“ศูนย์เทคนิคแห่งการเรียนรู้” เซ็นเตอร์แห่งใหม่ในการผลิตบุคลากรคุณภาพสู่ “Industry 4.0”

อัปเดตล่าสุด 7 ก.พ. 2561
  • Share :
  • 527 Reads   

อีกไม่นานประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 อันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชาติ โดยมีมาตราการเร่งด่วนอันดับแรกคือ “โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” (Eastern Economic Corridor-EEC) ที่ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้บรรลุวัตถุประสงค์โดยเร็ว ด้วยการใช้งบลงทุนอย่างมหาศาลพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักคมนาคม ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ในการลงทุนของภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ ดูเหมือนว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นสัญญาณที่ดีของการก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 แต่ก็ยังมีปัญหาสำคัญคือการขาดบุคลากรที่จะมีส่วนผลักดันให้เกิดความสำเร็จได้

จากตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้วิเคราะห์และประเมินตัวเลขการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทยว่าขณะนี้กำลังประสบปัญหาเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันความต้องการทางด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนว่าการผลิตกำลังแรงงานยังไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการขาดแคลนงบประมาณ กล่าวคือ เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ทางด้านเทคนิคที่ใช้ในการเรียนการสอนและฝึกปฏิบัติที่มีไม่เพียงพอ นอกจากนี้การลงทุนด้านครุภัณฑ์ของระบบการศึกษาอาชีวะที่ค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถตอบสนองกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงของระบบอุตสาหกรรมปัจจุบัน

ภายใต้ความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ บริษัท เครือสุมิพล จำกัด ซึ่งสร้าง “ศูนย์เทคนิคแห่งการเรียนรู้ – Technical Learning Academy” เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินกิจกรรมพัฒนาบุคลากรด้วยการจัดฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติกับเครื่องจักรกลและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย มีทั้งหลักสูตรขั้นพื้นฐานและหลักสูตรขั้นสูง รวมถึงการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ อาทิเช่น การจัดกิจกรรมต่างๆ นิทรรศการเครื่องจักรกลอุปกรณ์ และการศึกษาดูงานของนักเรียนนักศึกษา โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร

ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานในต้นปี 2562

ศูนย์เทคนิคแห่งการเรียนรู้แห่งนี้เป็นแนวคิดรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่มีเป้าประสงค์ด้านการพัฒนาบุคลากร และภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรกล เครื่องมือและอุปกรณ์   แบรนด์ชั้นนำจัดสรรเครื่องจักรอุปกรณ์นำมาติดตั้งเพื่อฝึกอบรมตามความถนัดและความชำนาญของตน ทุกค่ายต่างมีความพร้อมที่จะพัฒนาหลักสูตรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีตลอดเวลา โดยร่วมกำหนดหลักสูตรในการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรที่อยู่ในภาคแรงงานปัจจุบันและภาคการศึกษาที่จะเข้าสู่อาชีพสอดคล้องกับความต้องการที่เป็นปัจจุบันและอนาคตของภาคอุตสาหกรรมที่เป็น S Curve เดิมและ S Curve ใหม่ จึงมั่นใจได้ว่าการพัฒนาบุคลากรจะเกิดคุณประโยชน์อย่างแท้จริงภายใต้การสานพลังประชารัฐอย่างเต็มรูปแบบ

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายอภิจิณ โชติกเสถียร ได้กล่าวในพิธีเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 23 พฤสจิกายน 2560 ในงานนิทรรศการเครื่องจักรกลและโลหะการ Metalex 2017 ที่ไบเทค กรุงเทพว่า “โครงการนี้เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญยิ่งและถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับงานด้านการพัฒนาบุคลากรของชาติซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พร้อมทั้งได้กล่าวขอบคุณบริษัท เครือสุมิพล จำกัด ที่ได้จัดตั้งโครงการนี้ขึ้นมาซึ่งเป็นประโยชน์ตอบโจทย์ตรงตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะสถานที่ตั้งอยู่ ณ ใจกลางพื้นที่ EEC ที่มีกำลังมีการลงทุนของอุตสาหกรรมใหม่ๆ นำเศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตต่อไปในอนาคตอันใกล้

ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ก็ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “นอกจากการพัฒนาบุคลากรในด้านทักษะฝีมือแรงงานให้แก่ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานซึ่งถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ยังรวมถึงนักเรียนนักศึกษาที่กำลังจะก้าวเข้าสู่อาชีพที่จะได้รับประโยชน์จากศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดเป้าหมายที่จะให้การอบรมแก่ครูผู้สอนในลักษณะ “Training The Trainer” เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีซึ่งมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว นับว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สูงสุดสำหรับการเรียนการสอน

นายจิระพันธ์ อุลปาทร ประธานกรรมการ บริษัท เครือสุมิพล จำกัด ได้กล่าวปิดท้ายว่า “นับจากนี้ไปบริษัทก็จะเริ่มติดต่อทาบทามบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรกลและอุปกรณ์สาขาต่างๆ เพื่อนำมาติดตั้งในศูนย์ฝึกอบรมพร้อมองค์ความรู้ของแต่ละผลิตภัณฑ์ ร่วมกันจัดหลักสูตรการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิต รวมทั้งการจัดรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรแห่งนี้ร่วมกับทุกฝ่ายให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนั้นก็จะเร่งรัดการก่อสร้างอาคาร ซึ่งดำเนินการลุล่วงไปแล้วกว่าร้อยละ 60 ให้เสร็จตามแผนที่กำหนดไว้เพื่อติดตั้งเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2561 พร้อมเปิดดำเนินการจัดฝึกอบรมในเฟสแรกภายในต้นปี 2562

การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในครั้งนี้ เป็นการสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพเพื่อสอดรับกับความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในปัจจุบันและอนาคต นับว่าเป็นการเสริมสร้างรากฐานที่มั่นคงสู่การขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Industry 4.0 อย่างเข้มแข็งเต็มภาคภูมิ