Dr. Wilfried Schäfer กรรมการผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลแห่งเยอรมนี (German Machine Tool Builders' Association: VDW)

VDW เผย GERMANY Partner Country ของงาน METALEX 2019 ครั้งนี้ สำคัญอย่างไร

อัปเดตล่าสุด 14 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 2,176 Reads   

เคาท์ดาวน์สู่งาน METALEX 2019 (เมทัลเล็กซ์ 2019) ประตูสู่โลกใหม่แห่งเทคโนโลยีโลหะการอัจฉริยะ New Smart Technologies ที่จัดแสดงเทคโนโลยีและโซลูชันชั้นสูงด้านอุตสาหกรรมโลหะการที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2562 ณ ไบเทค กรุงเทพฯ โดยงานครั้งนี้แตกต่างไปกว่าทุกครั้งที่เคยจัดมา ด้วยความพิเศษของงานที่มีประเทศเยอรมนีมาเป็นพันธมิตร นั่นคือ GERMANY Partner Country ของงาน METALEX 2019 จึงมีความสำคัญและน่าสนใจ เรียกว่าใครไม่มางานครั้งนี้ และไม่ได้เยี่ยมชมส่วนแสดงพิเศษ “German High Tech Pavilion” ภายในงานเมทัลเล็กซ์ 2019 ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย  โดย Dr. Wilfried Schäfer กรรมการผู้จัดการ สมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลแห่งเยอรมนี 
(German Machine Tool Builders' Association - VDW)
เปิดเผยกับข่าวออนไลน์ M Report ในการนำทัพบริษัทชั้นนำระดับโลก ร่วมจัดแสดงเทคโนโลยีล้ำยุคภายใต้ธีม “เทคโนโลยีโลหะการชั้นสูงจากเยอรมนี” และไฮไลท์เด่น umati@METALEX ที่ผู้เข้าชมจะได้ร่วมสัมผัสมาตรฐานการเชื่อมต่อเครื่องจักรกลแห่งอนาคต “umati: universal machine tool interface” เป็นครั้งแรกในเอเชีย พร้อมการสาธิตในรูปแบบเดียวกับที่จัดแสดงในงาน EMO Hannover 2019 อีกด้วย

มุมมองต่ออุตสาหกรรมไทย และอาเซียน

ด้วยความสำคัญของประเทศไทย และอาเซียน ผ่านมุมมองจาก Dr. Wilfried Schäfer กรรมการผู้จัดการ สมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลแห่งเยอรมนี (German Machine Tool Builders' Association - VDW) ผู้นำทัพ 48 บริษัทเยอรมันชั้นนำร่วมจัดแสดงสินค้าภายใน German Pavilion งาน METALEX 2019 ร่วมกับกระทรวงกิจการเศรษฐกิจและพลังงานของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Bundesministerium für Wirtschaft und Energie - BMWi) และ สมาคมผู้แสดงสินค้าอุตสาหกรรมเยอรมัน (Association of the German Trade Fair Industry - AUMA) ได้เผยว่า 

“อุตสาหกรรมการผลิตไทย คือตลาดเครื่องจักรที่สำคัญที่สุดในอาเซียน เนื่องจากเป็นฐานการผลิตสำคัญ และมีการแข่งขันในตลาดสูง ส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีมาก เยอรมนีจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้กลายเป็น Partner Country กับงาน METALEX ในครั้งนี้”

ทำไมต้อง “umati” ?

“ด้วยประเทศเยอรมนีได้กลายเป็น Partner Country ของงาน Metalex งานจัดแสดงสินค้าอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเป็นแพลตฟอร์มที่ดีสำหรับการแสดงศักยภาพให้กับคู่ค้าในภูมิภาค และเนื่องในโอกาสนี้เอง VDW จึงใช้ฟอรัมอภิปรายในงาน METALEX เพื่อสาธิต umati มาตรฐานการเชื่อมต่อเครื่องจักรกลแห่งอนาคต อินเตอร์เฟสมาตรฐานใหม่ในการเชื่อมต่อเครื่องจักร และระบบ IT ประสิทธิภาพสูงเข้าด้วยกัน และการเชื่อมต่อนี้เอง ที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตให้ก้าวหน้า และยกระดับมาตรฐานให้เป็นสากลเทียบเช่นเดียวกับมาตรฐานของ OPC UA Foundation”

umati (universal machine tool interface) คือมาตรฐานการเชื่อมต่อเครื่องจักรกล (Machine Tools) เข้ากับระบบนิเวศทาง IT (IT Eco-Systems) ถูกพัฒนาขึ้นโดยสมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลแห่งเยอรมนี (VDW) และพันธมิตร เพื่อให้กลายเป็นมาตรฐานการรับส่งข้อมูล ช่วยให้การเชื่อมต่อผู้ใช้เป็นไปอย่างลื่นไหล ไร้รอยต่อ และเรียบง่าย ซึ่งการเชื่อมต่อเช่นนี้เอง ที่กล่าวได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญสำหรับยุคอุตสาหกรรม 4.0 รวมไปถึงยุคอื่นถัดไปในอนาคต

แน่นอนว่า ภายในสายการผลิตจริง การใช้เครื่องจักรจากค่ายใดค่ายหนึ่งเพียงยี่ห้อเดียวเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในยุคที่ตลาดมีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องตอบโจทย์ ด้วยการเลือกเครื่องจักรที่เหมาะสม หรือเลือกเครื่องให้เข้ากับความต้องการ และข้อจำกัดของบริษัทตน ทำให้ไม่ต้องสงสัยว่า หากการเชื่อมต่อเครื่องจักรต่างยี่ห้อเข้าด้วยกันเป็นไปได้ง่ายขึ้นแล้ว จะนำมาซึ่งความสะดวกในการติดตั้ง และการทำงานเพียงใด 

ด้วยเหตุนี้เอง โชว์ umati@METALEX จึงจะทำการสาธิตการเชื่อมต่อเครื่องจักรจำนวน 3 เครื่องจากต่างค่าย คือ DMU 50 จาก DMG Mori, เครื่องเลเซอร์มาร์คกิ้ง (Marking Laser) จาก Trumpf, และ CNC Profitrainer จาก Heller เข้ากับระบบซอฟต์แวร์  ซึ่งเป็นการสาธิตในรูปแบบเดียวกันกับที่จัดแสดงในงาน EMO Hannover 2019 ที่ผ่านมา เพื่อแสดงให้ผู้ชมเห็นว่า เครื่องจักรจากผู้ผลิตต่างค่ายที่มีอยู่ในโรงงานต่าง ๆ ก็สามารถเชื่อมต่อเข้ากันได้ง่ายกว่าที่คิด พร้อมนำเสนอว่า umati และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้อง จะช่วยยกระดับการทำงานของบริษัทได้อย่างไร ผ่านความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจากหลายบริษัทชั้นนำ เช่น DMG Mori, Heller, ISW, SAP, Trumpf รวมวิธีนำ umati ไปใช้ให้กับลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมได้อย่างไร ในตลอด 4 วันงานอีกด้วย

สำหรับประเทศเยอรมนี ผู้ให้กำเนิดอุตสาหกรรม 4.0 แล้ว umati ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่มีแนวโน้มจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยและอาเซียนในอนาคตเป็นอย่างมาก เห็นได้จากความพยายามในการผลักดัน umati ให้กลายเป็นมาตรฐานสากล ด้วยคุณสมบัติการใช้งานร่วมกับมาตรฐานระดับโลกอย่าง OPC UA และนำไปใช้งานได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งสมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลแห่งเยอรมนี ได้แสดงความมั่นใจว่า umati จะกลายเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมการผลิต เช่นเดียวกับเมื่อครั้งอุตสาหกรรม 4.0 อย่างแน่นอน

เทคโนโลยีโลหะการชั้นสูงจากเยอรมนี

นอกจาก umati@METALEX แล้ว ผู้ร่วมงานยังจะได้รับชมเทคโนโลยีล้ำยุคจาก 48 บริษัทเยอรมันชั้นนำ เช่น Siemens, Chiron, Emuge Franken, Gühring, Schütte, FFG, Zoller, Index Traub, Mapal และ Grob ที่ยกขบวนเครื่องจักร, อุปกรณ์เสริม, ทูลส์ (Tools) และ Tool Handling, เครื่องขึ้นรูปโลหะแผ่น (Sheet Metal Forming), แม่พิมพ์ (Mould and Die), เครื่องวัดละเอียด (Precision Measuring), รวมไปถึงระบบทดสอบ และระบบควบคุม (Controller) ด้วยคอมพิวเตอร์ ภายใน German Pavilion โดยมีไฮไลท์เป็น 2 เครื่องจักรขนาดใหญ่ที่สุดภายในงาน คือ

  • เครื่องอัตโนมัติแบบหลายแกน (Multi-Spindle Automatics) “SG18 40-01” จากบริษัท Alfred H Schuette GmbH & Co KG เครื่องจักรกลอัตโนมัติความเร็วสูงที่ทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ รองรับการผลิตชิ้นส่วน Turned Part เส้นผ่านศูนย์กลาง 20 มม.  และ 
  • เครื่องแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์ (Machining Center) แบบ 5 แกน “HF 3500” จากบริษัท Gebr. Heller Maschinenfabrik GmbH ซึ่งมีคุณสมบัติในการกัดชิ้นงานจาก 5 ด้านอย่างมั่นคง ด้วยแนวหมุนรอบแกน (Rotary Axes) และการทำงานพร้อมกันของแกนทั้ง 5 

เครื่องจักรที่ถูกจัดแสดงภายใน German Pavilion ทั้งหมด ล้วนเป็นโซลูชันสำหรับยุค Industry 4.0 ซึ่งจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมในทศวรรษถัดไป พร้อมซอฟต์แวร์ และโซลูชันดิจิทัล ที่จะรับประกันความเร็ว และความแม่นยำ ซึ่งจะนำพาลูกค้าไปสู่ความสำเร็จอย่างแน่นอน

สำหรับผู้สนใจ สามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ร่วมออกบูธใน German Pavilion ได้ ที่นี่