บีโอไอ ผนึกกำลัง ไทยซับคอน และ ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) ร่วมกันจัดงานแถลงข่าว Subcon Thailand 2019
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (THAISUBCON) และ บริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมแสดงศักยภาพประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางอุตฯ รับช่วงการผลิตแห่งภูมิภาค ในการจัดงาน "ซับคอนไทยแลนด์ 2019" (SUBCON Thailand 2019) เสริมแกร่งมุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ชูไฮไลต์ จับคู่ธุรกิจ 8,000 คู่ คาดยอดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท โดยงานนี้เป็นการจัดร่วมกันกับงานอินเตอร์แมค-MTA 2019 ซึ่งจัดจัดขึ้นในระหว่างวันพุธที่ 8 ถึง เสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตของประเทศไทย ได้รับการกล่าวถึงและยอมรับจากทั่วโลก ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนี้มีการขยายตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากปัจจัยบวกต่าง ๆ ได้แก่ นโยบายส่งเสริมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ ECC แผนการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ การเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบรางและอากาศ เป็นต้น
ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลบวกต่อการขยายตัวด้านการส่งออก และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งยังเพิ่มความเชื่อมั่นทั้งในส่วนของผู้บริโภคและการลงทุน ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของการลงทุนในไทยคือ อุตสาหกรรมสนับสนุนหรืออุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต จากการเติบโตของการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสำคัญที่งานซับคอนไทยแลนด์ (SUBCON THAILAND 2019) เป็นงานประจำปี (ANNUAL EVENT) จัดคู่ขนานไปกับงาน อินเตอร์แมค-เอ็มทีเอ 2019 (INTERMACH - MTA 2019) ที่ผู้ประกอบการชั้นนำจากประเทศ ต่างๆ เลือกที่จะปักหมุดให้เป็นงานสำคัญที่จะแสวงหาหุ้นส่วนในการทำธุรกิจเพื่อต่อยอดการผลิตได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เพราะเป็นงานสำคัญที่สร้างเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนให้กับผู้ประกอบการชาวไทยโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเชื่อมโยงโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสู่การเป็นผู้รับช่วงการผลิตระดับภูมิภาคและระดับโลก
คุณดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตไทยมีอัตราการเติบโตในทุกปีและมีมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี นับเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ด้วยความสำคัญดังกล่าวทางบีโอไอจึงมีแผนที่จะสนับสนุนการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตอย่างต่อเนื่องผ่านการจัดงาน ซับคอนไทยแลนด์ (SUBCON THAILAND 2019) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการชาวไทยและบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่จากทั้งในและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดธุรกิจจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่
“งาน ซับคอนไทยแลนด์ 2019 ปีนี้มุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมของภูมิภาคอาเซียน” โดยมีกิจกรรมสนับสนุนมากมาย อาทิ งานแสดงนิทรรศการของอุตสาหกรรมสนับสนุนของไทย การจับคู่ธุรกิจ นำผู้ซื้อกว่า 400 บริษัท จาก 30 ประเทศ โดยความร่วมมือของสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศมาพบกับผู้ผลิตภายในงาน การจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ รวมทั้ง Buyers’ Village ที่จะนำผู้ซื้อชิ้นส่วน จากกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve กว่า 15 ราย อาทิ จากประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ออสเตรีย สวีเดนเกาหลี สวีเดน เนเธอร์แลนด์ จีน อินเดีย เข้าร่วมงาน” นางสาวดวงใจกล่าว
ไฮไลต์ปีนี้ ได้จัดให้มีโซนพิเศษขึ้น คือ โซน Innovation to Business ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดง ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เป็นการเชื่อมโยงหน่วยงานวิจัยและสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมการผลิต การรวมกลุ่มของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต อุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน ระบบราง และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เข้าร่วมแสดง นอกจากนี้ในส่วนของ สมาคมเครื่องจักรกลระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย จะมีการนำเสนอ TARA Showcase นำเสนอการทำงานในไลน์การผลิตของระบบ Automation and Robotic รวมทั้งอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องแพทย์และสุขภาพ ที่พร้อมนำเสนอนวัตกรรมด้านอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ซึ่งสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสร้างประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โดยงานซับคอนไทยแลนด์ในปี 2019 ได้มีการตั้งเป้าที่จะจับคู่ธุรกิจกว่า 8,000 คู่ และคาดว่าจะเกิดธุรกรรมทางธุรกิจมูลค่า ไม่น้อยกว่า 14,000 ล้านบาท คุณดวงใจกล่าวเสริม
ทั้งนี้ ยอดของการจับคู่ ทางธุรกิจผ่านงานซับคอนไทยแลนด์ ในปีที่ผ่านมา 2018 สามารถจับคู่ทางธุรกิจได้ถึง 7211 คู่ ก่อให้เกิดธุรกรรมกว่า 12,706 ล้านบาท ซึ่งยอดการจับคู่นั้นมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้คาดว่าจะมียอดผู้ซื้อจากอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้าร่วมเพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินชั้นนำกว่า 40 ราย อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ซึ่งมาจากการเชิญของสำนักงาน BOI จากในและต่างประเทศทั้ง 14 แห่ง
นอกจากนี้ ภายในงานจัดยังให้มีกิจกรรมสัมมนาส่งเสริมองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับธุรกิจภาคอุตสาหกรรมการผลิตทุกภาคส่วน กว่า 100 หัวข้อที่ อาทิ การลงทุนในตลาด CLMV, สัมมนาอากาศยานและศูนย์ซ่อมบำรุง Aerospace & MRO Summit Bangkok, Aerospace Manufacturing in Thailand: The View from OEMs, Aviation Industry in Thailand: Preparing for the future, สัมมนาเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ (Medical Device Seminar), สัมมนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่-EV (สัมมนาภาษาญี่ปุ่น) ฯลฯ โดยทั้งหมดครอบคลุมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
ด้าน นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริหาร บริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) กล่าวว่า งาน อินเตอร์แมค-เอ็มทีเอ 2019 เป็นงานแสดงนวัตกรรมเครื่องจักรเพื่ออุตสาหกรรมการผลิต หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีเครื่องตัดเลเซอร์ จาก 12,000 แบรนด์ ใน 45 ประเทศ และ มีประเทศผู้ผลิตนำผลงานมาจัดแสดงในรูปแบบพาวิเลียนจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวัน และจีน นอกจากนี้ยังจัดให้มีการสาธิตระบบการผลิตอัจฉริยะ ที่รวบรวมเทคโนโลยีการผลิตจากแบรนด์ชั้นนำในโซน (RO) Bots Hub มาทำงานร่วมกันด้วยซอฟท์แวร์ที่ออกแบบใหม่เพื่อการประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับไลน์การผลิตและเครื่องจักรที่มีอยู่ต่างชนิดได้อย่างลงตัว โดย บริษัท โรบอท ซีสเท็ม จำกัด (ROBOTSYSTEM) บริษัทของผู้เชี่ยวชาญชาวไทย หรือเจ้าของฉายา ไอรอนแมน เมืองไทย ที่ปัจจุบันได้รับการยอมรับในระดับสากล อาทิ
- การวางระบบงานขัดอุปกรณ์เครื่องบินจากอุตสาหกรรมอากาศยาน
- ไลน์การชงกาแฟจากโรบอทอาร์ม
- ซอฟแวร์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการแพทย์และยานยนต์อนาคต
นอกจากนี้ยังมีโซนโชว์เคสนวัตกรรมและระบบอัตโนมัติที่จะนำผลงานการออกแบบระบบซอฟท์แวร์จากบริษัทข้ามชาติ โดย บริษัทเจอแรงการ์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เข้าชมงานสามารถทดลองใช้งานโปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำงานร่วมกับเครื่องควบคุมโดยอัตโนมัติ เพื่อสัมผัสประสบการณ์การใช้งานที่เชื่อมโยงเครื่องจักรให้ทำงานร่วมกันผ่านระบบ IOT อาทิ การสร้างภาพการผลิตที่สามารถตรวจสอบการทำงานได้จริงแบบเรียลไทม์ ไปจนถึงโซลูชั่นที่สมบูรณ์แบบ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอุตสาหกรรมการผลิตทุกประเภทตั้งแต่อุตสาหกรรมขนาดย่อยไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อีกด้วย
เนื่องจากเป็นงานแสดงเครื่องจักรอุตสาหกรรมงานแรกที่ยิ่งใหญ่ของปี ภายในงานจะมีผู้ผลิตชิ้นส่วนร่วม 400 ราย จากทั้งประเทศไทยและต่างประเทศเข้าร่วมจัดแสดง และคาดการณ์จะมีผู้ซื้อจากทั่วโลกกว่า 45,000 ราย ที่สำคัญมีกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคด้วยโปรแกรมจับคู่ธุรกิจสำหรับผู้แสดงสินค้าของงานซับคอน ไทยแลนด์ เพื่อเชื่อมโยงทางธุรกิจและสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยและชาวต่างชาติต่อยอดสู่ความร่วมมือในอนาคต
งานซับคอนไทยแลนด์ 2018 งานแสดงอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตเพื่อการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและงานจับคู่ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นการร่วมกันจัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสร่มการลงทุน (บีโอไอ) สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะจัดร่วมกันกับงาน อินเตอร์แมค 2018 โดยจะจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันพุธที่ 8 ถึง เสาร์ ที่ 11 พฤษภาคม 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา