ความยืดหยุ่น ทักษะแห่งอนาคต

อัปเดตล่าสุด 18 ก.ค. 2562
  • Share :

สำหรับคน Gen B ความไม่แน่นอนของอนาคตเป็นความเที่ยงแท้อันเป็นปกติ แต่ก็ยังสามารถคาดการณ์ วางแผนปูทางไปสู่อนาคตได้ไม่ยากนัก ความถี่ของการพลิกผันยังไม่สูง จึงปรากฎว่าคน Gen นี้ส่วนหนึ่งเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ มีฐานะมั่นคงที่จะพึ่งพาตนเอง และกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพสูงมากพอสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์มาตอบสนองเฉพาะกลุ่มนี้

แต่สำหรับคน Gen Y และ Gen Z อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนยิ่งกว่า เพราะการเปลี่ยนแปลงมีความถี่สูงมาก เป็นยุค Disruption มีสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ได้ตลอดเวลา  การใช้ชีวิตดูเหมือนง่าย สะดวกสบาย แต่ก็ยากสำหรับการสร้างความมั่นคง การแข่งขันในตลาดแรงงานที่รุนแรงยิ่งกว่า เพราะคู่แข่งไม่ได้มีเฉพาะคนด้วยกัน  บรรดาหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์กลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวร่วมด้วย

ในขณะที่คนรุ่นใหม่เหล่านี้เติบโตมากับเทคโนโลยี และได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ Gen X อย่างเอาใจใส่ ทนุถนอม มีความเป็นอิสระ เชื่อมั่นในตัวเองอย่างสูง

Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสืออันโด่งดังที่ชื่อว่า Sapiens : A Brief History of Humankind และเล่มล่าสุดของเขาคือ 21 Lessons for 21 st Century  กล่าวถึงความสามารถในการอยู่รอดในยุคสมัยที่ AI เข้ายึดครองพื้นที่การทำงานในองค์กรว่าทักษะสำคัญของมนุษย์ก็คือ “ความยืดหยุ่น” หรือ "Mental Resilience"

เหตุผลก็คือผู้ที่จะอยู่รอดต้องมีวิถีปฏิบัติ 3 ประการนั่นคือ หนึ่ง มีทักษะในการใช้ชีวิต รู้ว่าอะไรสำคัญ และอะไรที่ไม่สำคัญ อะไรคือสิ่งที่มีคุณค่า และอะไรที่ไม่มีคุณค่า เพื่อให้ชีวิตมีความสมดุล ไม่ตกเป็นเหยื่อของมายาคติที่มาในรูปแบบต่างๆ สอง มีความสามารถในการปรับเปลี่ยน ที่ไม่ใช่การเลียนแบบ แต่เป็นการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม และ สาม ไม่หยุดคิดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

วิธีคิดอย่างยืดหยุ่นคือความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงอย่างเข้าใจ ยอมรับ และปรับใช้ให้เป็นประโยชน์

ต่อจากนี้อาจจะไม่มีคำว่า “เป็นไปไม่ได้” เพราะทุกปรากฏการณ์มี “ความเป็นไปได้” เสมอ

มีข้อเสนอแนะในบทความต่างๆ อย่างแพร่หลายเกี่ยวกับการสร้าง Mental Resilience หนึ่งในนั้นคือบทความในนิตยสาร Forbes ที่มีชื่อว่า Seven Ways To Build Your Mental Resilience ซึ่งจะสร้างความมั่นใจในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะท้าทายกับสิ่งใหม่ ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตประจำวัน

อันดับแรกก็คือรำลึกไว้เสมอว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แม้ว่าจะเคยล้มเหลวมากี่ครั้ง เพราะนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดในขณะนั้นที่ทำได้ ให้มั่นใจที่จะเริ่มต้นใหมเสมอ สอง ฝึกทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ดี แม้ว่าการพัฒนาจุดแข็งจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ง่าย และรวดเร็ว แต่ในสถานการณ์ที่พลิกผัน จุดแข็งที่เคยมีอาจกลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ สาม อย่าจมปลักอยู่กับความไม่พึงพอใจ อย่าตกเป็นเหยื่อของใครที่ทำให้ไม่มีความสุข ความยืดหยุ่นจะไม่เกิดขึ้นได้เลยในอารมณ์แบบนั้น สี่ หัดมองในมุมของคนอื่น เมื่อมีการตัดสินใจ และความคิดเห็นของคุณไม่ได้รับเลือก ให้ยอมรับ วิเคราะห์มุมที่ได้รับเลือก เพื่อการเรียนรู้ เพราะการตัดสินใจใดๆ ย่อมต้องเลือกในสิ่งที่ดีที่สุด ห้า เตรียมใจสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายซึ่งอาจเกิดได้ทุกเมื่อ แต่ให้ยังคงมีหวังที่จะได้พบสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ หก ภาคภูมิใจกับความสำเร็จ และเรียนรู้จากความล้มเหลว สุดท้าย เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ให้บอกกับตัวเองว่า “ฉันเอามันอยู่”  Henry Ford กล่าวไว้ว่า คุณคิดอย่างไร ก็จะเป็นไปอย่างนั้น เมื่อคุณเผชิญหน้ากับความยากลำบาก จงคิดเสมอว่าคุณเอามันอยู่ คุณก็จะเอามันอยู่จริงๆ

ทั้งเจ็ดข้อนี้คือทักษะชีวิต ที่จะทำให้วุฒิภาวะเติบโต ( Maturity Level)  มีความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง มั่นใจได้ว่าไม่ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเลวร้ายแค่ไหน ก็ “เอาอยู่” และมีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เสมอ แม้ว่าจะล้มเหลวมาสักกี่ครั้งก็ตาม

“ความยืดหยุ่น” จึงเป็นทักษะที่เกิดจากการเรียนรู้ ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เสมือนการออกกำลังกาย วิธีคิดทั้งเจ็ดข้อต้องมีตัวช่วยสำคัญคือสติ ที่จะนำไปสู่ปัญญา จึงไม่น่าแปลกใจที่คนฝั่งตะวันตกหันมาฝึกสมาธิอย่างจริงจัง และเริ่มฝึกกันตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กในหลายโรงเรียน

เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันข้างหน้า แต่ขอให้บอกตัวเองว่า พร้อมแล้วที่จะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบจากความสามารถในการปรับตัวอย่างยืดหยุ่นของเราเอง

ข้อมูลอ้างอิง ; https://www.forbes.com/sites/sallypercy/2018/07/21/seven-ways-to-build-your-mental-resilience/#6974ef0961cd

สนับสนุนบทความโดย: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ www.ftpi.or.th