แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 4/2563

แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 4/2563

อัปเดตล่าสุด 30 พ.ย. 2563
  • Share :
  • 542 Reads   

กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 4/2563

เหล็กและเหล็กกล้า 

คาดการณ์ว่าจะหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีประเด็นที่น่าติดตาม เช่นสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ราคาสินค้าเหล็กต่างประเทศ และการดำเนินการโครงการก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะส่งผลต่อปริมาณการผลิต และการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศ 

อิเล็กทรอนิกส์

คาดว่าดัชนีผลผลิตจะขยายตัวร้อยละ 1.9 เนื่องจาก Semiconductor devices transistor เป็นสารกึ่งตัวนำที่ใช้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทโซลาร์เซลล์ ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงความต้องการ HDD ในการพัฒนาระบบเทคโนโลยี 5G และผลิตภัณฑ์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทาง IT ทำให้ยังคงมีความต้องการเพิ่มขึ้น 

รถยนต์

ประมาณการในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 390,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิต เพื่อจำหนายในประเทศร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50 

รถจักรยานยนต์

ประมาณการในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 450,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหนายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20  

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์

คาดว่า  ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษแข็ง กระดาษลูกฟูก และกระดาษคราฟต์) ที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวในกลุ่มอาหาร อาหารแปรรูป และเครื่องดื่ม ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์กระดาษในยุค New Normal จะขยายตัวค่อนข้างมากแบบก้าวกระโดด และยังได้อานิสงส์ตามการใช้งานสำหรับส่งสินค้าทางออนไลน์และในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ในขณะที่การส่งออกจะชะลอตัวลงในกลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ หนังสือและสิ่งพิมพ์  

เซรามิก

คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล และมาตรการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นตลาดของผู้ประกอบการ รวมถึงการผลิตเพื่อรองรับตลาดส่งออก หลังจากประเทศคู่ค้าบางส่วนคลายความกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และการส่งออกกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ไปยังกลุ่มประเทศ CLMV

ปูนซีเมนต์

มื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตคาดว่าจะยังลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเกิดความวุ่นวายทางการเมืองทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจด้านภาวะเศรษฐกิจ ส่วนการจำหน่ายคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยโดยยังได้แรงขับเคลื่อนจากการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของภาครัฐ 

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต การส่งออก และการนำเข้า เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ภาวะปกติ เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีไม่มากนัก แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2563 คาดว่า ภาพรวมการผลิต ส่งออก และนำเข้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะขยายตัวได้จากการที่คู่ค้าต่างประเทศหลายแห่งสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ไม้และเครื่องเรือน

คาดว่า ปริมาณการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยที่เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศคาดการณ์ได้ว่า จะยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศรวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น 

ยา

คาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.74 ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม เมียนมา และลาว  

ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง

การผลิตยางรถยนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 17.18 ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศและเศรษฐกิจโลก ในขณะที่การผลิตถุงมือยางคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 24.76 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ที่สูงขึ้น สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐมคาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 5.00 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ทั้งในและต่างประเทศที่ลดลง  

รองเท้าและเครื่องหนัง

คาดว่า การฟอกและตกแต่งหนังฟอกยังมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากความต้องการที่ลดลงจากการส่งออก เช่นเดียวกับการผลิตกระเป๋าเดินทางและรองเท้า ที่มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า การผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย/ลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติ โดยการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV)  

อัญมณีและเครื่องประดับ

คาดว่า ยังมีทิศทางชะลอตัว เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย สำหรับมูลค่าการส่งออก (ไม้รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ยังมีแนวโน้มลดลง ขณะที่การส่งออกในภาพรวมจะมีแนวโน้มขยายตัวจากการส่งออกทองคำเพื่อเก็งกำไรในช่วงที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับสูงขึ้น 

อาหาร

คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมจะหดตัวลงจากปัจจัยลบได้แก่วัตถุดิบสินค้าเกษตรลดลงจากปัญหาภัยแล้ง เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง ทำให้ไม่พอต่อความต้องการผลิตของโรงงาน อย่างไรก็ตาม การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นจากการเปิดให้นักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ หรือ Special Tourist Visa เข้ามาพำนักระยะยาวในไทย รวมถึงมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐ สำหรับมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มหดตัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และมาตรการคุมเข้มเพื่อควบคุมการแพร่ในกลุ่มประเทศยุโรป รวมทั้งปริมาณสินค้าเกษตรสำคัญลดลง อาทิข้าว อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ระบาดรอบที่ 2 ของโควิด-19 ในหลายประเทศ ผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิดอาจขยายตัว เช่น อาหารสำเร็จรูป (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทูน่าและซาร์ดีนกระป๋อง) นม สิ่งปรุงรส และอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ 


อ่านเพิ่มเติม: