บลูมเบิร์ก ยกดัชนีนวัตกรรมไทยขึ้นอันดับ 36 ของโลก

'บลูมเบิร์ก' ยก 'ดัชนีนวัตกรรมไทย' ขึ้นอันดับ 36 ของโลก

อัปเดตล่าสุด 9 ก.พ. 2564
  • Share :
  • 998 Reads   

ผลการจัดอันดับประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมจาก Bloomberg Innovation Index ปี 2564 ไทยขึ้นจากอันดับที่ 40 มาอยู่ที่ 36 
ไทยติดหนึ่งในสามของประเทศชั้นนำด้าน R&D Intensity ในภูมิภาคอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย
ด้าน Productivity ไทยตกไปเป็นอันดับที่ 52 จาก 60 ประเทศ สะท้อนการขาดประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยผลการจัดอันดับประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมจากดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์ก หรือ Bloomberg Innovation Index ประจำปี 2564 ภาพรวมของประเทศไทยปีนี้ก้าวกระโดดขึ้นจากอันดับที่ 40 มาเป็นอันดับที่ 36 จาก 60 ประเทศทั่วโลก โดยมิติสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศขยับขึ้นสูงกว่าเดิมถึง 8 อันดับ และติดหนึ่งในสามของประเทศชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย พร้อมวาง 3 กลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ “ประเทศแห่งนวัตกรรม” ได้แก่ เชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่นวัตกรรม ยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 และสร้างศักยภาพแห่งอนาคต

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า สัปดาห์นี้มีเรื่องน่ายินดีเกี่ยวกับแวดวงระบบนวัตกรรมไทยนั่นคือ คือ บลูมเบิร์ก หน่วยงานชั้นนำระดับโลกด้านข่าวและข้อมูลด้านธุรกิจ ได้มีการจัดอันดับทางนวัตกรรม Bloomberg Innovation Index ประจำปี 2564 ขึ้น ผลปรากฏว่า ประเทศไทยขยับขึ้นถึง 4 อันดับ เดิมอันดับที่ 40 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 36 จากจำนวนประเทศที่ได้รับการจัดอันดับทั้งสิ้น 60 ประเทศ โดยบลูมเบิร์กแบ่งมิติการประเมินออกเป็น 7 มิติ ประกอบด้วย 1) สัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D Intensity) 2) มูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing Value-added) 3) ผลิตภาพการผลิต (Productivity) 4) จำนวนบริษัทมหาชนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง (High-tech Density) 5) จำนวนนักศึกษาและบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ (Tertiary Efficiency) 6) สัดส่วนนักวิจัย (Researcher Concentration) และ 7) ความเคลื่อนไหวด้านสิทธิบัตร (Patent Activity) จะเห็นได้ว่ามิติการประเมินเหล่านี้ให้ความสำคัญกับศักยภาพของประเทศใน 3 ด้าน ได้แก่ ศักยภาพด้านองค์ความรู้ ศักยภาพด้านการผลิต และศักยภาพด้านเทคโนโลยีขั้นสูง

ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึง “โอกาส” ของประเทศไทยที่จะก้าวสู่ “ประเทศแห่งนวัตกรรม” และบทบาทสำคัญของ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงและรับมือภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่ผ่านมากระทรวง อว. ได้ริเริ่มและดำเนินต่าง ๆ เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตัวอย่างเช่น การจัดตั้งกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อปรับโครงสร้างการจัดสรรทุนให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศบนแพลทฟอร์มที่เน้นการสร้างกำลังคนและความรู้ การส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายสังคม การส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการวิจัย นอกจากนี้ ยังรวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่เข้ามาสนับสนุนการพัฒนากำลังคน อุตสาหกรรม อาทิ โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/Upskill/New skill)

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า จากผลการจัดอันดับสะท้อนให้เห็นศักยภาพด้านนวัตกรรมของแต่ละประเทศในเวทีสากล ดังนี้ “คุณภาพ” สำคัญกว่า “ขนาด” – 8 จาก 10 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุด ล้วนเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วขนาดเล็ก ที่เน้นการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา กำลังคน และเทคโนโลยีการผลิต ลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมอนาคต – ประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันอย่าง อเมริกา และ จีน แม้จะไม่ได้ติด 10 อันดับสูงสุด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ 2 ประเทศนี้มีมิติด้านจำนวนบริษัทมหาชนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และมิติด้านความเคลื่อนไหวด้านสิทธิบัตร อยู่ในอันดับต้น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสสำหรับการแข่งขันและเติบโตในอนาคต

สำหรับประเทศไทย (อันดับ 36) ถือเป็นลำดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ตามหลังประเทศสิงคโปร์ (อันดับ 2) และมาเลเซีย (อันดับ 29) ในขณะที่เวียดนาม (อันดับ 55) ตามมาเป็นลำดับที่ 4 สิ่งที่น่าสนใจจากผลการจัดอันดับในปีนี้อีกประการหนึ่ง คือ ประเทศไทยสามารถทำได้ดีในมิติที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D intensity) ที่กระโดดขึ้นถึง 8 อันดับ จากอันดับที่ 44 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 36 และ มิติด้านสัดส่วนนักวิจัย (Researcher Concentration) ที่ขยับขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 48 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 45 ซึ่งสัมพันธ์กับมิติด้านมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมการผลิต ที่ประเทศไทยคงที่อยู่ในอันดับที่ 18 จาก 60 ประเทศ แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญสำหรับภาคการผลิตก็คือ ผลิตภาพการผลิต ที่นอกจากประเทศไทยจะอันดับลดลงไป 1 อันดับ จากอันดับที่ 51 ตกไปเป็นอันดับที่ 52 แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าอันดับของประเทศไทยก็อยู่ในอันดับท้าย ๆ จาก 60 ประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน (GDP and GNI per employed person) ที่เราต้องเร่งพัฒน

หากวิเคราะห์ในภาพรวมของผลการจัดอันดับของประเทศไทยจะเห็นได้ว่าเราต้องมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการลงทุนและใช้ประโยชน์ศักยภาพด้านองค์ความรู้ ศักยภาพด้านการผลิต และศักยภาพด้านเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศ โดยมีกลยุทธ์สำคัญดังต่อไปนี้

  • เชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่นวัตกรรม (R2I Translation) – แม้ว่าจะมีอันดับที่ดีขึ้น แต่อันดับด้านสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D Intensity) (อันดับ 36) สัดส่วนนักวิจัย (Researcher Concentration) (อันดับ 45) และความเคลื่อนไหวด้านสิทธิบัตร (Patent Activity) (อันดับ 35) ก็ยังถือว่าไม่สูงเท่าไหร่ ซึ่งทั้ง 3 มิตินี้สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการลงทุนและการใช้ประโยชน์งานวิจัย
  • ยกระดับอุตสาหกรรม (Industrial Transformation) – แม้ประเทศไทยจะมีอันดับด้านมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing Value-added) ที่ค่อนข้างดี (อันดับ 18) แต่ในขณะเดียวกันอันดับด้านผลิตภาพการผลิต (Productivity) กลับทำได้ไม่ค่อยดีนัก (อันดับ 52) สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับภาคอุตสาหกรรมและการผลิต เร่งพัฒนานวัตกรรมกระบวนการ (Process innovation) สู่อุตสาหกรรม 4.0
  • สร้างศักยภาพแห่งอนาคต (Future Competency) – มิติด้านจำนวนวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึก (Deeptech) และบริษัทมหาชนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง (High-tech Density) (อันดับ 33) และจำนวนนักศึกษาและบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ (Tertiary Efficiency) (อันดับ 30) เป็นมิติที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของการเติบโตในอนาคต เพราะระบบเศรษฐกิจในยุคหน้าจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นตัวขับเคลื่อน ดังนั้นการพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนา

 

อ่านเพิ่มเติม: