เปิด 4 ทักษะสำคัญของช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน อาชีพดาวรุ่งดีมานด์สูง

อัปเดตล่าสุด 13 ส.ค. 2562
  • Share :

การเติบโตของอุตสาหกรรมการบินทั้งในประเทศไทยและภูมิภาค กำลังขยายตัวอย่างน่าจับตามอง และยังมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการสนับสนุนของรัฐบาลผ่านเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งการขยายสนามบินอู่ตะเภา, การสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบินเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) และการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul: MRO) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาทักษะสำหรับ”ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน” เพื่อช่วยผลักดันการเป็นศูนย์กลางธุรกิจ MRO ของไทยในอนาคต

 


ข้อมูลการเดินทางทางอากาศของการท่าอากาศยานไทย ในปี 2561 รายงานจำนวนเที่ยวบินทั้งในและต่างประเทศจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับปี 2560 และมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 5.5% การมีจำนวนเครื่องบินเข้าออกในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลถึงความต้องการซ่อมบำรุงเครื่องบินที่มากขึ้นไปด้วย เป็นโอกาสสำหรับอาชีพ “ช่างเทคนิควิศวกรรมหรือช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน” ที่มีแนวโน้มความต้องการมากขึ้นตามการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศและภูมิภาค

ขณะที่นายฮิวจ์ วนิชประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรลส์-รอยซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ท่าอากาศยานไทยให้ข้อมูลการจราจรทางอากาศรวมทั้งหมดกับการจราจรทางอากาศของสายการบินต้นทุนต่ำ ในปี 2561 พบว่าสนามบินนานาชาติทั้ง 6 แห่งของไทย ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, หาดใหญ่, ภูเก็ต และเชียงราย มีจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศรวมกันทั้งปีเกือบ 900,000 เที่ยวบิน เติบโตขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน มีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งชาวไทยและต่างชาติกว่า 140 ล้านคน เติบโตขึ้น 5.5%

นอกจากนี้ สายการบินต้นทุนต่ำก็มีการเติบโตมากขึ้นเช่นกัน โดยมีจำนวนเที่ยวบินทั้งปีกว่า 400,00 เที่ยวบิน เติบโตขึ้น 12% และมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งปีเกือบ 70 ล้านคน เติบโตเกือบ 12% สะท้อนถึงการเติบโตของธุรกิจการบิน เมื่อมีจำนวนเที่ยวบินเข้ามามากขึ้น ย่อมก่อให้เกิดความต้องการ “ช่างเทคนิควิศวกรรม” ในการบำรุงรักษาเครื่องบินมากขึ้นตามไปด้วย

โดย “ช่างเทคนิควิศวกรรมหรือช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน” นับเป็นอีกหนึ่งสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลก จากข้อมูล Pilot & Technician Outlook 2019-2038 โดยบริษัท โบอิ้ง คาดการณ์ว่าในอีก 20 ปี ทั่วโลกจะมีความต้องการช่างเทคนิคด้านอากาศยานอีกกว่า 769,000 คน เฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีสัดส่วนความต้องการถึง 35% ของความต้องการรวมทั่วโลก จึงเป็นโอกาสสำหรับคนที่ต้องการเติบโตในสายนี้ ขอเพียงให้มีทักษะที่เหมาะสม

โรลส์-รอยซ์ ในฐานะบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้าน MRO และอุตสาหกรรมการบิน จึงแนะนำ 4 ทักษะสำคัญที่ช่างเทคนิควิศวกรรมยุคนี้ต้องมี ประกอบด้วย ทักษะด้านความรู้ (Hard skills) และทักษะด้านอารมณ์และสังคม (Soft skills) ดังนี้
       

1. ทักษะด้านดิจิทัล เป็นทักษะในการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการสื่อสาร การปฏิบัติงาน และการทำงานร่วมกัน หรือใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ นับเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากในยุคที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ช่างเทคนิควิศวกรรมให้ก้าวข้ามข้อจำกัดทางกายภาพและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โดย โรลส์-รอยซ์ ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการทำงานทั้งด้านการผลิตและซ่อมบำรุง อย่างการใช้แบบจำลอง (Model) กระตุ้นการทำงานของเครื่องยนต์เครื่องบิน เพื่อทดสอบภาวะวิกฤติที่เครื่องยนต์สามารถรับได้ (Stress-Test) ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสำหรับช่างผู้ทำการทดสอบ หรือการติดตั้งเซนเซอร์เพื่อติดตามการทำงานของเครื่องยนต์เครื่องบิน นอกจากนี้ยังใช้ BIG DATA ตรวจหาข้อบกพร่องและลดข้อผิดพลาดจากการทำงานของคนในกระบวนการผลิตและซ่อมบำรุงอีกด้วย
         

2. ทักษะด้านเครื่องจักรกล จำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะด้านเทคนิคและวิศวกรรมเครื่องกล และด้วยความแตกต่างของเครื่องยนต์เครื่องบินแต่ละรุ่นและยี่ห้อ จึงต้องใช้เครื่องมือกลพิเศษ (Special Tools) ที่ออกแบบมาเพื่อใช้เฉพาะตัว นอกจากนี้ การเติบโตของเทคโนโลยีและการคำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหลัก ก่อให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา ช่างเทคนิควิศวกรรมจึงต้องหมั่นเพิ่มเติมความรู้และทักษะในการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรกลต่าง ๆ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานและความปลอดภัยของเครื่องยนต์
โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัตกรรมจากโรลส์-รอยซ์ ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ที่มีความแม่นยำพิเศษในการวัดขนาดใบพัดเครื่องยนต์ ซึ่งมีผลต่อการทำงานของเครื่องยนต์อย่างมาก มีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ผลิตเครื่องยนต์ให้มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น เช่น กราฟีน (Graphene) และเซรามิกแบบใหม่ เป็นต้น และในอนาคตจะนำหุ่นยนต์ขนาดเล็กเข้ามาใช้ในกระบวนการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ (SWARM Robot) โดยไม่ต้องถอดประกอบเครื่องยนต์และลดเวลาตรวจหาความผิดปกติด้วย
       

3. ทักษะด้านไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญสำหรับช่างเทคนิควิศวกรรมในการดูแลบำรุงรักษาเครื่องบิน นอกจากระบบไฟฟ้าที่ใช้ในเครื่องโดยทั่วไปแล้ว ในอนาคตเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในยุคของการพัฒนาการคมนาคมขนส่งและระบบพลังงานใหม่ในอนาคต รวมทั้งประเด็นการตื่นตัวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และหันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีการเปิดตัวเครื่องบินไฟฟ้าเมื่อไม่นานมานี้ ยิ่งเพิ่มโอกาสที่ช่างเทคนิควิศวกรรมจะได้ใช้และพัฒนาทักษะด้านไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น

โดยในส่วนของ โรลส์-รอยซ์ ได้ร่วมมือกับแอร์บัสและซีเมนส์ ทำการวิจัยและพัฒนาเครื่องยนต์พลังงานไฮบริด (E-Fan X Hybrid-Electric Technology) เพื่อช่วยสนับสนุนพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
         

4. ทักษะด้านอารมณ์และสังคม (Soft skills) โดยเฉพาะการสื่อสารภาษาอังกฤษ เพื่อให้สามารถสื่อสาร อ่านคู่มือช่าง เขียนรายงานการซ่อมตามมาตรฐาน และสามารถทำงานร่วมกับชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
“การจะส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ MRO ในภูมิภาค นอกจากต้องมีทักษะด้านความรู้และการสื่อสารตามที่กล่าวไปข้างต้น ยังต้องมีวินัยซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับความปลอดภัย เพราะเรื่องเครื่องบินความปลอดภัยมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง โดยเริ่มจากใส่ใจในความปลอดภัยของตัวเองก่อน”

นอกจากนี้ นายฮิวจ์ ยังแสดงความเห็นว่า รัฐบาลควรขยายหลักสูตรด้านวิศวกรรมการบินและผลิตช่างเทคนิคด้านนี้ให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องเข้ามาลงทุนในส่วนนี้ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการทำงานได้จริง เนื่องจากเครื่องมือในอุตสาหกรรมการบินมีมูลค่าสูงกว่าพันล้านบาท หากจะซ่อมเครื่องยนต์ก็เปิดโอกาสให้บุคลากรได้ทดลองศึกษาจากเครื่องยนต์จริง โดยประสานงานกับสายการบินเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสสัมผัสและฝึกอบรมจากเครื่องบินจริง ๆ

ทั้งนี้ จากรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน ของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานทั่วโลก มีมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมีส่วนแบ่งการตลาดคิดเป็น 17% เป็นอันดับ 3 รองจากอเมริกาเหนือ (35%) และยุโรปตะวันตก (22%) ตามลำดับ และยังเผยคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงอากาศยานในเอเชียแปซิฟิค ระหว่างปี 2558-2567 คิดเป็นมูลค่ารวม 167 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย 722 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2558 จะขยายตัวถึง 10.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 คิดเป็นการเติบโตกว่า 6% และยังคาดการณ์ความต้องการเครื่องบินใหม่ทั่วโลก ระหว่างปี 2559-2578 รวมอยู่ที่ 39,620 ลำ โดยที่ภูมิภาคเอเชียมีความต้องการเครื่องบินใหม่สูงที่สุด 15,130 ลำ คิดเป็น 38% ของสัดส่วนเครื่องบินที่มีความต้องการทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว

สนับสนุนบทความโดย :  สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)    www.eeco.or.th