ThaiTAM 2022 มหกรรมแทรกเตอร์และจักรกลการเกษตรไทย ครั้งที่ 16 วันที่ 1-10 ธ.ค. 65 นี้ ณ ม.เกษตร วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม
ส.อ.ท. ยิ้มรับ ส่งออกเครื่องจักรกลเกษตรโตต่อเนื่อง จัดมหกรรมแทรกเตอร์และจักรกลการเกษตรไทย กระตุ้นศก. 1-10 ธ.ค. 65 นี้ ณ ภาควิชาเกษตรกลวิธาน ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยถึงสถานการณ์การส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยในปี 2564-2565 ว่ามีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกไปยังตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตลอดจนแสดงศักยภาพเทคโนโลยีของเครื่องจักรกลการเกษตรไทย จึงได้กำหนดจัดงานมหกรรมแทรกเตอร์และจักรกลการเกษตรไทย ครั้งที่ 16 ประจำปี 2565 ภายใต้ชื่องาน Thailand Tractor & Agri-Machinery (ThaiTAM) 2022 ขึ้นระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2565 ณ ภาควิชาเกษตรกลวิธาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
นายญาณพล ลิมปนะโชคชัย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยปี 2564 มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจำนวนกว่า 3,628 ราย คิดเป็นสัดส่วน 95% เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 10% โดยในปี 2564 จากการประเมินรายได้รวมเฉลี่ย 1.5 แสนล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นตลาดภายในประเทศอยู่ที่ 1 แสนล้านบาทต่อปี และมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 43,869 ล้านบาท โดยคาดว่าตลาดเครื่องจักรกลเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศใน 1-2 ปีนี้ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกไปยังตลาดเกิดใหม่ อาทิ ประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่เนื่องจากเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยเป็นเครื่องจักรขนาดเล็กและใช้เทคโนโลยีที่ไม่สูงมากนัก ทั้งนี้มีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบการต่อการแข่งขันอยู่บ้าง อาทิ สงครามเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน สงครามรัสเซีย–ยูเครน ต้นทุนการผลิตของวัตถุดิบ แรงงาน พลังงาน และการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น อันส่งผลให้ศักยภาพในการแข่งขันลดลง
ในปี 2563 ที่ผ่านมา งาน Thailand Tractor & Agri-Machinery หรือ ThaiTAM ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ในการนำคณะนักธุรกิจต่างประเทศ จำนวน 45 บริษัท จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไนจีเรีย กาน่า แอฟริกาใต้ เมียนมา และมาเลเซีย เข้าร่วมชมงาน และร่วมกิจกรรมการจับคู่เจรจาธุรกิจกับผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรของไทย ในครั้งนั้นมีมูลค่าสั่งซื้อภายในงาน รวมทั้งสิ้น 4,500,000 บาท โดยแบ่งเป็นยอดสั่งซื้อภายในงานราว 350 ล้านบาท แต่งานมหกรรมแทรกเตอร์และจักรกลการเกษตรไทย ประจำปี 2564 ได้มีการงดจัดงานไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
- กรกอ. มีมติเห็นชอบโครงการ “เพชรบุรีฟู้ดวัลย์” เขตอุตสาหกรรมเกษตรใหญ่ที่สุดของประเทศ
- Yamaha เผยโฉม เฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับ มาพร้อมระบบอัตโนมัติ สำหรับเกษตรสมัยใหม่
การกลับมาในครั้งนี้ งานมหกรรมแทรกเตอร์และจักรกลการเกษตรไทย ครั้งที่ 16 ประจำปี 2565 หรือ Thailand Tractor & Agri-Machinery (ThaiTAM) 2022 จะเป็นการจัดงานภายใต้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากพันธมิตร 3 ฝ่าย คือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อกระตุ้นตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตลอดจนแสดงศักยภาพเทคโนโลยีของเครื่องจักรกลการเกษตรไทย และแลกเปลี่ยนความรู้ โดยมีการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล และเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการด้านเครื่องจักรกลการเกษตร และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain)
งานมหกรรมแทรกเตอร์และจักรกลการเกษตรไทย (ThaiTAM) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2565 ณ ภาควิชาเกษตรกลวิธาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
ในปีนี้ได้เชิญนักธุรกิจจากต่างประเทศ ที่เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของผู้ประกอบการไทย เข้าร่วม ซึ่งภายในงานยังคงเน้นกลุ่มนักธุรกิจภูมิภาคแอฟริกาเป็นหลัก ได้แก่ ไนจีเรีย กาน่า แคเมอรูน ไอเวอรี่โคสต์ เซเนกัล มาลี เซียร์ราลีโอน อูกันดา แทนซาเนีย มาดาร์กัสการ์ อียิปต์ และเสริมด้วยนักธุรกิจจากภูมิภาคเอเชีย คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ศรีลังกา และภูฎาน โดยคาดว่าจะมีการแสดงสินค้าและนวัตกรรมทางการเกษตรต่างๆ จากผู้ผลิตไม่น้อยกว่า 60 บริษัท มีมูลค่าซื้อขายจากการจับคู่เจรจาธุรกิจในงานไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท
นอกจากในส่วนของการแสดงสินค้าและกิจกรรม Business Matching แล้ว ยังมีการสัมมนาทางวิชาการ อาทิ เครื่องจักรแปรรูปกัญชาเพื่อการแพทย์ การผลิตสินค้าคุณภาพสูง และการต่อยอดธุรกิจสารสกัดกัญชา และการบรรยายเกี่ยวกับภาคการเกษตรปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับ Net Zero เป็นต้น โดยคาดว่างาน ThaiTAM ในปี 2565 จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตของผู้ประกอบการผลิตเครื่องจักรกลเกษตรของไทยให้ดีขึ้น
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ ครึ่งปีแรก 2022
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- 12 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี 2022
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th