แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญของไทย ไตรมาส 1/2564

แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญของไทย ไตรมาส 1/2564

อัปเดตล่าสุด 12 มี.ค. 2564
  • Share :
  • 800 Reads   

กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 1/2564

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 

คาดการณ์ว่าการผลิตทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีประเด็นที่น่าติดตาม เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ราคาสินค้าเหล็กต่างประเทศ และการดำเนินการโครงการก่สร้างภาครัฐ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะส่งผลต่อปริมาณการผลิต และการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศ 

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

คาดว่าดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 4.0 และ 3.9 ตามลำดับ เนื่องจากไทยสามารถรับมือจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดี รวมทั้งนโยบายรัฐบาลที่กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนยังคงมีความต้องการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประเด็นที่ต้องติดตามและอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศไทย คือ นโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ซึ่งมีส่วนของการส่งเสริมพลังงานสะอาดอาจทำให้ตลาดส่งออกโซลาร์เซลล์ของประเทศไทยเติบโต รวมถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มคู่ค้า อาจจะทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

คาดว่า จะมีดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 32 และ 4.7 ตามลำดับ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ Work from Home และการเรียนออนไลน์ของนักเรียนนักศึกษา ทำให้มีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ชั้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังคงเป็นที่ต้องการในการพัฒนาระบบเทคโนโลยี 5G และผลิตภัณฑ์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทาง IT 

อุตสาหกรรมรถยนต์

ประมาณการในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 400.000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50 

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

ประมาณการในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 470.,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20  

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่า ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษแข็ง กระดาษลูกฟูก และกระดาษคราฟต์ ที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวในกลุ่มอาหาร ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์กระดาษในยุค New Normal จะขยายตัวค่อนข้างมากแบบก้าวกระโดด และยังได้อานิสงส์ตามการใช้งานสำหรับส่งสินค้าทางออนไลน์ ในขณะที่การส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มเยื่อกระดาษ สำหรับกลุ่มหนังสือและสิ่งพิมพ์จะยังหดตัวต่อเนื่อง  

อุตสาหกรรมเซรามิก

คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่เริ่มคลี่คลาย รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล และมาตรการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นตลาดของผู้ประกอบการ รวมถึงการผลิตเพื่อรองรับตลาดส่งออกหลังจากประเทศคู่ค้าคลายความกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และการส่งออกกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ไปยังกลุ่มประเทศ CLMV

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายคาดว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับมาตรการที่ภาครัฐทยอยออกมาเพื่อช่วยลดภาระของประชาชนและการเร่งขับเคลื่อนการก่สร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของภาครัฐ

อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

คาดว่าปริมาณการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้จะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ คาคว่าจะยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น

อุตสาหกรรมยา

คาดว่า จะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.00 ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะ เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา  

อุตสาหกรรมยาง และผลิตภัณฑ์ยาง

การผลิตยางรถยนต์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.50 ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศและตลาดส่งออก ในขณะที่การผลิตถุงมือยางคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 15.00 ตามความต้องการใช้ที่สูงขึ้นทั่วโลก สำหรับการผลิตยางแปรรูปชั้นปฐมคาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 5.00 ตามแนวโน้มปริมาณยางที่เข้าสู่ตลาดลดลง    

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

คาดว่า ยังมีทิศทางชะลอตัว เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 เริ่มคลี่คลาย จากการค้นพบวัคซีนและมีแผนที่จะนำวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชน รวมทั้งภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย/ลงทุนภายในประเทศ สำหรับมูลค่าการส่งออก (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ยังมีแนวโน้มชะลอตัว เช่นเดียวกับการส่งออกในภาพรวมที่มีแนวโน้มลดลงจากการส่งออกทองคำเพื่อเก็งกำไรลดลงในช่วงที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลง 

อุตสาหกรรมอาหาร

คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมจะขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด เพิ่มขึ้น ประกอบกับการบริโภคในประเทศมีแนวโน้มพื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐ สำหรับมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย โดยสินค้าอาหารที่ได้อานิสงส์จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เช่น อาหารสำเร็จรูป (ทูน่ากระป๋องผักและผลไม้ประป้อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) สิ่งปรุงรส และอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป


อ่านเพิ่มเติม: