กพร. ออกมาตรการส่งเสริมโรงงานหลอมเศษโลหะ ยกระดับคุณภาพอากาศประเทศไทย

กพร. ออกมาตรการสั้น-ยาว หนุนโรงงานหลอมเศษโลหะ ยกระดับคุณภาพอากาศประเทศไทย

อัปเดตล่าสุด 1 มี.ค. 2564
  • Share :
  • 602 Reads   

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) จัดงาน “รีไซเคิลดี ไม่มี U-POPs” ดันผู้ประกอบการรีไซเคิลปรับปรุงกระบวนการผลิต ลดมลพิษทางอากาศ

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “รีไซเคิลดี ไม่มี U-POPs” ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ว่า กพร. ได้ดำเนินโครงการ Green Scrap Metal Thailand หรือโครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน ร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) มาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะปรับปรุงโรงงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกำหนดมาตรการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมของไทยให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants: POPs) และตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เนื่องจากกระบวนการผลิตจากภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ เช่น สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ประเภทที่ปลดปล่อยโดยไม่จงใจ ที่เรียกว่า U-POPs รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและสุขภาพอนามัยของประชาชน

โดยมาตรการระยะสั้นที่จะดำเนินการในปีนี้ คือ การเผยแพร่ข้อมูลองค์ความรู้ผ่านโรงงานต้นแบบ การมอบรางวัลให้แก่โรงงานที่ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การออกมาตรการทางการเงินร่วมกับสถาบันการเงินในการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสถานประกอบการที่จะลงทุนปรับปรุงกระบวนการ

ส่วนมาตรการระยะยาวที่จะดำเนินการต่อไป คือ การลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่นำแนวทางเทคนิคที่ดีที่สุดและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Available Techniques and Best Environmental Practices : BAT/BEP) มาประยุกต์ใช้ การกำหนดค่ามาตรฐานไดออกซินและฟิวแรน ซึ่งเป็นสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ (U-POPs) จากโรงงานหลอมเศษโลหะ การจัดตั้งกองทุนพัฒนา BAT/BEP สำหรับอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ และการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมหรือเทคโนโลยีการผลิตสำหรับโรงงานตั้งใหม่หรือขยายกำลังการผลิต

โดยคาดว่าจะสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะให้มีการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้เพื่อลดมลพิษจากการผลิตได้มากกว่า 2,000 ราย และช่วยลดการปลดปล่อย U-POPs จากโรงงานได้มากกว่าร้อยละ 20

สำหรับกิจกรรมหลักภายในงาน ประกอบด้วย การสรุปผลการดำเนินโครงการฯ การสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ การเสวนาเกี่ยวกับบทบาทของ BAT/BEP ในการช่วยยกระดับคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย การรับชมภาพยนตร์สั้นและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านสิ่งแวดล้อมจากโครงการโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน โดยได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญพิเศษอย่าง ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ และ มารีญา พูลเลิศลาภ มาเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

“สิ่งสำคัญที่สุดที่เรามุ่งเน้น คือ การสร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน ซึ่งการนำแนวทางเทคนิคที่ดีที่สุดและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (BAT/BEP) มาประยุกต์ใช้ นอกจากจะช่วยลดมลพิษทางอากาศแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการผลิตด้วย ไม่เพียงเฉพาะผู้ประกอบการเท่านั้น เราทุกคนมีส่วนช่วยแก้ปัญหามลพิษเหล่านี้ได้ เริ่มจากการคัดเเยกขยะอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดการปนเปื้อนก่อนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เรามีจะขยายผลไปสู่วงกว้างได้มากยิ่งขึ้น” รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวทิ้งท้าย

 

อ่านต่อ: