ศูนย์กระจายสินค้า ‘อาลีบาบา’ อีคอมเมิร์ซไทยรับมืออย่างไร

อัปเดตล่าสุด 8 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 3,551 Reads   

หลังจากเมื่อปีที่แล้วประเทศไทยมีข่าวขายทุเรียนให้ชาวจีนผ่านช่องทางออนไลน์อย่างครึกโครม เบื้องหลังความโด่งดังนี้มาจาก อาลีบาบา (Alibaba) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในประเทศจีน นำโดย แจ็ค หม่า (Jack Ma) ประธานบริหารอาลีบาบากรุ๊ป ที่โลดแล่นอยู่ในวงการอีคอมเมิร์ซกว่า 20 ปี และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจนเป็นที่จับตามองระดับโลก ซึ่งการที่ แจ็ค หม่า หรือ อาลีบาบา เข้ามาเคลื่อนไหวยังประเทศต่าง ๆ ย่อมเป็นกระแสเรียกความสนใจได้ในระดับชาติ นาทีนี้ผู้ประกอบการน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักอาลีบาบา

ทำความรู้จักอาลีบาบา (Alibaba)

อาณาจักรอีคอมเมิร์ซจีนที่ไม่ได้มีดีแค่อีคอมเมิร์ซ แต่อาลีบาบายังมีธุรกิจในเครือ เช่น ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้ง สื่อและบันเทิง เทคโนโลยีและนวัตกรรมอื่น ๆ อย่างไรก็ตามอีคอมเมิร์ซยังเป็นธุรกิจหลักในการสร้างรายได้ให้กับอาลีบาบา โดยมีทั้งโมเดลค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งมีทั้งในประเทศเอง และแบบข้ามพรมแดน อาทิ Alibaba, 1688, Taobao, AliExpress, Tmall, และ Lazada เป็นต้น 

ไม่ใช่แค่เว็บอีคอมเมิร์ซที่อาลีบาบาพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ยังมี เหอหม่า (Hema Stores) ซูเปอร์มาร์เก็ตไร้เงินสดที่ผสานโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าไว้ด้วยกัน โดยวิธีการชำระเงินจะต้องมีแอปพลิเคชันของเหอหม่าก่อน เพื่อที่จะเชื่อมต่อกับ อาลีเพย์ (Alipay) อีกหนึ่งในธุรกิจของอาลีบาบา 

นอกจากนั้นยังมีบริการด้านโลจิสติกส์ (Logistics) ที่อาลีบาบาเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม นั่นก็คือ ไช่เหนี่ยว (Cainiao Network) โดยวางแผนให้เป็น Global Hub ในการขยายการค้าข้ามพรมแดนให้กว้างไกลขึ้น เบื้องต้นมีอยู่ 5 แห่ง ได้แก่ หางโจว-จีน ดูไบ-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กัวลาลัมเปอร์-มาเลเซีย ลีเกอ-เบลเยี่ยม และมอสโก-รัสเซีย

ย้อนดูไทม์ไลน์ก่อนจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในไทย

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนเมษายน ปี 2561 ข่าวใหญ่ในแวดวงเศรษฐกิจไทยนั่นก็คือ การมาเยือนไทยของ แจ็ค หม่า เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างอาลีบาบา และรัฐบาลไทยในการลงทุนพื้นที่ EEC หรือ Eastern Economic Corridor ใจความสำคัญจะเป็นความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ Smart Digital Hub เพื่อช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพ และ SME ไทยให้สามารถผลิตสินค้าและบริการใหม่ ขยายช่องทางการขายข้ามพรมแดนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) โดยอาศัยเทคโนโลยีจากอาลีบาบา ได้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือเพื่อให้การสนับสนุนด้านดิจิทัล โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และการพัฒนาบุคลากร รวมถึงลงนามซื้อขายทุเรียนมูลค่า 428 ล้านดอลลาร์ หรือราว ๆ 13,000 ล้านบาท ซึ่งไม่กี่วันถัดมาไฮไลท์สำคัญก็คือ อาลีบาบาช่วยเกษตรกรไทยขายทุเรียน 80,000 ลูกใน 1 นาที ด้วยการจำหน่ายทุเรียนพันธุ์หมอนทองผ่านเว็บไซต์ Tmall เป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งในจีนอย่างอาลีบาบาได้อย่างเป็นรูปธรรมทีเดียว

ช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2561 อาลีบาบาประกาศความร่วมมือกับประเทศมาเลเซีย ด้วยการเปิดสำนักงานของอาลีบาบาในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่ต้องการผลักดันให้เกิด eWTP (Electronic World Trade Platform) แห่งแรกที่ตั้งอยู่นอกประเทศจีน ซึ่งสนับสนุนด้าน โลจิสติกส์ คลาวด์คอมพิวติ้ง การพัฒนาบุคลากร และอีคอมเมิร์ซ โดยคาดหวังให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางการค้าของอาลีบาบาประจำภูมิภาค ซึ่งนอกจากมาเลเซียจะเป็นศูนย์กลางอีคอมเมิร์ซในการส่งสินค้าไปยังจีน อาลีบาบายังจะช่วยสนับสนุนธุรกิจ SME ท้องถิ่น พัฒนาคนรุ่นใหม่ และสร้างงานให้กับคนมาเลเซียอีกด้วย เหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างว่าเหตุใดอาลีบาบาจึงได้ไปลงทุนกับมาเลเซียก่อนไทยเรา 

สิงหาคม ปี 2562 อาลีบาบาตัดสินใจลงทุนหมื่นล้านจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยลงนามบันทึกความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ 

  1. การใช้อีคอมเมิร์ซเพื่อส่งออกสินค้าเกษตรและโอทอป 
  2. การพัฒนา SME เพื่อเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ 
  3. การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง 
  4. และการลงทุน Smart Digital Hub 

 

โดยหลังจากประกาศความร่วมมือไปแล้วกลับมีเสียงสะท้อนตามมาด้วยความกังวลในเรื่องต่าง ๆ มากมาย 

ไขข้อข้องใจศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะ

ก่อนที่จะอธิบายประเด็นของศูนย์กระจายสินค้า ท้าวความไปถึง EEC (Eastern Economic Corridor) โดยมีชื่อภาษาไทยว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งประเทศไทยเองถือเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับกลุ่มเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย และอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่รายล้อมไปด้วยประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) เหมาะแก่การลงทุนในอาเซียน ซึ่ง EEC ต่อยอดความสำเร็จจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ที่ดำเนินงานมาตลอด 30 ปี สำหรับ EEC ระยะแรกนั้นตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

  • การเข้ามาตั้งศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะของอาลีบาบา ถือเป็นการลงทุนโครงการหนึ่งใน EEC เท่านั้น มีการคาดหวังว่าการเข้ามาของอาลีบาบาจะช่วยกระตุ้นการค้า การลงทุน ให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อีกทาง 
  • ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งอาณาเขตเชื่อมต่อกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงติดกับมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ด้านการขนส่งทั้งทางเรือ และรถไฟความเร็วสูงในอนาคตได้อีกด้วย
  • ศูนย์กระจายสินค้าตั้งอยู่ใน EEC ขนาด 200,000 ตารางเมตร ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเตรียมส่งมอบให้อาลีบาบาในช่วงเดือนกันยายน 2562
  • กรณีการเข้ามาลงทุน 13,480 ล้านบาท ในครั้งนี้เป็นการถือครองที่ดินตามปกติ และไม่ได้รับสิทธิ์การยกเว้นภาษี 13 ปี เหมือนที่หลาย ๆ ฝ่ายกังวลกัน 
  • สิทธิประโยชน์ที่อาลีบาบาจะได้จากการเข้ามาลงทุนใน EEC คือ การชำระภาษีศุลกากร ทุก 14 วัน โดยจากเดิมที่ต้องชำระทุกวัน ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มักมีการเปลี่ยนคืนสินค้าหากไม่พึงพอใจ ภายใน 14 วัน

ความท้าทายของอีคอมเมิร์ซไทยหลังเปิดรับอาลีบาบา

ข่าวการเข้ามาของอาลีบาบากลายเป็นกระแสความวิตกกังวลของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อค้าคนกลาง ซึ่งปกติอาศัยการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมาขายให้กับผู้บริโภคชาวไทย แต่การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าของอาลีบาบาในไทยยิ่งเป็น 

  • การเพิ่มสินค้า Cross Border ให้ทะลักเข้ามาจำนวนมหาศาล อ้างอิงข้อมูลจาก Priceza แพลตฟอร์มเพื่อการค้นหาสินค้า และบริการเปรียบเทียบราคา ซึ่งได้ทำการเก็บข้อมูลของสินค้าจากต่างประเทศ (Cross Border) เปรียบเทียบกับ สินค้าภายในประเทศ (Local) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2562 พบว่า ในแพลตฟอร์ม Priceza มีสัดส่วนสินค้า Cross Border 58% ในขณะที่มีสินค้า Local 42% จากจำนวนสินค้าราว ๆ 50 ล้านชิ้น โดยสินค้า Cross Border ส่วนใหญ่นั้นเป็นสินค้าจากประเทศจีน

  • ประเด็นภาษี หนึ่งในความกังวลถึงความได้เปรียบ เสียเปรียบ ของผู้ประกอบการชาวไทย เมื่ออาลีบาบามาตั้งศูนย์กระจายสินค้าใน EEC กลายเป็นว่าอาลีบาบาสามารถนำสินค้าเข้ามาล็อตใหญ่ ซึ่งจะถือว่าอยู่ในเขตปลอดอากรสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท จะไม่เสียภาษีนำเข้าและ Vat จากเดิมที่ต้องมีพ่อค้าคนกลาง ตอนนี้สินค้าจีนมาขายถึงมือผู้บริโภคได้โดยตรงผ่านเว็บไซต์อีมาร์เก็ตเพลสในเครืออย่าง ลาซาด้า (Lazada) ที่มีฐานความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทยต่อเนื่องมาหลายปี
  • การจัดส่งสินค้าทำได้รวดเร็วขึ้น จากปกติเวลาที่เราสั่งซื้อสินค้าจากจีนจะใช้เวลาอย่างน้อย 7 – 14 วัน ในการผ่านกระบวนการต่าง ๆ แต่เมื่อมีศูนย์กระจายสินค้าในไทย จะช่วยย่นระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าให้ลดลงเหลือ 1 – 3 วัน ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ หากมองลงไปในด้านโลจิสติกส์ซึ่งปัจจุบัน ลาซาด้า มี LEX หรือ Lazada Express eLogistics ในการขับเคลื่อนการขนส่งสินค้าในประเทศไทยแล้ว คงจะละเลย ไช่เหนี่ยว ไปเสียไม่ได้ หากจะสร้างให้เป็น Global Hub เป็นไปได้ว่า ไช่เหนี่ยว จะต้องมีที่ EEC ด้วยเช่นกัน
  • ระบบนิเวศอาลีบาบา การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าไม่ได้มีผลต่ออีคอมเมิร์ซเท่านั้น หากกล่าวถึงระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซ หรือ E-Commerce Ecosystem จะมีเรื่องของ ระบบการชำระเงิน (E-Payment) ระบบขนส่ง (E-Logistics) เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเสมอ ซึ่งธุรกิจของอาลีบาบาเองนั้นเรียกได้ว่าครอบคลุมทั้งระบบชำระเงินอย่าง อาลีเพย์ ระบบขนส่งอย่างไช่เหนี่ยว หากระบบนิเวศไม่สมดุล เรียกได้ว่าเกิดการผูกขาดตลาดเจ้าใดเจ้าหนึ่ง (Monopoly) จะเกิดการต่อรองและมีอิทธิพลมากเกินไป ดังนั้น เมื่อหลายธุรกิจของอาลีบาบาเข้ามาในไทย สิ่งสำคัญที่ภาครัฐ และภาคเอกชน จะต้องคำนึงถึงคือการสร้างตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition Market) ซึ่งในตลาดจะต้องมีผู้เล่นหลายรายเพื่อแข่งขันกันได้อย่างเสรี

ผู้ประกอบการไทยเดินเกมต่ออย่างไร

ดูเหมือนว่าประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับในภาพรวมนั้นมีหลายประการ แต่การเข้ามาของอาลีบาบาอาจไม่ได้ส่งผลดีทั้งหมดกับผู้ประกอบการไทยที่ปัจจุบันนอกจากจะต้องแข่งขันกันเองแล้ว ยังจะต้องแข่งขันกับต่างชาติที่เข้ามาลงทุน อาจดูไม่ง่ายนักในสถานการณ์ต่อจากนี้ การปรับตัวเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยพึงมีหากต้องการก้าวข้ามสถานการณ์หรือปัญหาใด ๆ ก็ตาม ซึ่งผู้ประกอบการควรใส่ใจในรายละเอียด ดังต่อไปนี้

1. สินค้า คุณภาพ เอกลักษณ์ ไม่ซ้ำใคร ถึงแม้ว่าสัญญาความร่วมมือที่ได้ทำร่วมกันไว้มีประการหนึ่งที่บอกว่า จะใช้อีคอมเมิร์ซเพื่อส่งออกสินค้าเกษตรและโอทอป ซึ่งอาลีบาบาเองก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำได้จริงจากจำนวนทุเรียนที่ขายไปจำนวนมาก แต่ใช่ว่าทุเรียนจะเป็นสินค้าอย่างเดียวที่มีเฉพาะในประเทศไทย แท้จริงแล้วทุเรียนมีอยู่ทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะยิ่งมีข่าวการสนับสนุนการขายทุเรียนมาเลเซียช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าหากผู้ประกอบการต้องการที่จะปรับตัวให้ขายได้ในทุกสถานการณ์ เรื่องของสินค้ามีความสำคัญและเป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจ ดังนั้น คุณภาพของสินค้า จึงเป็นแกนหลักที่จะนำมาเป็นข้อได้เปรียบในการขายสินค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ 

2. เรื่องต่อมาคือ เอกลักษณ์ ยกตัวอย่างกรณีทุเรียน แต่ละที่ย่อมมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป เป็นไปได้ไหมที่เราจะผลิตสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเราเอง เพื่อที่จะครองใจลูกค้า และสร้างโอกาสเหนือคู่แข่ง เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตสินค้าไทยที่มีคุณภาพ และ
ตอบโจทย์ลูกค้าได้ไม่ยากนัก

แล้วกรณีพ่อค้าคนกลางจะทำอะไรได้บ้าง ข้อมูลของ Priceza เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา อ้างถึง
ประเภทสินค้า Cross Border และ Local ที่ขายอยู่ในมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ในไทย พบว่า 
ประเภทสินค้าที่มีจำนวนสินค้ามากที่สุด ได้แก่

  1. สินค้ากลุ่มกีฬา 
  2. สินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยง 
  3. เครื่องประดับ
  4. อะไหล่ยานยนต์
  5. สินค้าเพื่อความบันเทิงภายในบ้าน

 

หากพ่อค้าคนกลางมีแนวคิดที่จะหาสินค้ากลุ่มดังกล่าวมาขายแข่งกับสินค้า Cross Border คงจะ
ต้องใช้กลยุทธ์เรื่องราคา และการบริการเข้ามาร่วมด้วย แต่ถ้าลองหาสินค้าที่ยังมีจำนวนไม่มากมา
ขายบนมาร์เก็ตเพลสบ้าง จะเป็นสินค้าประเภทดังต่อไปนี้

  1. สินค้าอุปโภค บริโภค
  2. สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม
  3. เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
  4. อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ
  5. สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต

 

ซึ่งโอกาสของพ่อค้าคนกลางยังพอจะมีช่องทางในการขายสินค้าแบบซื้อมาขายไปได้อยู่ เพียงเลือกประเภทสินค้าที่ Cross Border ยังเข้ามาตีตลาดไม่ได้เท่านั้น


เพิ่มบริการ เพิ่มมูลค่า สร้างความประทับใจ

ความได้เปรียบของผู้ประกอบการไทย นั่นก็คือเรื่องของบริการที่เราสามารถควบคุมคุณภาพได้มากกว่าการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบริการ

  • ส่งด่วน
  • ส่งฟรี
  • รับประกันคุณภาพสินค้า
  • เปลี่ยนคืนสินค้า
  • ลองสินค้าก่อนได้
  • การันตีความพอใจ
  • เจ้าหน้าที่บริการลูกค้า
  • บริการเก็บเงินปลายทาง
  • สั่งออนไลน์ รับสินค้าใกล้บ้าน
  • บริการห่อของขวัญ

การเพิ่มมูลค่าให้กับการบริการเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ลูกค้านำมาใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ราคา โปรโมชัน อาจจะเป็นตัวดึงดูด หรือเรียกร้องให้ผู้คนสนใจ แต่ราคาไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเพิ่มมูลค่าด้านการบริการเพื่อแข่งขันกับสินค้า Cross Border และผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทย

ช่องทางการขายครอบคลุม 

วันที่อีคอมเมิร์ซได้รับความนิยม ร้านค้าออฟไลน์ต่างรู้สึกว่าได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าการมาซื้อสินค้าที่หน้าร้านด้วยตนเอง ในวันนี้เมื่ออาลีบาบาเข้ามามีอิทธิพลต่อวงการอีคอมเมิร์ซไทย หลายฝ่ายต่างมีความกังวลว่าการขายสินค้าบนมาร์เก็ตเพลสจะขายยากขึ้นกว่าเดิม 

กลยุทธ์ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้โดยไม่ต้องสะดุด นอกจากจะคำนึงในเรื่องของสินค้า การบริการเพิ่มเติมดังที่กล่าวไปข้างต้น ช่องทางการขายเป็นเรื่องสำคัญ หากเรามีสินค้าและบริการอันยอดเยี่ยม มันจะไม่มีความหมายเลยถ้าเราไม่มีช่องทางในการขาย

ผู้ประกอบการหลายท่านคงคุ้นเคยกับหลากหลายช่องทางการขายเพื่อให้ได้มาซึ่งยอดขาย อาทิ หน้าร้าน เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม ไลน์ มาร์เก็ตเพลส และเว็บไซต์ของตัวเอง เป็นต้น ปัจจุบันคำว่า ออมนิชาแนล (Omni-Channel) เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น พื้นฐานคือการเชื่อมโยงทุกช่องทางเข้าไว้ด้วยกัน เช่น เมื่อสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ สามารถไปรับสินค้าที่หน้าร้านได้ โดยที่มีข้อมูลเหมือนกัน 

สังเกตว่าช่องทางการขายส่วนใหญ่นั้น ผู้ประกอบการจะต้องอาศัยแพลตฟอร์มอื่นในการขายสินค้า มีเพียงเว็บไซต์ของตัวเองเท่านั้นที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการได้ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า และนำมาใช้ประโยชน์เพื่อต่อยอดในหลาย ๆ เรื่อง ได้แก่ การบริการ การพัฒนาสินค้าใหม่ การแนะนำสินค้าให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า และอื่น ๆ ทั้งหมดนี้เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เป็นการสร้างฐานลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง

การเข้ามาของอาลีบาบานั้นจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลถ้าผู้ประกอบการไทยสามารถปรับกลยุทธ์ให้พร้อมรับมือได้ทันท่วงที ประกอบกับการไม่หยุดเรียนรู้ถือเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวและสร้างยอดขายได้ในทุกสถานการณ์

สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังมองหาโอกาสและแนวทางในการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับแนวโน้มสถานการณ์ตลาดอีคอมเมิร์ซในปัจจุบัน สามารถติดตามงานสัมมนาที่จะช่วยตอบคำถาม และชี้ทิศทางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ที่งาน Priceza E-Commerce Summit 2020 ก่อนที่นั่งเต็มได้แล้ววันนี้