เปิด Timeline พร้อมชี้ช่องเกิด ตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

อัปเดตล่าสุด 18 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 2,128 Reads   

ในขณะที่ทั่วโลกต่างตื่นตัวกับการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับขีดความสามารถในการผลิต โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วอย่างเยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ รวมถึงประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมเติบโตสูงสุด ทั้งยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านวิทยาการหุ่นยนต์จนมีศักยภาพยกระดับเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์เสียเอง


สำหรับประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไทยมีการใช้โรบอท หรือหุ่นยนต์ รวมทั้งระบบอัตโนมัติมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตมากขึ้น แต่ก็มีเพียงร้อยละ 15 ของอุตสาหกรรมทั้งหมดในประเทศไทย กล่าวคือมีการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติเพียง 15% และใช้แรงงานคน 85% เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ที่แม้จะเป็นประเทศเล็ก ๆ ซึ่งมีจำนวนหุ่นยนต์น้อยกว่าประเทศไทย แต่เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนต่อจำนวนแรงงานแล้ว สิงคโปร์กลับเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสูงถึง 488 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน อยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก 


2012 หุ่นยนต์และระบบบอัตโนมัติบุกตลาดประเทศไทย

จำนวนหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมของไทยปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก ตามหลังประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี ไต้หวัน ฝรั่งเศส และสเปน โรงงานในประเทศไทยที่มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิต โดยส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานที่มีการลงทุนก่อสร้างและวางระบบใหม่ จะเห็นได้ว่า การลงทุนในหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงปี 2012 หลังเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ โรงงานจำนวนมากมีการลงทุนเครื่องจักรใหม่ จึงมีโอกาสเลือกใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งช่วงเวลาดังกล่าวมีการปรับขึ้นค่าแรงและประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงเป็นแรงผลักดันที่ยอดเยี่ยมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และยังได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติมที่จะทำให้บริหารต้นทุนได้ดีขึ้น  productivity เพิ่มขึ้น และรักษามาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้คงที่อีกด้วย 

2016 ไทยมีการใช้หุ่นยนต์ใน 3 อุตสาหกรรมหลัก

ปี 2016 การใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมไทยยังกระจุกตัวอยู่แค่ 3 อุตสาหกรรมหลักคือ 1.ยานยนต์ 2.พลาสติกและยาง และ 3.อิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง 3 อุตสาหกรรมดังกล่าวล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมีทักษะ ซึ่งค่าแรงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาพรวมอุตสาหกรรม ประกอบกับแนวโน้มค่าแรงที่จะปรับตัวสูงขึ้น แต่เทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์และเครื่องจักรต่างปรับราคาลดลง และคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าราคาก็อาจจะถูกลงอีก ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย หรือกระดาษ เป็นกลุ่มที่คาดว่าหุ่นยนต์จะมาแทนที่ได้ช้า เนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งด้านความสามารถของหุ่นยนต์ และมีแรงงานราคาถูกกว่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมโดยรวม


2017 หุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกกระจุกตัวอยู่ใน 5 ประเทศ 

ปี 2017 ทั่วโลกมีการจำหน่ายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพื่อใช้งาน 381,335 ตัว ซึ่งร้อยละ 72 ของการจำหน่ายหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกกระจุกตัวอยู่ใน 5 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเยอรมนี โดยมีลูกค้าหลัก คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ มีการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 125,700 ตัว จากทั่วโลก หรือคิดเป็น 33% ในขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมที่มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานมากเป็นอันดับที่ 2 โดยมีการใช้งานหุ่นยนต์ 121,300 ตัว และอุตสาหกรรมเหล็กมีการนำหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเข้ามาใช้เป็นอันดับที่ 3 จำนวน 44,536 ตัว (ข้อมูลจาก IFR World Robotics) 

 


สัดส่วนการใช้งานหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม ปี 2015 - 2017 
ที่มา : IFR World Robotics

2018 โตต่อเนื่อง 6%

รายงาน “World Robotics” จัดทำโดย International Federation of Robotics (IFR) เผย ยอดลงทุนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกแตะ 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการจัดส่งแล้วกว่า 422,200 เครื่องในปี 2018 เพิ่มขึ้น 6% จากปี 2017 อย่างไรก็ตาม IFR คาดการณ์ว่า ในปี 2019 ยอดลงทุนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมลดลงจากปี 2018 ก่อนเริ่มฟื้นตัวในช่วงปี 2020 - 2022

Mr. Junji Tsuda ประธานสมาคม IFR รายงานว่า “ในปี 2018 ยอดขายโรบอททั่วโลกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าจะเป็นปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ประสบปัญหามาก อีกทั้งเป็นปีแรกที่มีการติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกรวมแล้วเกิน 400,000 เครื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื้นเต้นเป็นอย่างยิ่งในสภาวะสงครามการค้าจีน - สหรัฐ ที่รุนแรงเช่นนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่า ตลาดหุ่นยนต์จะมีการเติบเติบโตถึง 2 หลัก และมียอดการติดตั้งหุ่นยนต์เพิ่มในปี 2022 อยู่ที่ประมาณ 584,000 เครื่อง”

EEC สำนักคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เผยข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มว่าจะมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในสายการผลิตมากขึ้น ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศในการสร้างอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล่านี้จะเพิ่มความต้องการระบบหุ่นยนต์ในประเทศ สร้างองค์ความรู้ สร้างบุคลากรที่มีทักษะ ประเทศไทยจึงมีการวางแผนสร้างฐานการผลิตหุ่นยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศและภูมิภาคอาเซียนโดยตรง ได้แก่ 

  • หุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ โดยเฉพาะหุ่นยนต์ที่ใช้ในการเชื่อมโลหะ (Welding Robot) ซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งของจำนวนหุ่นยนต์ที่นำเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน หรือนับเป็น 38% ของจำนวนหุ่นยนต์ที่นำเข้าทั้งหมด โดยหุ่นยนต์เหล่านี้ มักจะมาในรูปแบบแขนกลหุ่นยนต์ที่มีแกนเคลื่อนที่แบบหมุน (Articulated Robot)
  • หุ่นยนต์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตงานฉีดพลาสติก ที่มีการนำเข้ามากเป็นอันดับสองในภูมิภาค คิดเป็น19% ของจำนวนหุ่นยนต์ที่นำเข้าทั้งหมด โดยหุ่นยนต์เหล่านี้เป็นแขนกลหุ่นยนต์ที่มีทั้งรูปแบบแกนเคลื่อนแบบหมุน และรูปแบบแกนเคลื่อนที่แบบเชิงเส้น
  • หุ่นยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น หุ่นยนต์ดำน้ำ และหุ่นยนต์ที่ใช้ในปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยมุ่งเน้นรูปแบบที่ผลิตมาเพื่อสรีระของผู้ป่วยชาวเอเชีย ซึ่งการผลิตหุ่นยนต์ประเภทหลังนี้ จะเป็นการพัฒนาหลังจากที่ประเทศไทยมีประสบการณ์จากการผลิตหุ่นยนต์แบบแขนกลมาแล้ว

ความท้าทายและโอกาสของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในไทย 

การใช้งานหุ่นยนต์ในภาคบริการมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ขณะที่การใช้งานหุ่นยนต์ในปัจจุบันยังอยู่ในภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้หุ่นยนต์บริการได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ ความท้าทายที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยอาจจะต้องเผชิญคือ ความท้าทายจากประเทศจีนในเรื่องการผลิตหุ่นยนต์ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสและศักยภาพในส่วนของการเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์ภาคบริการ เนื่องจากแนวโน้มการเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมเริ่มขยายธุรกิจไปสู่ภาคบริการมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยยังมีความพร้อมในด้านทักษะเชิงเทคนิคของบุคลากรในประเทศ โดยเห็นได้จากการชนะการประกวดหุ่นยนต์บริการในระดับโลกของนิสิตนักศึกษา รวมทั้งผู้ประกอบการไทยในหลายรายการ 

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อที่จะพัฒนาต่อยอดโครงการที่ประสบความสำเร็จไปในเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับวงการอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยได้ในระยะต่อไป โดยผู้ผลิตหุ่นยนต์บริการควรที่จะจับตลาดเฉพาะ (niche market) และเจาะตลาดต่างประเทศผ่านการส่งออกเพื่อสามารถลดต้นทุนได้ สำหรับผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมไทยควรเร่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับผู้เล่นรายใหญ่ให้ครอบคลุมทั้งเอเชีย เพื่อพัฒนาให้ห่วงโซ่อุปทานหุ่นยนต์เคลื่อนมาอยู่ในภูมิภาคนี้มากขึ้นในระยะต่อไป 

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยจะสามารถเติบโตได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับองค์รวมทั้งระบบของกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทั้งกลุ่มผู้ผลิต (Supply Side) กลุ่มผู้ใช้ (Demand Side) และที่สำคัญกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณาการระบบอัตโนมัติ หรือ SI (System Integrator) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและพัฒนาระบบให้สอดคล้องตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการผลิต

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มุ่งให้ความสำคัญกับกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องจักร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทั้งกลุ่มผู้ผลิต (Supply Side) และกลุ่มผู้ใช้ (Demand Side) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้มีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้มากขึ้นก่อน (Demand) เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Supply) ตามมา นำมาสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทั้งระบบ  

  • กลุ่มผู้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการกลุ่ม A ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ในระดับสูง คือ จะได้รับสิทธิและประโยชน์ด้านการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 - 8 ปี ด้านการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิและประโยชน์ที่มิใช่ภาษีอากร และหากโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) จะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมอีกด้วย
  • สำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จะสามารถขอรับการส่งเสริมได้ในประเภทกิจการ คือ กิจการ 4.5.1 ผลิตเครื่องจักร และ/หรืออุปกรณ์อัตโนมัติ ที่มีการออกแบบทางวิศวกรรม กิจการ 4.5.2 ผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ชิ้นส่วน และ/หรือ การซ่อมแซมแม่พิมพ์ และกิจการ 4.5.4 ประกอบหุ่นยนต์ หรืออุปกรณ์อัตโนมัติ และ/หรือ ชิ้นส่วน

นอกจากนี้ บีโอไอยังมีมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในโรงงาน ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ผู้ได้รับการส่งเสริมสามารถนำเงินลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพดังกล่าว มาลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้มากที่สุด คือ อุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์

รวมทั้งกิจการที่เป็นหัวใจหลักของอุตสาหกรรมนี้คือกลุ่มผู้ออกแบบและพัฒนาระบบผลิตอัตโนมัติ (SI : System Integrator) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ ประกอบ และติดตั้งระบบอัตโนมัติพร้อมระบบซอฟต์แวร์ ตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม (Made to Order) ซึ่ง SI เป็นกลไกขับเคลื่อนหลักของอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ก็ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอเช่นกัน โดยได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี

ในปี 2018 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมในกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 58 โครงการ มีมูลค่าทั้งสิ้น 7,687 ล้านบาท

นอกจากมาตรการพัฒนาด้านต่าง ๆ ดังกล่าว มีการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์บนพื้นที่ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 5 ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรม แหลมฉบัง จ.ชลบุรีอีกด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดผู้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม
 
ข้อมูลอ้างอิง: 
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions
https://waa.inter.nstda.or.th
https://www.eeco.or.th/industry