M Report
งานแสดงสินค้า

ThaiTAM 2020 มหกรรมแทรกเตอร์และจักรกลการเกษตรไทย วันที่ 1-10 ธ.ค. 63 ณ ม.เกษตร คาดกระตุ้นการซื้อขายกว่า 50 ล้านบาท

อัปเดตล่าสุด 20 พ.ย. 2563
  • Share :

กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยงาน ThaiTAM 2020 มหกรรมแทรกเตอร์และจักรกลการเกษตรไทยครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.นครปฐม จะกระตุ้นการซื้อขายกว่า 50 ล้านบาท 

นายญาณพล ลิมปนะโชคชัย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยตั้งแต่ ปี 2556-2561 นั้น มีอัตราการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 โดยในปี 2562 จากการประเมินตลาดภายในประเทศอยู่ที่ 55,000 ล้านบาทต่อปี มีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 33,496 ล้านบาทต่อปี  โดยคาดว่าตลาดเครื่องจักรกลเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศใน 1-2 ปีนี้ จะเข้าสู่สภาวะชะลอตัวจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ อาทิ สงครามเศรษฐกิจระหว่างจีน-สหรัฐฯ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อันเป็นผลทำให้ปริมาณการสั่งซื้อโดยรวมลดลง

สำหรับในปี 2563 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเนื่องจาก ผู้ประกอบการไทยยังต้องนำเข้าชิ้นส่วน จากประเทศจีนนำมาเป็นส่วนประกอบการผลิต ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม 2563 ประเทศจีนไม่สามารถส่งออกอะไหล่และชิ้นส่วนได้จึงทำให้เกิดอุปสรรคในด้านการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนสูงขึ้นเนื่องจากชิ้นส่วนในประเทศมีราคาที่สูงกว่าการนำเข้าจากประเทศจีน แต่ในส่วนประเทศ คู่ค้ายังให้ความสำคัญกับเครื่องจักรกลเกษตรไทย โดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกายังมีความต้องการสินค้าเครื่องจักรกลเกษตรจากไทยเป็นอย่างมาก ตั้งแต่อุปกรณ์เตรียมดินจนถึงอุปกรณ์ในการแปรรุปอาหาร เช่น เครื่องอบอาหารแห้ง ไปจนถึงเครื่องจักรอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมาก แสดงให้เห็นจากตัวเลขการส่งออกไปยังประเทศดังกล่าว ที่ลดลงไม่มาก กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรมีความมั่นใจว่าในปี 2564 ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของผู้ประกอบการไทยมีแนวโน้มและทิศทางที่ดีขึ้น

โดยในปี 2562 ที่ผ่านมางาน ThaiTAM ได้รับการสนับสนุนจาก DITP ในการนำคณะนักธุรกิจต่างประเทศ จำนวน 40 บริษัท 65 รายจาก 10 ประเทศ ได้แก่ ไนจีเรีย กานา แคเมอรูน แอฟริกาใต้ โมซัมบิก อียิปต์ แทนซาเนีย ศรีลังกา กัมพูชา และมาเลเซีย เข้าร่วมชมงาน และร่วมกิจกรรมการจับคู่เจรจาธุรกิจกับผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรของไทย ในครั้งนั้นมีมูลค่าสั่งซื้อภายในงาน รวมทั้งสิ้น 7,171,500 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 236.65 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 USD = 33 บาท) โดยแบ่งเป็น ยอดสั่งซื้อภายในงาน 48,900 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.61 ล้านบาท) ยอดสั่งซื้อภายใน 1 ปี 7,122,600 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 235.04 ล้านบาท)

ทั้งนี้ งานมหกรรมแทรกเตอร์และจักรกลการเกษตรไทยครั้งที่ 15 ประจำปี 2563 หรือ Thailand Tractor & Agri-Machinery (ThaiTAM) เกิดขึ้นจากพันมิตร 3 ฝ่าย คือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร วิทยาเขตกำแพงแสน และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อแสดงศักยภาพเทคโนโลยีของเครื่องจักรกลการเกษตรไทย แลกเปลี่ยนความรู้ โดยมีการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรไทย ก้าวสู่ระดับสากล และเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ ด้านเครื่องจักรกลการเกษตร และผู้ที่เกี่ยวเนื่องด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมตลอดทั้ง Supply chain มีกำหนด   จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2563 ณ ภาควิชาเกษตรกลวิธาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ ทำให้ ThaiTAM จัดงานในรูปแบบใหม่ Online Exhibition & Online Business Matching เพื่อให้นักธุรกิจจากต่างประเทศได้เข้าร่วมงานได้

ในปีนี้ได้เชิญนักธุรกิจจากต่างประเทศ ที่เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของผู้ประกอบการไทย เข้าร่วมงานยังคงเน้นกลุ่มนักธุรกิจภูมิภาคแอฟริกาเป็นหลัก ได้แก่ ไนจีเรีย กานา แคเมอรูน ไอเวอรี่โคสต์ เซเนกัล มาลี เซียร์ราลีโอน อูกันดา แทนซาเนีย มาดาร์กัสการ์ อียิปต์ และเสริมด้วยนักธุรกิจจากภูมิภาคเอเชีย คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ศรีลังกา และ ภูฎาน เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีการแสดงสินค้าและนวัตกรรมทางการเกษตรต่าง ๆ จากผู้ผลิตไม่น้อยกว่า 50 บริษัท มีมูลค่าซื้อขายจากการจับคู่เจรจาธุรกิจในงานไม่น้อยกว่า   50 ล้านบาท

นอกจากงานในส่วนของการแสดงสินค้า การสาธิตเครื่องจักรในแปลงนาสาธิต และ Online Business Matching แล้ว ยังมีการสัมนาทางวิชาการ ใน 4 หัวข้อ คือ 1) Argo-Industry Transformation ปฎิวัติเกษตรอุตสาหกรรม สร้างสมดุลมั่นคงยั่งยืน 2) รถตัดอ้อยช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้จริงหรือ 3) การค้าการลงทุนในประเทศเมียนมา 4) Smart Farm ทำได้จริงหรือแค่ฝัน

 

อ่านต่อ: