผลิตอุปกรณ์เสริม เขียนโปรแกรมและจัดขั้นตอนการทำงานของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ที่จะทำให้ระบบทั้งหมดถูกติดตั้งและใช้ในสายการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
System Integrator (SI) จะกลายเป็นผู้สร้างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอนาคต
ปัจจุบันประเทศไทยมี SI จำนวน 200 ราย โดยประเมินว่า SI ไทยที่มีความสามารถเทียบเท่ากับ SI ต่างประเทศนั้นมีเพียง 30-40 รายเท่านั้น ในขณะที่เป้าหมายของรัฐบาลต้องการเพิ่มจำนวน SI ให้มากขึ้นเป็น 1,400 รายภายในห้าปี การเดินทางสู่เป้าหมายนี้ก่อให้เกิดความร่วมมือในหลายมิติ
Lean Automation System Integrators (LASIs Project)
การพัฒนาโครงการสาธิตการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น โดยการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น (METI) และกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย (MOI) ร่วมกับ บริษัท เด็นโซ่คอร์เปอเรชั่น เพื่อฝึกอบรมผู้ประกอบการ SI ให้สามารถใช้เครื่องมือวิเคราะห์ความเสียหายและการผลิตในประเทศไทยผ่านการสาธิต (showcase) สายการผลิตด้วยระบบลีนออโตเมชั่นยุคใหม่ โดยหลักการ Lean Automation นั้นมุ่งเน้นการกำจัดความสูญเปล่าในระบบการผลิตทั้งหมด ก่อนออกแบบและนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ ทำให้การใช้งานระบบอัตโนมัติเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกกระบวนการ
Thai Automation and Robotics Association (TARA)
ทำงานร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Center of Robotics Excellence: CoRE) เพื่อช่วยผู้ประกอบการลงทุนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยงานสำคัญของสมาคม คือ การรวบรวมข้อมูล SI ทั้งด้านรายชื่อและความเชี่ยวชาญ เพื่อแนะนำแก่ SMEs และโครงการขนาดใหญ่ที่มีความต้องการใช้ SI ในการพัฒนาระบบ โดยปัจจุบันมี SI จำนวน 72 รายที่เข้ามาเป็นสมาชิกแล้ว นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์แก่ SI ไทย โดยสมาชิก TARA นั้น แบ่งเป็น 6 ประเภท คือ
- Automation
- System Integration
- Robot application
- Vision system
- Logistics automation
- Software development for Automation and Robotics
ความคืบหน้าของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์
การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ผ่านมาตรการทางภาษี, มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต (BOI), มาตรการทางการเงิน ทำให้คาดการณ์ว่า จะเกิดการลงทุนในการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ประมาณ 140,000-150,000 ล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 38 รายยื่นขอรับการสนับสนุนจาก BOI เพื่อลงทุนนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในสายการผลิต ด้วยวงเงินลงทุนรวมทั้งหมด 4-5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ผู้ผลิตหุ่นยนต์เองก็มีความคืบหน้าให้เห็นแล้ว โดยมีการขอรับการสนับสนุนการลงทุนจาก Nachi ประเทศญี่ปุ่น, ANCA ประเทศออสเตรเลีย, และผู้ผลิตแขนกลไทยอีก 4 รายที่มีกระบวนการต้นแบบสำหรับการผลิตแล้ว โดยเน้นไปที่การผลิตแขนกลอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีไม่ซับซ้อน สำหรับการใช้งานของ SMEs
ข่าวดีสำหรับ SMEs คือ สินเชื่อดอกเบี้ย 0%
สำหรับ SMEs ที่ต้องการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิตนั้น สามารถขอรับสินเชื่อดอกเบี้ย 0% ได้ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเตรียมงบประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่อแก่ SMEs รายละ 1- 2 ล้านบาท ซึ่งบริษัทที่จะขอรับสินเชื่อนั้นจะต้องมีความพร้อม โดยเข้ารับการตรวจวินิจฉัยสถานประกอบการ (SHINDAN) กับสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. ซึ่งเป็นหนึ่งหน่วยงานในเครือข่าย CoRE
ระบบ SHINDAN เป็นการตรวจสุขภาพของกิจการในการดำเนินธุรกิจใน 5 ด้าน คือ การบริหารจัดการ, การตลาด, การผลิต, การเงิน/บัญชี, และทรัพยากรมนุษย์ ทำให้รู้สถานะการดำเนินธุรกิจ ปัญหาและแนวทางการแก้ไข ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายผลในการจัดทำแผนงานต่าง ๆ เช่น การจัดทำแผนธุรกิจ แผนการตลาด แผนการเพิ่มผลผลิต
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Center of Robotics Excellence: CoRE)
CoRE จะเป็นเครือข่ายเพื่อการพัฒนาบุคลากรและยกระดับหุ่นยนต์และเทคโนโลยีอัตโนมัติเพื่อสร้างหุ่นยนต์ที่มีความซับซ้อน ที่เกิดจากความร่วมมือในแนวทางประชารัฐ ระหว่างภาครัฐ สถานการศึกษา และภาคเอกชน ประกอบด้วย 10 หน่วยงาน ได้แก่ 1. สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) 2. สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI) 3. สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) 4. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU) 5. มหาวิทยาลัยมหิดล 6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอม เกล้าพระนครเหนือ 7. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 8. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 9. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ 10. สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) โดยตั้งเป้าพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบอย่างน้อย 150 แบบภายในห้าปี เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีชั้นสูงของหุ่นยนต์ให้แก่ผู้ประกอบการ 1,000 คน และเพื่อฝึกอบรมอย่างน้อย 25,000 คน