“โต๊ะยี่สิบขา” และความอดทน หลักการอยู่รอดในธุรกิจจาก C.C.S. Engineering ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานรายแรกของไทย

อัปเดตล่าสุด 13 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 1,223 Reads   

คุณเกรียงไกร มโนบูรชัยเลิศ ทายาทรุ่นที่ 2 ของ C.C.S. Engineering (ซี.ซี.เอส.เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานครบวงจร และบริษัทไทยรายแรกที่ได้รับมาตรฐาน AS9100 และ NADCAP กล่าวในงาน M Talk “The next Money Machine-ฟัง G2 คุยธุรกิจใหม่” ที่ไบเทค บางนา ข่าวออนไลน์ M Report ว่า ทางบริษัทเอง ก็เคยขาดทุนเป็นเวลาหลายปี แต่สิ่งที่จะทำให้อยู่รอดได้ คือความอดทน และ “โต๊ะยี่สิบขา”

l  “หากไม่มีผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง ก็ต้องเป็นโต๊ะที่มีมากกว่าสี่ขา”

คุณเกรียงไกรเล่าว่าเดิมทีกลุ่ม C.C.S. เริ่มต้นที่ธุรกิจซื้อมาขายไปในรุ่นพ่อ จนกระทั่งได้รับออเดอร์จากญี่ปุ่น ซึ่งในตอนนั้น ทางบริษัทไม่สามารถผลิตได้ด้วยตัวเอง จึงต้องจ้างบริษัทอื่นทำการผลิต และหลังทำงานไปได้สักระยะ พบว่ามียอดสั่งซื้อมากขึ้น และงานที่จ้างผลิตมีทั้งชิ้นงานที่เสียหาย และสูญหาย จึงเป็นเหตุให้เปิดบริษัทเป็นของตัวเอง เน้นคุณภาพตั้งแต่ต้นยันจบ เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจ ส่งผลให้บริษัทเติบโตขึ้นจนขยับขยายโรงงานมาถึงปัจจุบัน

ในช่วงต้น C.C.S. Engineering ทำงานด้านงานกลึง ปาด ไส และไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอากาศยาน แต่เนื่องจากทางบริษัทไม่มีผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีศักยภาพในการตอบโจทย์ให้ได้ในหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหรรมยานยนต์ แม่พิมพ์ ตลับลูกปืน อากาศยาน และอื่น ๆ จึงเกิดเป็นหลักปรัชญา “โต๊ะยี่สิบขา” โดยเปรียบเทียมกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้กับขาโต๊ะ ซึ่งยิ่งหากมีขามาก โต๊ะก็จะยิ่งล้มยาก ช่วยพยุงโต๊ะให้ไม่ล้มลงได้หากเกิดวิกฤต ซึ่งหากบริษัทสามารถผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพได้แล้ว ก็ย่อมช่วยกันส่งเสริมให้ธุรกิจมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

l  สู่ธุรกิจอากาศยาน


“ในการเข้าสู่ธุรกิจชิ้นส่วนอากาศยานนั้น หากเราจะสร้างบริษัทขึ้นเพื่อผลิตชิ้นส่วนอากาศยานโดยตรงแล้วเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เนื่องจากในอุตสาหกรรมนี้จำเป็นต้องใช้เวลานานในการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น หากซื้อเครื่องจักรมาเพื่อผลิตชิ้นส่วนให้ลูกค้าอนุมัติ ก็จะใช้เวลาเป็นปีจึงจะอนุมัติได้ และในการเซ็นสัญญาแต่ละครั้งเองก็ใช้เวลาเช่นเดียวกัน ซึ่งทางลูกค้าเอง ก็ต้องการพิจารณาดูว่าบริษัทจะไปรอดด้วยหรือไม่ มีศักยภาพในการหาเงินมาหมุนไหม ซึ่งอย่างกรณีของ C.C.S. Engineering ก็มีลูกค้าที่มาหาตั้งแต่เริ่มต้น แต่กว่าจะเซ็นสัญญาจริงก็เข้าสู่ปีที่ 3 ไปแล้ว”

C.C.S. Engineering มีโอกาสได้เข้าสู่ธุรกิจชิ้นส่วนอากาศยานเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2005 ที่ General Electric ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกาได้เข้าตั้งบานการผลิตในไทย ซึ่งเป็นผลจากการเปิดเสรีให้บริษัทเอกชนเปิดสายการบิน Low-Cost ซึ่งประจวบเหมาะกับการเปิดตัวเครื่องบินรุ่นใหม่ในช่วงนั้น และเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการขยับขยายของอุตสาหกรรมอากาศยานไทย ซึ่งในช่วงแรก บริษัทยังไม่ได้ผลิตชิ้นส่วนโดยตรง แต่เป็น Jig และ Fixture เท่านั้น จนกระทั่งได้รับข้อเสนอให้ผลิต OEM นอกจากมาตรฐาน ISO แล้ว การเข้าสู่ธุรกิจชิ้นส่วนอากาศยาน ยังจำเป็นต้องมีมาตรฐานเฉพาะ ซึ่ง C.C.S. Engineering ใช้เวลาอยู่หลายเดือน จึงได้รับมาตรฐานนี้เป็นรายแรกของไทย ซึ่งในช่วงแรกที่เข้าสู่อุตสาหกรรมอากาศยานนั้น ชิ้นงานที่ได้รับจ้างให้ผลิต เป็นชิ้นงานที่มีรูปแบบเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน โดยมีจุดที่แตกต่างกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์อย่างชัดเจนคือรูปแบบการผลิตที่เน้นการผลิตแบบ Low-Volume High-Mix


l  ความอดทน และการลงทุน

อย่างไรก็ตาม General Electric ได้ปิดตัวลงหลังจากนั้นไม่นานนัก ซึ่งเป็นโชคดีที่ทางบริษัทมี “ขาโต๊ะข้างอื่น” ทำให้ยังสามารถรักษาธุรกิจในส่วนนี้เอาไว้ได้ ซึ่งคุณเกรียงไกรกล่าวต่อว่า ในการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานนั้น นอกจากการ Machining แล้ว ยังมีกระบวนการสำคัญอื่น เช่น การปรับปรุงสภาพผิว (Surface Treatment) ซึ่งต้องผ่านมาตรฐาน NADCAP บีบบังคับให้ทางบริษัทจำเป็นต้องลงทุนพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่มีกำไรจากธุรกิจนี้ ส่งผลให้บริษัทขาดทุนมาต่อเนื่องนับสิบปี อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท เข้าใจถึงความจำเป็นในการลงทุนนี้ จนกระทั่งบริษัทได้รับสัญญาซื้อระยะยาวในช่วงปี 2013 ทำให้ความพยายามการลงทุนพัฒนาศักยภาพการผลิตในช่วงที่ผ่านมาออกผล แต่ก็ทำให้เราต้องลงทุนเพิ่มเติมด้วย จนในที่สุด ปัจจุบันบริษัทขึ้นเป็นผู้ผลิต Tier 1 ให้กับ Boeing, Airbus, และผู้ผลิตอากาศยานรายอื่นอีกมาก ในชิ้นส่วน Sensing System, Landing System, Cargo, Air Management, และอื่น ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องการการบริหารจัดการที่แม่นยำ 

“หากถามว่าทำไมเราถึงอยู่ในอุตสาหกรรมอากาศยานได้ คงเป็นเพราะช่วงปี 2005 ที่เรารู้สึกว่าระบบบริหารจัดการของเรายังไม่ดีพอ เปลี่ยนจาก Enterprise resource planning (ERP) ไปพัฒนาระบบการผลิตที่มีความเสถียร และคงที่ ลงทุนในระบบที่ครอบคลุมไปถึงการขาย, การตลาด, การวางแผนผลิตภัณฑ์, และกระทั่งการบริหารทรัพยากรณ์บุคคล”

l  ภาษาอังกฤษ 100%

นอกจากนี้ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมอากาศยาน อีกสิ่งที่จำเป็นคือภาษา เนื่องจากในอุตสาหกรรมนี้ จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษ 100% เนื่องจากเวลาลูกค้ามาดูงาน ลูกค้าไม่พิจารณาแค่ผู้บริหาร หรือคุณภาพงานเท่านั้น แต่เป็นการพิจารณากระบวนการทั้งระบบตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดหา C.C.S. Engineering จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของบริษัทอย่างต่อเนื่อง และความสามารถทางด้านภาษา คืออีกส่วนที่ช่วยให้บริษัทสามารถแข่งขันในตลาดอากาศยานได้เป็นอย่างยิ่ง

ส่วนในอุตสาหกรรมอื่นนอกจากอากาศยานนั้น C.C.S. Engineering เองก็ไม่ต่างจากผู้ผลิตรายอื่น ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชะลอตัวในช่วงท้ายปี ซึ่งก็เป็นเพราะการอดทนลงทุนอยู่หลายปีจนเข้าสู่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานที่มีความมั่นคงสูงได้นี้เอง ที่ได้ส่งผลดีต่อบริษัทเป็นอย่างยิ่ง และในช่วงที่ลงทุนเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมอากาศยานนั้น ก็เป็นเพราะการมีขาในอุตสาหกรรมอื่นช่วยกันประคับประคองเอาไว้  จนกระทั่งธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพในที่สุด

 

บรรยากาศภายในงาน M Talk เสวนา 90 นาที “The next Money Machine - ฟัง G2 คุยธุรกิจใหม่”