“Bitwise Group” ผู้ผลิตแอร์แบรนด์ไทย “Tasaki” สอนวิธีสร้างโอกาส พร้อมเผยเทรนด์ธุรกิจ

อัปเดตล่าสุด 5 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 1,912 Reads   

คุณภวเกียรติ กีรติชีวนันท์ ทายาทนักอุตสาหกรรม ผู้บริหาร Bitwise Group กลุ่มบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ “Tasaki” เครื่องปรับอากาศแบรนด์คนไทย กล่าวในงาน M Talk “The next Money Machine-ฟัง G2 คุยธุรกิจใหม่ ” ที่ไบเทค บางนา จัดโดยสำนักข่าวออนไลน์ M Report ว่า Bitwise Group ก่อตั้งมากว่า 30 ปี เจอวิกฤตมาหลายครั้ง ทั้งต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์(ซับไพรม์) แต่ Bitwise Group ก็ผ่านมาได้ทุกครั้งแบบไม่กระทบนัก ด้วย 3 ปัจจัยหลักในการสร้างโอกาสธุรกิจ

 

l  ปัจจัยที่ 1 Segment

Bitwise Group แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 Segment 1.ODM (Original Design Manufactuere) รับจ้างออกแบบ และผลิต 2.OEM (Origianl Equipment Manufacturer) รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง 3.OBM (Original Brand Manufacturer) ผลิตสินค้าภายใต้รูปแบบ และมาตรฐานภายใต้แบรนด์ Tasaki เหล่านี้ล้วนสร้างโอกาสธุรกิจด้วยการเข้าถึงลูกค้าที่มากขึ้น แม้แต่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างรุนแรง สถานการณ์กลับพลิก การส่งออกของ Tasaki เป็นไปอย่างยอดเยี่ยม แต่สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่ค่าเงินบาทแข็งค่า เศรษฐกิจโลกโดยรวมไม่ดี แต่ Tasaki ก็ยังสร้างโอกาสธุรกิจด้วยการเพิ่มสำนักงานขายที่ประเทศกัมพูชา และสร้างพาร์ทเนอร์ที่ประเทศพม่า เช่นนี้แล้ว แอร์สัญชาติไทยอย่าง Tasaki ก็จะสามารถขยายตลาดเข้าสู้ตลาดเพื่อนบ้านได้

“นอกเหนือจากการแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 Segment  เพื่อสร้างโอกาสธุรกิจที่มากขึ้น สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ การที่บริษัทหนึ่ง ๆ จะเลือกผู้ผลิต ไม่ว่าจะประเภท ODM หรือ OEM พวกเขาตัดสินจากความเชื่อใจ ที่ได้มาจากความมั่นใจในการผลิต”

 

l  ปัจจัยที่ 2 ความยอดเยี่ยมที่เหนือกว่า

คุณภวเกียรติ เผยประสบการณ์ตรงต่อ ISO 9000, 14000, 18000, 17025, Green Industry ฯลฯ ที่มอบให้  Bitwise Group เป็นกลุ่มบริษัทที่มีมาตรฐานขั้นพื้นฐาน แต่ไม่ใช่สิ่งที่แสดงความเป็นเลิศเฉพาะด้านของธุรกิจ สิ่งที่สามารถแสดงความเป็นเลิศ และความยอดเยี่ยมได้นั้นคือ Award  Bitwise Group เริ่มเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการออกล่าความเป็นเลิศเฉพาะด้าน ที่มี Award เป็นเครื่องการันตี จะพิชิตรางวัลก็ต้องพัฒนาศักยภาพการผลิตให้คู่ควร จากนั้นลูกค้าเดินเข้ามาหา Bitwise Group พร้อมกับความต้องการที่เปลี่ยนไป  “ผมอยากได้แอร์ 10 ตัน ช่วยเสนอราคาให้ผมหน่อย” แต่หากเป็นช่วงก่อน ลูกค้าจะเดินเข้ามาพร้อมเงื่อนไข “อยากให้ผลิตแอร์ให้ ขอ audit โรงงาน ระบบผลิต ก่อนได้ไหม”

“ถ้าถามหาจุดแข็งของสินค้าที่เหนือกว่าคู่แข่ง มักได้ยินคำที่ว่า สินค้ามีคุณภาพที่ดีกว่า แต่คุณภาพที่ดีกว่า ต้องมีเครื่องชี้วัด ซึ่งไม่ใช่คำพูด”

l  ปัจจัยที่ 3 ทีมเทคโนโลยี

Bitwise Group เชื่อในการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทดสอบมาตรฐานคุณภาพสินค้าจากห้องทดสอบกว่า 10 ห้องทดสอบจึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่ Bitwise สามารถทดสอบเครื่องปรับอากาศได้ถึง 150,000 btu. ทดสอบครบทั้งระบบ ให้ความสำคัญแม้เรื่องเสียงของเครื่องปรับอากาศในขณะทำงาน ซอฟแวร์ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ต้องลงทุนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการลงทุนในการคัดสรรบุคลากรวิศวกรที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่การจ้างงานแต่คือการลงทุนในการเติมความรู้ความสามารถให้ทีมวิศวกร ตัวผู้ประกอบการเวลาเดินทางไปดูงานต่างประเทศเกิดไอเดีย ต้องการผลิตเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ได้พบเห็น ไม่ว่าจะจากญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา แต่สถานการณ์จริง ผู้ที่เป็นคนลงมือออกแบบผลิตภัณฑ์คือ ทีมวิศวกร ทีม R&D (Research & Development) แต่ในทางกลับกัน น่าเสียดายที่บุคลากรเหล่านั้นไม่ได้เป็นผู้เห็นเทคโนโลยี การสนับสนุนและการผลักดันให้ทีมผลิตสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีจึงถือเป็นการสร้างโอกาสธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่ง


Bitwise อยู่ในธุรกิจเครื่องปรับอาศมานาน ขยายธุรกิจสู่ตลาดแนวข้าง อย่างการพัฒนาสู่การผลิตแอร์ที่มีอุณหภูมิเป็นบวก, แอร์ที่มีอุณหภูมิที่ศูนย์องศา และแอร์ที่มีอุณหภูมิติดลบ ซึ่งยังคงอยู่ในการผลิตกลุ่มธุรกิจเครื่องปรับอากาศ แต่ถึงอย่างนั้นเทรนด์ก็ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สำคัญในการสร้างโอกาสธุรกิจ คุณภวเกียติกล่าว

“เทรนด์ธุรกิจด้านพลังงาน” สำหรับอาคารหนึ่งหลัง 60% ของค่าพลังงานเสียไปกับเครื่องปรับอากาศ จากกระบวนการทำความเย็น Bitwise มีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยเรื่องการประหยัดพลังงานจากเครื่องปรับอากาศเสมอมา แต่พลังงานที่ต้องเสียไปภายในอาคารยังมีพลังงานจากไลท์ติ้ง จึงจำเป็นต้องมีพาร์ทเนอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านไลท์ติ้ง ถึงปัจจุบัน Bitwise มีการทำโซลาร์เซลล์ รวมถึงแบตเตอรี่ ด้วยเล็งเห็นว่าธุรกิจพลังงานเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การลงทุน ด้วยปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าประมาณ 100,000 เมกะวัตต์ และทิศทางของไทยคือเราต้องการ Renewable Energy ประมาณ 30% ของจำนวนความต้องการพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 10% ยังขาดอีก 20% หรือเท่ากับ 20,000 เมกะวัตต์ และใน 20,000 เมกะวัตต์มีความต้องการโซลาร์เซลล์ 15,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีพลังงานจากโซลาร์เซลล์เพียง 3,000 เมกะวัตต์ แสดงให้เห็นว่า ช่วงเวลา 20 ปีที่กำลังจะมาถึงเราต้องการพลังงานถึง 5 เท่า ในปี 2019 นี้ Bitwise ทำธุรกิจพลังงาน 5 เมกะวัตต์กับโซลาร์เซลล์ และ 10 เมกะวัตต์กับแบตเตอร์รี่ ซึ่ง 5 เมกะวัตต์ เมื่อนำมาเทียบกับพลังงานที่มีในปัจจุบันคือ 3,000 เมกะวัตต์ ถือว่ายังเล็กมาก นั้นแปลว่าธุรกิจพลังงานใหญ่มหาศาล และยังเป็นเทรนด์ที่อยังอยู่อีกนาน พอมีเวลาให้ขบคิดถึงวิธีการเข้าถึงธุรกิจด้านพลังงานซึ่งเป็นโอกาสธุรกิจที่น่าจับตามอง

“เทรนด์ธุรกิจเครื่องปรับอากาศ individual urban comfort” ความเย็นระดับบุคคล คือการทำให้เย็นเฉพาะที่ตัวคน ตู้ โต๊ะ พื้น กำแพงไม่เย็น ซึ่งเท่ากับการใช้พลังงานน้อยลง หรือการทำให้เย็นเฉพาะจุด เช่น เครื่องจักรที่ต้องการความเย็นเพื่อไม่ให้เครื่องร้อน ตอบสนองความเย็นแบบเฉพาะเจาะจง เทรนด์เหล่านี้คือโอกาส ที่ต้องพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ ใครที่สามารถพัฒนาได้ก่อนก็มีสิทธิ์ก่อนในการสร้างตลาด

“เทรนด์ธุรกิจที่เกิดจากปัญหา” PM 2.5 ที่มาในช่วงหน้าหนาว ทำให้ธุรกิจเครื่องฟอกอากาศเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง เมื่อปี 2018 ช่วงที่ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน เครื่องฟอกอากาศขาดตลาด แต่พอผ่านช่วงฤดูหนาว ฝุ่นละอองเบาบางลง เครื่องฟอกอากาศก็เหลือเต็มสต็อค แต่ถ้าหากหาวิธีพัฒนาให้เครื่องฟอกอากาศมีความสามารถที่ทำได้มากกว่าแค่การกรองฝุ่นเพียงอย่างเดียว ก็น่าจะตอบสนองความต้องการได้เพิ่มขึ้น เพราะสิ่งที่มนุษย์ต้องการคือ indoor air qualit (อากาศภายในอาคารที่มีคุณภาพ) ที่ประกอบไปด้วยอุณหภูมิ ความสะอาด และออกซิเจน มีงานวิจัยที่ยืนยันว่า หากเราอยู่ในอาคารหรือสถานที่ที่มีออกซิเจนที่ดี มนุษย์จะฉลาดขึ้น 9% ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสธุรกิทั้งสิ้น 

Bitwise Group  เปิดโอกาสธุรกิจ ด้วยการส่องเทรนด์ธุกิจ หรือความต้องการของตลาดอยู่เสมอ ปัจจุบันมีทิศทางการดำเนินงานด้วยการให้บริการด้าน Solution โดยมุ้งเน้นไปที่ Solution เพื่อการประหยัดพลังงาน รวมไปถึงการสร้างพลังงานใหม่ ด้วยการแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 Segment, พิสูจน์ความสามารถด้านการผลิตด้วยความยอดเยี่ยมเฉพาะด้านจาก Award, ให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีของบุคลากร เหล่านี้อาจเป็นเหตุเป็นผลที่ทำให้ Bitwise Group สามารถผ่านสถานการณ์วิกฤตมาได้อย่างไม่ยากนัก

 

 

บรรยากาศภายในงาน M Talk เสวนา 90 นาที “The next Money Machine - ฟัง G2 คุยธุรกิจใหม่”