20 บจ.ไทยบนดัชนี DJSI “SCB-BTS” มาแรงติดลิสต์ปีแรก
ในเดือนกันยายนของทุกปี S&P Dow Jones Indices และ RobecoSAM จะประกาศผลคัดเลือกบริษัทที่เข้าเป็นสมาชิก “ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices-DJSI)”
โดย DJSI ถือเป็นดัชนีที่ใช้ประเมินผลการดำเนินธุรกิจ ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งมีการเชิญบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ทั่วโลกที่มีมูลค่าราคาตลาดสูงสุดกว่า 3,500 แห่ง เข้าร่วมการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนกว่า 600 หัวข้อ ครอบคลุม 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
สำหรับปีนี้ S&P Dow Jones Indices และ RobecoSAM มีการประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกใน DJSI ประจำปี 2561 อย่างเป็นทางการ โดยบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกจำนวน20 บริษัท โดย บจ.ที่เข้ามาเป็นสมาชิก DJSI เป็นครั้งแรก ได้แก่ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)
ทั้งนี้ หากมองถึงภาพรวมของ บจ.ที่ติดลิสต์ DJSI จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มดัชนี DJSI World และกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets โดยในส่วนของกลุ่มดัชนี DJSI World มีจำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วย 1) บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 2) บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) 3) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)4) บมจ.ปตท. (PTT) 5) บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) 6) บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ(THBEV) 7) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 8) บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และ 9) บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN)
ขณะที่กลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets มีจำนวน 20 บริษัท ประกอบด้วย 1) บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 2) บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) 3) บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) 4) บมจ.บ้านปู (BANPU) 5) บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) 6) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 7) บมจ.ปตท. (PTT) 8) บมจ.ไทยออยล์ (TOP) 9) บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) 10) บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) 11) บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (THBEV) 12) บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) 13) บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) 14) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 15) บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) 16) บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) 17) บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO)18) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) 19) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ 20) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)
อีกทั้งยังมีการจัดอันดับผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Leaders) จำนวน 24 กลุ่ม สำหรับปีนี้มี บจ.ไทยติดอันดับผู้นำกลุ่มมากถึง 6 บริษัท แบ่งเป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Energy ประเภท Coal & Consumable Fuels ได้แก่ บมจ.บ้านปู (BANPU) ประเภท Oil & Gas Refining & Marketing ได้แก่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และประเภท Oil & Gas Upstream & Integrated ได้แก่ บมจ.ปตท. (PTT)
ส่วนผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรม Food, Beverage & Tobacco ประเภทBeverages ได้แก่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (THBEV) และประเภท Food Products ได้แก่ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ส่วนผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Telecommunication Services ประเภท Telecommunication Services ได้แก่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE)
สำหรับ “บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)” ถือว่าได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI เป็นครั้งแรก ในกลุ่มดัชนี DJSI World และกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets หมวดธุรกิจธนาคาร ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดด้านความยั่งยืน ที่คำนึงถึงการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด (The Most Admired Bank) ตามวิสัยทัศน์ของธนาคาร “อาทิตย์ นันทวิทยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB กล่าวว่า จากบริบทในการดำเนินธุรกิจของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านเทคโนโลยี สังคม สิ่งแวดล้อม และความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย SCB จึงได้เปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งใหญ่หรือที่เรียกว่า SCB Transformation ภายใต้ ยุทธศาสตร์ “กลับหัวตีลังกา” (Going Upside Down)เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของธนาคารท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของธนาคารพาณิชย์อย่างรวดเร็ว
“ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในทุก ๆ ด้าน ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการมีธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งสู่การเป็นธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด จึงนับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของเราที่ได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกใน DJSI ซึ่งตรงนี้เป็นผลจากการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในองค์กรที่ช่วยกันพัฒนาแนวทางการดำเนินงานที่คำนึงถึงผลกระทบทั้งด้านเศรษกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และร่วมกันขับเคลื่อนอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของธนาคาร”
ขณะที่ “บมจ.ปตท. (PTT)” ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI ในกลุ่มดัชนี DJSI World และกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 และยังคงสถานะการเป็นผู้นำกลุ่ม Oil & Gas Upstream & Integrated เป็นปีที่ 2 โดยในเรื่องนี้ “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าวว่า ปตท.มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความยั่งยืน 3 ด้าน (3P) อย่างสมดุล คือการทำธุรกิจควบคู่กับการดูแลชุมชนและสังคม (People) การอนุรักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planet) และเป็นฐานความมั่นคงให้แก่ภาคเศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน (Prosperity)
“ปตท.เป็นหนึ่งในกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ โดยต้องเป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจ เน้นความโปร่งใส สู่ความยั่งยืน เราพร้อมทุ่มเทเพื่อความสุขของทุกคน บนแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกด้าน พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนต่อไป”
เช่นเดียวกับ “บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)” บริษัทอาหารทะเลชั้นนำของโลก ที่มีผลิตภัณฑ์แบรนด์หลากหลายทั่วโลก ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI ในกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ทั้งยังเป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Food Products โดยได้คะแนนสูงสุดอยู่ในลำดับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 100 ในหัวข้อจรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงาน
ประเด็นที่มีนัยสำคัญ สุขภาพและโภชนาการ สิทธิมนุษยชน การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน การบริหารจัดการความเสี่ยงและภาวะวิกฤต บรรจุภัณฑ์ ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับน้ำ การใช้เทคโนโลยีด้านชีวภาพ และการสร้างแรงจูงใจและรักษาพนักงานที่มีศักยภาพสูงขององค์กร
“ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมากที่ความมุ่งมั่นเรื่องความยั่งยืนของเราได้รับการยอมรับ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในบริษัทอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของโลก ไทยยูเนี่ยนพร้อมทำหน้าที่ในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และวางแผนเรื่องความยั่งยืนให้เป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจของเรา ไทยยูเนี่ยนและแบรนด์ทุกแบรนด์ของเราทั่วโลกมีความมุ่งมั่นที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะอนาคตของเราขึ้นอยู่กับสิ่งนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเราดำเนินกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 4 ด้าน ประกอบด้วยด้านความปลอดภัยและแรงงานที่ถูกกฎหมาย ด้านการจัดหาวัตถุดิบด้วยความรับผิดชอบ ด้านการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบ และด้านเกี่ยวกับผู้คนและชุมชน โดยได้รับการออกแบบมาเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งอุตสาหกรรมอาหารทะเลโลก ทั้งหมดนี้จะตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะประเด็นการขจัดความหิวโหย การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์มหาสมุทรและการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน”
ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อเดือนสิงหาคมผ่านมา ไทยยูเนี่ยนยังได้รับคัดเลือกให้ติดอันดับในดัชนี FTSE4Good หมวดตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจัดอันดับโดยฟุตซีรัสเซล อีกด้วย
ด้าน “บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น” ที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI ในกลุ่ม Emerging Markets ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งทรูถือเป็นองค์กรธุรกิจเดียวของไทยที่ทำคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 เป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมได้ภายในเวลา 2 ปี
เนื่องจากผลงานที่พัฒนาขึ้นอย่างโดดเด่น ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินงานขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนของบริษัทอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างคุณค่าระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุก ๆ กลุ่มต่อไปอีกด้วย