การจัดการ Logistics สู่ Smart Warehouse “เพราะคลังคือตังค์”

อัปเดตล่าสุด 9 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 4,908 Reads   

การบริหารจัดการ Logistics และระบบคลังสินค้า มีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างคาดไม่ถึง แต่เดิม Mindset ของคำว่าคลังสินค้าคือสถานที่เก็บของ แต่ Mindset นั้นต้องถูกเปลี่ยนเพราะคลังสินค้าไม่ใช่เพียงแค่เก็บของอีกต่อไป แต่เป็นศูนย์กระจายสินค้าด้วยการบริหารจัดการสมัยใหม่ ที่จะต้องมีเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ โรบอทช่วยเคลื่อนย้ายลำเลียงสินค้า รวมถึงรถขนส่งอัตโนมัติ AGV: Automated Guided Vehicle, โดรนจะถูกนำมาใช้ขนส่งสินค้า รวมถึงภาระกิจอื่นเช่น สแกนตรวจสอบสินค้า, RFID ช่วยเชื่อมข้อมูลในการบ่งบอกและยืนยันตัวสินค้า, แว่นตา AR ช่วยการทำงานให้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น, ซอฟท์แวร์ระบบบริหารคลังสินค้า ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้เกิดความได้เปรียบของต้นทุนท้้งด้านการผลิตและการบริหารจัดการที่คุ้มค่า นำสู่การเพิ่มโอกาสความสำเร็จของธุรกิจ

การบริหารจัดการ Logistics สู่คลังสินค้าอัจฉริยะ (Smart Warehouse) จะส่งผลดีต่อธุรกิจดังนี้

  • ลดต้นทุนด้านการผลิตและขนส่ง สามารถผลิตและขนส่งได้ในปริมาณมาก
  • ถ่วงดุลอุปสงค์และอุปทาน สำหรับสินค้าตามฤดูกาล สินค้าที่มีราคาไม่แน่นอน
  • ช่วยกระบวนการผลิต ให้ผลิตได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับสินค้าที่ต้องการการเพาะหรือบ่ม
  • ช่วยลดกระบวนการตลาด ลดเวลาการส่งมอบ ลดการเสียโอกาส ตอบสนองความต้องการของลูกค้า

ซึ่งในงานสัมมนาหัวข้อ “Intelligent Warehouse and Smart Factory” ที่จัดขึ้นภายในงาน TILOG-LOGISTIX 2019 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา คุณวิศิษฏ์ วัฒนานุกูล กรรมการมูลนิธิสถาบันโลจิสติกส์แห่งเอเชีย ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการคลังสินค้าสมัยใหม่ หรือ Smart Warehouse ไว้อย่างน่าสนใจในหลายประเด็น

“การค้าขายของโลกดิจิทัล แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากโลกที่จับต้องได้ ขีดการแข่งขันจึงวัดกันที่เทคโนโลยีของการดึงดูดลูกค้า และเมื่อเกิดการซื้อขาย อะไรจะสำคัญไปกว่าการบริหารคลังสินค้า และการจัดการ Logistics”

คลังสินค้าอัจฉริยะ (Smart Warehouse)  ควรมีคุณลักษณะดังนี้

  1. นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะช่วยให้การจัดเก็บ และขนถ่ายสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
  2. จัดเก็บสินค้าคงคลังให้น้อยลง และต้องมีอัตราการหมุนเวียนสินค้าสูง
  3. สร้างระบบปฏิบัติงานที่มีมาตรฐานและคุณภาพสูงขึ้น
  4. ต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น
  5. มีเทคโนโลยีและอุปกรณ์สิ่งอำนวยการที่มีคุณภาพสูง
  6. ควรมีระบบสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ และมีการปรับปรุงระบบสื่อสารที่ครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้น

แท้จริงแล้วคลังสินค้าอัจฉริยะก็คือ กระบวนการวางแผน เพื่อปฏิบัติการและควบคุมการเคลื่อนย้ายจัดเก็บสินค้าภายในคลังสินค้าด้วยระบบอัตโนมัติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อลดขั้นตอน ลดความซับซ้อน ลดโอกาสการเกิดความผิดพลาด เพื่อเพิ่มความแม่นยำทั้งเรื่องคุณภาพ เวลา ลดอุบัติเหตุ สร้างความปลอดภัยในบุคลากรและสินทรัพย์

ทำไม ? ต้องให้ความสำคัญกับคลังสินค้าอัจฉริยะ (Smart Warehouse)  

การเติบโตของการค้าปลีกออนไลน์นับเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการด้านการจัดการระบบคลังสินค้าที่มีความแม่นยำและระบบการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อลดกระบวนการบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อน อีกปัจจัยคือความต้องการข้อมูลที่ถูกบันทึกเพื่อวางกลยุทย์การตลาด

ธุรกิจใดจะเหมาะกับโซลูชันแบบไหนก็ต้องทำการกำหนดกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี โดยต้องคำนึงถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับความต้องการทางธุรกิจที่มากขึ้นได้ ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของแต่ละคลังสินค้าก็มีให้เห็นกันอย่างหลากหลาย เช่น

คลังสินค้าที่บริหารงานด้วย "ระบบควบคุมพาหนะนำทางอัตโนมัติ AGVs (Automated Guided Vehicle)" เชื่อมต่อกับระบบขนถ่ายอื่น ๆ เช่น สายพาน การนำทาง ใช้ระบบการนำทางด้วยเลเซอร์ ทำงานตามคำสั่งด้วยระบบคลื่นวิทยุหรือการฝังสายดินใต้พื้น มีหน้าที่ในการขนส่งสินค้าและใช้ในการจัดการระบบอินทราโลจิสติกส์ทั่วไป ซึ่งมีให้เลือกตามความต้องการของอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน

การใช้เทคโนโลยีที่ในการบ่งบอกและติดตามสินค้าด้วย "ระบบความถึ่วิทยุ RFID" เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การติดตามฉลากวัตถุด้วยอุปกรณ์ที่มีชิพความจำอยู่ ใช้วิเคราะห์ปัญหา หรือติดตามสินค้าในการ Tag ข้อมูล เพื่อให้ได้ผลตอบสนองในการกระจายสินค้าในส่วนโลจิสติกส์

เทคโนโลยีแว่นตาอัจฉริยะเสมือนจริง (AR) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และซัพพลายเชนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติการในคลังสินค้า เพราะจะทำให้พนักงานสามารถเห็นรายชื่อสินค้าขณะใส่แว่นอัจฉริยะ และเมื่อหยิบสินค้าชิ้นนั้นได้แล้ว แว่นจะทำการอ่านบาร์โค้ดและยืนยันว่าใช่สินค้าที่ต้องการหรือไม่ นอกจากนี้ในการบรรจุสินค้าก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะพนักงานจะได้รับการบอกเส้นทางที่ถูกต้องไปยังสินค้าที่ต้องการและจุดที่ดีที่สุดแก่การวางสินค้านั้น ๆ บนรถเข็น หรือในกรณีที่เกิดปัญหาระหว่างการทำงาน สามาถเข้าถึงการมองเห็นผ่านแว่นตาเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

DroneScan ใช้สำหรับการสแกนบาร์โค๊ด ในพื้นที่ที่สินค้าตั้งอยู่สูง หรือพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง สามารถใช้บรรทุกเครื่องสแกนเพื่อนับสินค้าคงคลังได้เสร็จสิ้นภายใน 2 วัน ในขณะที่พนักงาน 80 คน และต้องใช้รถยก สแกนเนอร์มือถือในตรวจนับสินค้าในคลังเดียวกัน ต้องใช้เวลาทั้งหมด 3 วัน

นอกจากเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย ที่จะสามารถตอบสนองต่อคลังสินค้าอัจฉริยะ (Smart Warehouse) แล้ว ระบบที่จะเข้ามาทำงานสอดประสานร่วมกันมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ระบบการจัดการคลังสินค้า (WMS: Warehouse Management System) เป็นซอฟท์แวร์ที่เปรียบเสมือนหัวสมองของคลังสินค้า โดยจะมีกระบวนการจัดการตั้งแต่สินค้าเข้าคลังจนออกจากคลัง ช่วยลดจำนวนของสินค้าคงคลัง ลดปริมาณการใช้คนงาน ช่วยเพิ่มการใช้ประโยชน์พื้นที่การจัดเก็บอย่างเต็มที เพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการลูกค้า และสำคัญอีกประการคือการเพิ่มความถูกต้องให้กับระบบสินค้าคงคลัง

ระบบการจัดการคลังสินค้าแบบอัตโนมัติ เป็นระบบที่ต่อยอดฟังก์ชันทำงานที่หลากหลาย ซึ่งล้วนจำเป็นสำหรับการจัดการพื้นที่การทำงาน และฟังก์ชันการตรวจเช็สินค้าในสถานะต่างอย่างแม่นยำ และรวดเร็ว

การพัฒนาธุรกิจหรือการบริการขนส่งสินค้าในยุค 4.0  กระบวนการจัดการระบบ Logistics จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค สอดรับกับความสะดวกในการทำงาน ลดความซับซ้อน ลดการสูญเปล่า จึงจะเกิดผลและมูลค่าด้านธุรกิจ