ส่องโมเดล อุตสาหกรรม 4.0 ในเยอรมัน

อัปเดตล่าสุด 12 ก.ค. 2562
  • Share :

สำหรับผู้อ่านที่สนใจติดตามข่าวสารการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของโลกในช่วงนี้ คงอาจคุ้นเคยกับคำว่า Industry 4.0 มาบ้าง เมื่อโลกจริงและโลกเสมือนถูกผนวกรวมเข้าด้วยกัน ภาคบริการโดยเฉพาะภาคการเงินและการธนาคาร น่าจะเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็วและเห็นเด่นชัดที่สุด เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจของการแลกเปลี่ยนข้อมูล และมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนระบบอัตโนมัติมาใช้มากมายในทุกขั้นตอน

Advertisement

SME และแรงงานไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในยุค 2.0 แต่ถ้าจะปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ ช่องว่างและระยะห่างกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ จะยิ่งถ่างออกมากขึ้น ทั้งๆ ที่ศักยภาพและความสามารถของประเทศไทยน่าจะอยู่ในระดับ 3.0 มาได้นานแล้ว เมื่อต้นเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา คุณสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวไว้ในการประชุม “การขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ด้วยอุตสาหกรรม 4.0” ว่า การยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย จำเป็นต้องยกระดับ SMEs และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ไปสู่ “อุตสาหกรรม 4.0” ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายใหญ่ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศ ความจริงแล้วการเปลี่ยนผ่านหรือยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศครั้งนี้สำคัญมาก ซึ่งจากตัวเลขที่ผมได้มีการพูดคุยกับคนในวงการอุตสาหกรรม ตลอดจนประสบการณ์ที่ผมได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ประเมินว่าเมื่อสิบปีก่อน มีมากกว่าร้อยละ 80 ที่ยังอยู่ในระดับ 2.0 แต่ด้วยผลของการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทำให้ผู้ผลิตในหลายอุตสาหกรรมขยับปรับตัว ที่ยังคงดำเนินการอยู่ในประเทศไทยมีการลงทุนใช้เครื่องจักรเพื่อการผลิตในสัดส่วนที่มากขึ้น ทั้งที่เป็น Semi-auto ไปจนถึงเป็นระบบการผลิตอัตโนมัติในบางกระบวนการ ซึ่งเป็นวงจรของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ประเทศอื่นๆ อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ล้วนผ่านมาแล้วทั้งสิ้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังเชื่อว่าอาจยังมีมากถึงร้อยละ 70 ที่ยังปรับตัวไม่ทัน

 

“ดังนั้น แผนการพัฒนา SME ไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในระยะแรก (5 ปีแรก) คงต้องเริ่มจากการยกระดับ SME 2.0 (Man-Machine) ให้เป็น 3.0 (Automation and Computerization) เสียก่อน ในขณะเดียวกันก็เริ่มคัดเลือก SME 3.0 บางส่วนที่มีศักยภาพและความพร้อมเพื่อเป็นโรงงานนำร่องสู่ SME 4.0 (Cyber-Physical Production System – CPPS) โดยการสนับสนุนของกระทรวงอุตสาหกรรม”

โดยเมื่อต้นเดือนตุลาคมปี 59 ที่ผ่านมา ถ้าใครได้ติดตามข่าว รองนายรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เดินทางไปชี้แจงการลงทุน ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมีการหารือกับผู้บริหารของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยเทคนิคดาร์มสตัด ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยของรัฐบาลเยอรมนีจัดตั้งอยู่ทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเอสเอ็มอี 4.0 ซึ่งที่เยอรมันมีโมเดลการพัฒนาที่เป็นระบบและมีความชัดเจน มีกรณีตัวอย่าง ผลการสำรวจวิจัย และเครื่องมือการประเมินระดับความพร้อมของ SME ตามเกณฑ์การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เป็นแบบอย่างได้โดยไม่ยากนัก

การประเมินองค์กรตามเกณฑ์อุตสาหกรรม 4.0 ของเยอรมันนั้น แบ่งออกเป็น 6 หมวด 18 ด้าน ได้แก่

หมวด 1 Strategy and organization ประเมินภาพรวมและกลยุทธ์ขององค์กร ว่ามีแผนกลยุทธ์และการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการผลิต ทั้งในแง่กระบวนการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มากน้อยเพียงใด โดยลงลึกไปถึงโมเดลธุรกิจ เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการใช้งาน ระบบการประมวลผลข้อมูลเพื่อการชี้วัด และการสร้างนวัตกรรม แบ่งเป็น 3 ด้าน (1) Business model and strategy (2) Investments และ (3) Innovation management

หมวด 2 Smart factory โครงสร้างพื้นฐานของโรงงาน ไม่ใช่เพียงแค่การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติเท่านั้น หากแต่ระบบการผลิต ระบบการขนส่ง และกระบวนการในแต่ละขั้นตอน มีความสามารถไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำงานเชื่อมประสานกัน และยังสามารถเชื่อมโยงไปยังโรงงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยมีการรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดี แบ่งเป็น 4 ด้าน (4) Digital modelling (5) Equipment infrastructure (6) Data usage และ (7) IT systems

หมวด 3 Smart operations การดำเนินงาน ตลอดจนการบริหารงานในส่วนต่าง ๆ ผ่านช่องทางการสื่อสารแบบไร้สายและออนไลน์ สามารถสั่งการและควบคุมทั้งระยะใกล้ ระยะไกล รวมศูนย์ หรือกระจายความรับผิดชอบ อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศระหว่างแผนก/ฝ่ายต่างๆ แบ่งเป็น 4 ด้าน (8) Cloud usage (9) IT security (10) Autonomous processes และ (11) Information sharing

หมวด 4 Smart products วัตถุดิบ สินค้าระหว่างกระบวนการผลิต ตลอดจนสินค้าสำเร็จรูป มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการระบุตัวตน สามารถสอบย้อนกลับไปจนถึงข้อมูลสภาพและเงื่อนไขในการผลิตได้ง่าย และวิเคราะห์ไปถึงข้อมูลต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ เป็นการเชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ผลิต แบ่งเป็น 2 ด้าน (12) Data analytics in usage phase และ (13) ICT add-on functionality

หมวด 5 Data-driven services เป็นการเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลเพื่อการตลาด การขาย และการบริการหลังการขาย แบ่งออกเป็น 3 ด้าน (14) Share of data used (15) Share of revenues และ (16) Data-driven services

หมวด 6 Employees การพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในการทำงานยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งทัศนคติ ความรู้ และทักษะความสามารถ ซึ่งจะต้องได้รับการยกระดับไปพร้อมกับระบบอื่นๆ แบ่งออกเป็น 2 ด้าน (17) Skill acquisition และ (18) Employee skill sets

SME ที่ประเมินตนเองตามเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว จะรู้ว่าองค์กรตนเองอยู่ในระดับใดในภาพรวม และระดับใดในแต่ละหมวด จะนำมาเล่าให้ฟังในครั้งถัดไป

สนับสนุนบทความโดย: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ www.ftpi.or.th