รู้จักกับ ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ Thai Automation and Robotics Association (TARA)
ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ กับบทบาท “นายกสมาคมคนแรก” ของ Thai Automation and Robotics Association (TARA) การรวมกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความชำนาญด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรือ System Integrator (SI) นั่นเอง
การรวมกลุ่ม กับ ภาระกิจเข้มข้น
นโยบายภาครัฐที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อความต้องการอย่างมากมายในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นอุปสงค์จากตลาด บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ การต่อยอดองค์ความรู้ จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความชำนาญด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ แม้ว่า TARA เองยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมอย่างเป็นทางการ แต่ภาระกิจที่ได้รับมอบหมายมานั้นมีความเข้มข้นอย่างยิ่ง ทำงานร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Center of Robotics Excellence: CoRE) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยที่สนใจลงทุนด้านระบบอัตโนมัติจัดหาและแนะนำรายชื่อ System Integrators (SI) ที่ผ่านการรับรองจัดการฝึกอบรมและให้ความรู้ด้านเทคนิคเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ให้แก่ System Integrators (SI) สนับสนุนการออกและบูรณาการสำหรับโรงงานอัตโนมัติ ทั้งในแง่ของการสร้างต้นแบบและโครงการ OEM ขนาดใหญ่กับอุตสาหกรรมหนักในประเทศไทยร่วมมือกับภาครัฐ พัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New 10 S-curve) เพื่อมุ่งสู่ Thailand 4.0
“โปร่งใส เปิดกว้าง” กุญแจสำคัญสู่เป้าหมาย
ดร.ประพิณ เผยวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อน TARA ว่า “โปร่งใส และ เปิดกว้าง จะทำให้ภาระกิจสำเร็จได้” เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในส่วนของรายชื่อสมาชิก SI บน Official Website ของ TARA www.thaitara.org ที่ปัจจุบันมี SI ผ่านการรับรองแล้ว 80 กว่าราย และมี SI อีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ในขั้นตอนการลงทะเบียนรับรอง นอกจากนี้ จะต้องโปร่งใสและเปิดกว้างให้ SI สามารถเข้าถึงข้อมูลและโอกาสต่าง ๆ อันจะทำให้ทุกคนร่วมมือกันในการทำภาระกิจต่อยอดความสำเร็จแบบองค์รวม โดยมีแนวทางดังนี้
- ประชาสัมพันธ์แบบเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการ SI ไทย เข้าร่วมเป็นสมาชิก TARA เพื่อให้เกิดการร่วมมือภายในสมาคม รองรับการเติบโตของธุรกิจด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่เพิ่มขึ้น และจะทวีความต้องการสูงขึ้นในอนาคต
- ประเมินความสามารถในแต่ละด้านของ SI ไทย เป็นฐานข้อมูลที่จะสนับสนุนการต่อยอดความรู้ความสามารถและยังเอื้อประโยชน์ในการเลือกใช้ SI ตามความเชี่ยวชาญอีกด้วย
- เปิดเผยข้อมูล ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ทั้งในส่วนของผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการ SI รวมถึงข้อมูลของ SI เอง
- ผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของภาครัฐ สร้าง SI 200 ราย ภายในปีนี้ และ 1,400 รายภายในห้าปี
- พัฒนาระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ความสามารถทางเทคนิคของกลุ่ม TARA
TARA มีความสามารถในการออกแบบ พัฒนา บูรณาการและสร้างระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในสาขาความเชี่ยวชาญ 6 ด้าน ดังนี้
- หุ่นยนต์ประเภทต่างๆ เช่น หุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม
- เครื่องจักร ชิ้นส่วนเครื่องจักร และเซ็นเซอร์ต่างๆ
- บูรณาการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์
- ระบบซอฟแวร์ต่างๆ ระบบควบคุมและรวบรวมข้อมูลผลิต (SCADA) ระบบประมวลผลภาพ (Vision)
- ระบบขนส่งไร้คนขับ Automated Guided Vehicle (AGV), Rail Guided Vehicle (RGV), Unmanned Vehicle (UV) และ Drone
- ระบบโลจิสติกส์อัตโนมัติซึ่งประกอบด้วย คลังสินค้า (Warehouse) และระบบจัดเก็บและเรียกคืนสินค้าอัตโนมัติ (Automated Storage & Retrieval System: ASRS)
วางมาตรฐาน System Integrator - สร้าง Prototype center
จากนโยบายภาครัฐที่ผลักดันเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (National Quality Infrastructure: NQI) อันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดย NQI ให้ความสำคัญ 4 ด้าน คือ 1. ด้านมาตรวิทยา (Metrology) 2. ด้านการจัดมาตรฐาน (Standardization) 3. ด้านการทดสอบ (Testing ) และ 4. ด้านการบริหารคุณภาพ (Quality Management) ได้ส่งผ่านมายังอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วย ซึ่งสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (TARII) กำลังดำเนินการวางมาตรฐาน System Integrator เพื่อรองรับการเติบโตของการลงทุนในระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต นอกจากนี้ TARA ยังได้เสนอให้ภาครัฐสร้าง Prototype center สำหรับกำหนดมาตรฐานของหุ่นยนต์ รวมถึงวิธีวัดและทดสอบเพื่อควบคุมคุณภาพได้
เทรนด์หุ่นยนต์ในประเทศไทย
Logistics และ Healthcare จะเป็นสองกลุ่มที่มีความน่าสนใจและมีความต้องการหุ่นยนต์เข้าไปใช้อย่างมาก ด้วยแรงผลักดันจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดี และธุรกิจโลจิสติกส์ (Logistics) เองก็มีแรงส่งจากโครงการ EEC ในขณะที่ธุรกิจด้านดูแลสุขภาพ (Healthcare) นั้นก็ได้อานิสงส์จากยุคสมัยที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ การนำหุ่นยนต์ไปช่วยในกิจกรรมทางสุขภาพต่าง ๆ จะมีมากขึ้นอย่างชัดเจน เช่น หุ่นยนต์ช่วยเดิน หรือ หุ่นยนต์กายภาพ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเกื้อหนุนจากการเติบโตด้วยตัวธุรกิจเองอีกด้วย
ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ คือใคร
ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ จบการศึกษาด้านวิศวกรรมควบคุมอุตสาหการ (Industrial Engineering and Operations Research: IEOR) ทางด้าน Modelling system and Mathematical programming จาก Northeastern University, Boston, Massachusetts, U.S.A. มีความเชี่ยวชาญในด้านการประยุกต์ใช้งานวิศวกรกับการบริหารทรัพยากรต่าง ๆ ด้วยการวิเคราะห์และสังเคราะห์
ประวัติการทำงาน
กรรมการบริหาร บริษัท เลิศวิลัย แอนด์ ซันส์ จำกัด
เลิศวิลัย แอนด์ ซันส์ เป็นผู้ผลิต นำเข้า ออกแบบและติดตั้งระบบหุ่นยนต์อุตสาหกรรม บริการฝึกอบรม และบริการหลังการขาย จำหน่ายสินค้าในธุรกิจเชื่อมโลหะและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย) จำกัด
ยาวาต้า (ประเทศไทย) ผู้ผลิตลวดเชื่อมไฟฟ้า โดยร่วมทุนกับและได้รับเทคโนโลยีการผลิตจากบริษัท Nippon Steel & Sumikin Welding ประเทศญี่ปุ่น
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทรแค๊บ (ประเทศไทย) จำกัด
ไทรแค๊บ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตสายไฟฟ้าและเคเบิลสำหรับงานอุตสาหกรรม เช่น LOW SMOKE ZERO HALOGEN CABLE และ FIRE RATED CABLES โดยเป็นบริษัทร่วมทุนไทย-ออสเตรเลีย
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอดราเทคโนโลยี จำกัด
ควอดราเทคโนโลยี ผู้พัฒนาระบบ ERP โดยฝีมือคนไทยเพื่อตอบสนององค์กรธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ให้มีความสอดคล้องและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ไม่แพ้ระบบ ERP ของบริษัทต่างประเทศที่ต้องใช้ทุนสูงในการใช้งานและการบริหาร