เอ็กซิมแบงก์ เพิ่มทุน 2564

ครม.เห็นชอบ เพิ่มทุน EXIM BANK 4,198 ล้านบาท ครั้งแรกรอบ 12 ปี

อัปเดตล่าสุด 26 ส.ค. 2564
  • Share :

ครม. เห็นชอบ การเพิ่มทุน EXIM BANK 4,198 ล้านบาท ครั้งแรกในรอบ 12 ปี ขยายการดำเนินงานขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมาเห็นชอบให้กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มทุน EXIM BANK จำนวน 4,198 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีนับตั้งแต่การเพิ่มทุนล่าสุดเมื่อปี 2552 ทำให้ EXIM BANK มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจากเดิม 12,800 ล้านบาท เป็น 16,998 ล้านบาท ส่งผลให้สามารถขยายธุรกิจสนับสนุนผู้ประกอบการไทยได้เพิ่มขึ้น

อ่านข่าว: เอ็กซิมแบงก์ ชี้ภาคส่งออกรับบทพระเอก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี64

 

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า การเพิ่มทุนครั้งนี้เป็นการอัดฉีดเงินให้ EXIM BANK เร่งเครื่อง “ซ่อม สร้าง เสริม” สนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับให้กลับมาทำการค้าการลงทุนได้อย่างเข้มแข็งอีกครั้ง รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัว โดยคาดว่ายอดคงค้างสินเชื่อจะเติบโตเฉลี่ย 11% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า ไปแตะระดับ 212,730 ล้านบาทในปี 2568 จากจำนวนยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 140,600 ล้านบาท โดย EXIM BANK มุ่งจะขยายบริการทางการเงินดังต่อไปนี้

1) บริการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ เพื่อส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones: SEZs) ทั้งในโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve และ Bio-Circular-Green Economy) ที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐและแนวโน้มโลก อันเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สามารถผลิตและส่งออกสินค้า/บริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นตลอด Supply Chain

2) บริการสนับสนุนการส่งออกและการลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาด CLMV และตลาดใหม่ (New Frontiers) ที่ EXIM BANK มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำ (Lead Bank) นำทัพนักลงทุนไทยไปรุกตลาดได้อย่างมั่นใจ ผ่านการสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบที่หลากหลายทั้งสินเชื่อ ประกันการส่งออก และบริการอื่น ๆ ซึ่งจะกระตุ้นการส่งออกสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องของ SMEs ในประเทศตามโมเดลการลงทุนนำการค้า (Investment-induced Trade) พร้อมกับการนำเข้าวัตถุดิบหรือเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการยกระดับภาคอุตสาหกรรมในประเทศ

3) บริการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการส่งออกของ SMEs เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขยายการส่งออก มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งให้บริการทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงินเพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถประคับประคองธุรกิจหรือขยายธุรกิจไปยังตลาดที่ยังมีศักยภาพได้

“การเพิ่มทุนครั้งนี้ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ของ EXIM BANK อยู่ในระดับที่เหมาะสม สถานะทางการเงินของธนาคารมีความมั่นคงยิ่งขึ้น พร้อมรองรับการขยายสินเชื่อและช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากขึ้น ตามความมุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank) ที่จะ ‘ซ่อม’ ภาคอุตสาหกรรมที่ประสบวิกฤตและฟื้นฟูธุรกิจที่ประสบปัญหา ‘สร้าง’ พื้นที่สำหรับผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยให้เติบโตตลอดทั้ง Supply Chain พร้อมสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และ ‘เสริม’ ศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดโลกอย่างมั่นคง เพื่อเป็นกลไกของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว

 

#เอ็กซิมแบงก์  #EXIM BANK #EXIM Thailand Pavilion #คณะรัฐมนตรี #ส่งออกไทย 2564 #เศรษฐกิจไทย #อุตสาหกรรม #SMEs #SME #ผู้ส่งออก #สินเชื่อธุรกิจ #สินเชื่อ SME #เอสเอ็มอี #COVID-19

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH